รีเซต

รามาฯ คาดอีก 2-3 สัปดาห์ ไทยมีน้ำยาจำเพาะตรวจ PCR โควิดโอไมครอน

รามาฯ คาดอีก 2-3 สัปดาห์ ไทยมีน้ำยาจำเพาะตรวจ PCR โควิดโอไมครอน
มติชน
2 ธันวาคม 2564 ( 17:28 )
53
รามาฯ คาดอีก 2-3 สัปดาห์ ไทยมีน้ำยาจำเพาะตรวจ PCR โควิดโอไมครอน

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ดร.เอกวัฒน์ ผสมทรัพย์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ว่า เชื้อโอไมครอนมีการกลายพันธุ์สูง ส่วนใหญ่อยู่บนยีนที่เป็นหนามแหลม (S) เมื่อเทียบกับการตรวจด้วยอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ในปัจจุบัน แทบจะไม่มีผลกระทบเลย ยังสามารถตรวจหาเชื้อนี้ได้ เพียงแต่ยังไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นสายพันธุ์ใดเท่านั้น ดังนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบชุดตรวจจำเพาะต่อสายพันธุ์โอไมครอน โดยมีการดาวน์โหลดรหัสพันธุกรรมเชื้อดังกล่าว และใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการทำ จากนั้นได้ส่งไปที่ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อสังเคราะห์สารต่างๆ ที่นำมาตรวจ RT-PCR จำเพาะต่อเชื้อโอไมครอนต่อไป คาดว่าจะได้ผลแล้วเสร็จใน 2-3 สัปดาห์

 

“โอไมครอนอาจจะดูว่าระบาดเร็วขึ้น วัคซีนอาจจะไม่ได้ผล แต่ใครที่ฉีดวัคซีนแล้ว จะช่วยให้แทนที่จะอาการหนักก็เป็นเบาลงได้ ซึ่งคนไทยตอนนี้ถึงจะมีข่าวว่ากลัววัคซีน แต่โดยส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือฉีด และให้ความร่วมมือในการป้องกันตัวเอง โดยเฉพาะการสวมหน้ากากมากกว่าในต่างประเทศ ดังนั้น แม้ว่าอาจจะพบเชื้อโอมิครอนเข้ามา แต่การที่เราฉีดวัคซีนกันจำนวนมาก จะช่วยลดไม่ให้อาการรุนแรงได้ จึงขอให้ช่วยกันฉีดวัคซีน ส่วนการตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ ไม่เกินสิ้นเดือนนี้จะมีชุดตรวจจำเพาะแล้ว เพื่อให้สบายใจได้” ดร.เอกวัฒน์ กล่าว

 

ดร.เอกวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจแอนติเจน ก็ยังสามารถตรวจเจอได้ เช่น ในต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่นได้มีการผลิต และใช้เครื่องตรวจหาเชื้อโควิดจากน้ำลาย Lumipulse G1200 ในสนามบิน เพื่อตรวจคนเดินทางเข้าประเทศ และสามารถตรวจจับได้ โดยใช้สารฟลูออเรสเซ้นส์ในการตรวจ ทำให้มีความไวสูง เมื่อตรวจเจอผลบวกแล้ว ก็นำไปตรวจยืนยันผลด้วย RT-PCR

 

 

“การตรวจ ถ้าเทียบการตรวจเชื้อจากน้ำลายและการแยงจมูกนั้น แน่นอนว่าเชื้อที่จมูกมากกว่า แต่ก็มากกว่ากันไม่มาก แต่น้ำลายสะดวกเก็บตัวอย่างง่ายด้วยตัวเอง ตรวจได้จำนวนมาก ใช้เวลาไม่นาน เพียง 30-40 นาที โดยหลักการดังกล่าว จึงสามารถนำมาสกรีนคนกลุ่มใหญ่ได้ เช่น นักเรียน นักศึกษา โรงงาน และสนามบิน ซึ่งเหมาะมากคนเดินทางเข้า-ออก จำนวนมาก” ดร.เอกวัฒน์ กล่าว

 

ดร.เอกวัฒน์ กล่าวว่า วิธีการหากมีเครื่องนี้ตั้งอยู่ สมมติว่า 5 เครื่อง 1 เครื่องตรวจได้ ประมาณ 200 ตัวอย่าง พอคนลงเครื่องมาก็มีการเก็บตัวอย่าง ใช้เวลา 30 นาที ระหว่างการรอโหลดกระเป๋าก็ได้ ไม่ต้องรอรถรับส่งโรงแรม เพื่อไปรอตรวจ RT-PCR คิดว่าน่าจะสะดวก อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าตอนนี้ต้องเฝ้าระวังเข้มข้น กังวลว่าเชื้อจะหลุดข้ามา จึงต้องใช้การตรวจ RT-PCR

 

“ปัจจุบัน รพ.รามาธิบดี และสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ได้มีการนำเครื่องนี้มาใช้เพื่อคัดกรองผู้ป่วย และญาติที่ไปโรงพยาบาล (รพ.) และตรวจในกลุ่มบุคลากร เจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยง วันเว้นวัน ผลการตรวจพบว่า กรณีที่มีการกำกวมเหมือนจะเป็นผลบวก ทาง รพ.ก็ได้ส่งตรวจด้วย RT-PCR ซ้ำ พบว่าเป็นผลลบ กรณีนี้เรียกว่า ผลบวกลวง ซึ่งถือว่าไม่น่ากังวล เพราะการบวกปลอมทำให้เราได้ระมัดระวังมากขึ้น โดยพบอยู่ที่ร้อยละ 2 แต่สิ่งที่กลัวมากกว่าคือ การให้ผลลบปลอม แต่จากการใช้เครื่องตรวจน้ำลายดังกล่าว ยังไม่พบว่ามีการให้ผลลบปลอมแต่อย่างใด” ดร.เอกวัฒน์ กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ชุดตรวจน้ำลายด้วยเครื่องนี้ แตกต่างจาก ATK อย่างไร ดร.เอกวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากเก็บตัวอย่างสะดวกแล้ว เนื่องจากเป็นเครื่องอัตโนมัติ จึงสามารถอ่านผลและส่งรายงานผลเข้าโทรศัพท์มือถือได้ ที่สำคัญคือ ATK แยงจมูกนั้น ต้องผ่านการประเมินจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่ในช่วงที่ทำการประเมินกับตัวอย่างเชื้อเสมือนจริง แต่จากการใช้งานจริงในภาคสนามนั้น ATK จะมีทั้งบวกปลอม และลบปลอม สูงมาก จากปัญหาการเก็บตัว เช่น กรณีถ้าเป็นน้ำมูก จะเจอบวกปลอมร้อยละ 5 ส่วนลบปลอมเจอได้จากการที่เก็บตัวอย่างเชื้อไม่ดี หรือเก็บชุดตรวจ ATK ไม่ดี นอกจากนี้ ATK ยังมีความไวน้อยกว่า

 

“เครื่องตรวจน้ำลายจะให้ผลบวกปลอมน้อยกว่า เพราะเมื่อบ้วนน้ำลายดีๆ ในขณะที่ยังไม่ได้กินข้าว เคี้ยวหมาก มาก่อน จะไม่มีปัญหา นอกจากนี้ การตรวจจะต้องนำน้ำลายมาปั่นแยกชั้น มีกระบวนการมากขึ้น ทำให้ตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น ตรวจแล้วมี ก็คือมี ไม่มี ก็คือไม่มี จะตอบได้ชัดกว่าการแยงจมูก เพราะการแยงจมูกไม่ถูกต้อง ก็ไม่เจอจุดที่มีเชื้อ หรือหากเก็บได้อะไรมาก็ตรวจไม่เจอ” ดร.เอกวัฒน์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง