รีเซต

ก.เกษตรฯ-สภาอุตฯดัน 1กลุ่มจังหวัด 1นิคมอุตสาหกรรมเกษตร เป้าไทยท็อป10โลกศูนย์กลางผลิตอาหาร

ก.เกษตรฯ-สภาอุตฯดัน 1กลุ่มจังหวัด 1นิคมอุตสาหกรรมเกษตร เป้าไทยท็อป10โลกศูนย์กลางผลิตอาหาร
มติชน
24 ตุลาคม 2564 ( 10:10 )
46
ก.เกษตรฯ-สภาอุตฯดัน 1กลุ่มจังหวัด 1นิคมอุตสาหกรรมเกษตร เป้าไทยท็อป10โลกศูนย์กลางผลิตอาหาร

‘ก.เกษตรฯ’ ร่วมกับ ‘สภาอุตฯ’ ดันโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมเกษตร ขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 4 มาตรการ ตั้งเป้าไทยติดท็อป 10 โลก ศูนย์กลางผลิตอาหาร

 

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ที่ตั้งเป้าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารท็อปเทนของโลกควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวบนฐานเกษตร 4.0 เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน โดยล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เห็นชอบกำหนด ”โครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม”

 

โดยเริ่มต้นจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารใน 18 กลุ่มจังหวัด นำไปสู่การกระจายการลงทุน เพิ่มการจ้างงานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรทั่วทุกภูมิภาคตามศักยภาพของแต่ละกลุ่ม อาทิ กลุ่มจังหวัดอีสานเหนือ จ.อุดรธานี กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน จ.อ่างทอง และในบางพื้นที่ อาจใช้การเพิ่มโซนอุตสาหกรรมเกษตรอาหารในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเดิม สามารถเริ่มจากเขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือเขตชุมชนอุตสาหกรรมเพื่อรองรับเอสเอ็มอี.เกษตร สหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน

 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับการขับเคลื่อน จะประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warrios) เป็นมาตรการสร้างผู้ประกอบอาหารรุ่นใหม่ ให้มีนวัตกรรมอาหาร โดยให้ความสําคัญกับการผลิตอาหารอนาคต (Future Food) เช่น อาหารสุขภาพ (Healthy Foods) ผลิตภัณฑ์อาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพ (Food Biotechnology Products) และอาหารใหม่ (Novel Food) 2.มาตรการสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต (Future Food Innovation)เป็นการยกระดับนวัตกรรมอาหารอนาคตสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยนําเอานวัตกรรมมาใช้ในการผลิต และ แปรรูปอาหาร และสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์ฉลาด( Intelligence Packaging )

 

3.มาตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจเกษตรและอาหาร(New Marketing Platform) ทั้งในและต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์ม (Platform) ออนไลน์ และ  4.มาตรการสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม (Enabling) ที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไทย และกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะดึงผู้ผลิตรายใหญ่เข้ามาเป็นผู้มีส่วนร่วมหลักในการพัฒนาควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาเกษตรกรเข้าสู่ระบบ Smart Farming

 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า การกําหนดพื้นที่และสินค้าเป้าหมายเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่ม สินค้า ได้แก่ สินค้าเป้าหมายภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด , สินค้าที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) , สินค้าเกษตรอินทรีย์ เครื่องดื่มสุขภาพ (Healthy drinks) , ผลิตภัณฑ์อาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพ อาหารใหม่ (Novel Food) , อาหารและวัตถุดิบเพื่อผลิตอาหารคุณภาพสูง และธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมอาหาร เช่นบรรจุภัณฑ์อาหาร และเทคโนโลยีดิจิทัล และที่สำคัญสินค้าอาหารแห่งอนาคต (Future Food) เช่น อาหารสุขภาพและอาหารฟังก์ชัน (Healthy and Functional Food) ทั้งนี้ จะนำร่องด้วย “ผำ” หรือ”ไข่ผำน้ำ” (Wolffia) ซึ่งเป็นพืชวัฒนธรรมและอาหารพื้นเมืองของไทย มีมากในภาคเหนือและภาคอิสาน ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นสุดยอดซูเปอร์ฟู้ดของโลก เพราะมีโภชนาการครบถ้วนสูงมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ทั้งวิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ โปรตีน ประกอบกับเป็นพืชน้ำทรงกลมขนาดจิ๋วจึงได้ฉายาว่า “Green Caviar”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง