ฉันได้เข้าร่วมอบรมการเขียนบทวิจารณ์วรรณกรรมร่วมสมัย "ดวงใจวิจารณ์" จัดโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกับเพจดวงใจวิจารณ์ เมื่อวันที่ 18-19 มกราคม 2563 ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนินเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ฉันเห็นว่าความรู้ที่ฉันได้รับจากการอบรมครั้งนี้น่าสนใจดีเลยอยากจะแบ่งปันกับคนอยากเขียนวิจารณ์การอบรมเป็นเชิงปฏิบัติการจริงๆ ถึงจะมีฟังบรรยายสัมมนาแต่ก็แค่ช่วงเช้า ช่วงบ่ายเราต้องเข้ากลุ่มเรียนเชิงอภิปรายและไปทำงานมาส่ง เราเลือกเข้ากลุ่มกับคุณจรูญพร ปรปักษ์ประลัย เพราะคุณจรูญพรเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์และเป็นเบื้องหลังในวงการภาพยนตร์ด้วย เราจะได้มุมมองที่กว้างกว่าการวิจารณ์หนังสือเพียงอย่างเดียววิทยากรทุกคนได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการวิจารณ์ว่า จริงๆ การวิจารณ์เหมือนๆ กัน ภาพยนตร์ หนังสือ เพลง งานศิลปะ มีวิธีการเหมือนกันและใช้ทฤษฎีหรือแว่นที่จะส่องมันเหมือนกันแหละ แต่มันต่างกันที่เราต้องไปดูที่ลักษณะพิเศษของงานนั้น ๆ หนังสือ ภาพยนตร์ เพลง งานศิลปะมีสิ่งที่ยึดโยงร่วมกันคือการเล่าเรื่อง แต่สิ่งที่ต่างกันคือ หนังสือมีการบรรยายให้จินตนาการ ภาพยนตร์ต้องทำให้เป็นการกระทำ แต่มีภาพและเสียงที่หนังสือแสดงไม่ได้ ฉะนั้นคนที่วิจารณ์ภาพยนตร์จะต้องวิจารณ์ซาวด์เอฟเฟ็กต์และมุมกล้องด้วย เพลงมีคำร้องแล้วก็มีทำนอง มีตัวโน้ต มีเครื่องดนตรี นักวิจารณ์ก็ต้องฟังให้แตกว่าแนวเพลงอะไร ใช้เครื่องดนตรีอะไรบ้าง งานศิลปะพวกทัศนศิลป์ก็เหมือนกันมันก็มีทฤษฎีศิลปะเพื่อใช้วิจารณ์โดยเฉพาะนอกจากวิจารณ์ตามประเภทของสื่อที่แสดงออกแล้ว ยังต้องลงลึกในหน่วยย่อยๆ ที่ซอยลงไปอีก เช่น ภาพยนตร์มีแนวรัก แนวตลก แนวบู๊ แนวดราม่า แนวโศกนาฏกรรม แนวฟิล์มนัวร์ งานทัศนศิลป์เองก็มีหลายประเภท เวลาเราวิจารณ์ศิลปะสองมิติ เราก็ต้องมีวิธีวิจารณ์ที่ต่างจากสามมิติ จริงๆ การวิจารณ์นั้นเชื่อมโยงกับประสาทสัมผัสของเรานั่นแหละ ถ้ามีสัมผัสเพิ่มเข้ามาก็ต้องวิจารณ์ แต่บางงานมีข้อจำกัด เช่น หนังสือทำให้เกิดจินตนาการ การรับรู้ในสมอง แต่ไม่มีสัมผัสทางการเห็นและการได้ยิน ภาพยนตร์ให้สัมผัสทางการเห็นและการได้ยินเพิ่มเข้ามา แต่ปิดจินตนาการเรา เป็นจินตนาการของผู้สร้างให้ทุกคนรับรู้ภาพเดียวกันการแบ่งกลุ่มเล็กๆ ได้เปิดโอกาสให้เราลองตีความ การตีความสัญลักษณ์ฉันยังทำได้ไม่เก่ง แต่ฉันคิดว่าถ้าฉันลับฝีมือด้วยการอ่านบ่อย ๆ ไม่อ่านผ่าน ๆ อ่านไปคิดไป ทักษะการตีความของฉันก็จะแหลมคมขึ้น ถึงแม้การตีความจะถูกบังคับด้วยกรอบทฤษฎีวิชาการ แต่ไม่ถึงกับล็อคตายตัวจนไม่เป็นอิสระ ฉันได้รับคำชมว่าตีความด้วยความคิดนอกกรอบแต่ไม่นอกจักรวาล เรียกได้ว่าฉันประสบความสำเร็จในการใช้สหบท สหบทคือบทที่อยู่ในสังคม รอบ ๆ ตัวเรา เพราะผู้เขียนก็เป็นผลผลิตของสังคม อยู่ในสังคมไทยที่เศรษฐกิจ การเมือง สังคมเป็นแบบเดียวกับผู้อ่านเรามีการบ้านให้เลือกวิจารณ์เรื่องสั้นกับบทกวีแล้วต้องมาส่งเช้าวันรุ่งขึ้น เรียกว่าโหดมาก กว่าเราจะอบรมเสร็จก็ห้าโมง ก็ต้องปั่นงานตอนกลางคืนอย่างเดียว พี่บางคนทุ่มเทมากทำทั้งคืน นอนเช้าก็มี วิทยากรที่มาให้ความรู้ประจำกลุ่มนั้นใช้คำว่าแนะนำให้ทำการบ้าน แต่ไม่บังคับให้ต้องส่งการบ้านเลย เพราะการวิจารณ์คือการเปิดอิสระให้แสดงความคิดเห็น คือประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นใครไม่อยากทำการบ้านก็ไม่เป็นไร แต่ฉันใช้สิทธิเลือกที่จะทำการบ้านเพราะการบ้านสนุก ยิ่งทำยิ่งมันส์ จะมีใครสักกี่คนที่มาตรวจงานให้เรา พร้อมคอมเมนต์งานให้เราด้วยสิ่งที่นักวิจารณ์ทุกคนตระหนักและย้ำหนักย้ำหนากับเราก็คือ นักวิจารณ์อย่ามีอีโก้ ถ้าเราวิจารณ์คนอื่นได้ คนอื่นก็ต้องวิจารณ์เราได้เหมือนกัน เป็นไปได้ที่นักอ่านหรือนักเขียนจะไม่เห็นด้วยกับเรา เราก็ต้องยอมรับเหตุผลของเขา แต่ในขณะเดียวกันนักวิจารณ์ก็ต้อง strong ในจุดยืนของตน สามารถแสดงเหตุผลว่าทำไมถึงคิดเช่นนี้ การแสดงจุดยืนของนักวิจารณ์ทำให้นักวิจารณ์นั้นมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการเห็นต่างเป็นสิ่งที่ดี เราไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนคนอื่น ทะเลาะกันหน้าดำหน้าแดงหาข้อยุติ เพราะยังไงก็หาข้อยุติไม่ได้ ถ้าทุกคนไม่ทะเลาะกันประนีประนอม เอาความคิดของเธอ ความคิดของฉันมาแชร์กันได้ เราจะได้ความครบถ้วน เข้าใกล้ความสมบูรณ์แบบคือความรอบด้าน เพราะนักวิจารณ์ทุกคนต่อให้เก่งเทพมาจากไหนให้ตายก็มองไม่ครบ นักวิจารณ์ทุกคนคือคนตาบอดคลำช้าง เราต้องฟังทุก ๆ คน ใครคลำได้ส่วนไหนก็มารวมกัน แต่ยังไงก็แล้วแต่วิจารณญาณของเราก็ต้องฝึกปรือ ถ้านักวิจารณ์มั่วทุกคน บอกผิดหมด อย่างที่บอกนักวิจารณ์คือคนตาบอด เราทุกคนจึงต้องฝึกสกิลการวิจารณ์ถึงจะไม่เป็นนักวิจารณ์และสร้างภาพช้างของเราขึ้นมา นักวิจารณ์อาจจะเป็นผู้ขึ้นโครงให้ แต่ถ้าไม่มีผู้ขึ้นโครง เราก็ต้องขึ้นโครงได้ด้วยตนเองนอกจากนี้สิ่งที่คนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดก็คืองานวิจารณ์ทำเพื่อให้ผู้เสพตัดสินใจว่าจะยอมเสียเวลาอ่านหรือชมงานชิ้นนั้นหรือไม่ ถูกครึ่งเดียว เพราะงานวิจารณ์มีเพื่อผู้สร้างด้วย ไม่ว่าผู้สร้างจะต้องการหรือไม่ก็ตามที เป็นธรรมชาติที่จะต้องมีเสียงสะท้อนจากนักวิจารณ์ที่เป็นตัวแทนผู้เสพคนหนึ่ง เหมือนเป็นการสร้างสมดุล คานอำนาจระหว่างผู้สร้างกับผู้เสพ นักวิจารณ์คือคนกลาง นักวิจารณ์ไม่ได้อวยผู้สร้างหรือเอาใจผู้เสพ นักวิจารณ์ที่ดีจะต้องเป็นกลางและสร้างสมดุล แต่ก็หลีกเลี่ยงความชอบ รสนิยมส่วนตัวไม่ได้หรอก นักวิจารณ์ก็เป็นคนเหมือนกันนี่นา นักวิจารณ์มีหน้าที่เสนอแนะผู้สร้าง แต่ไม่ได้ตัดสินผิดชอบชั่วดี ผู้สร้างไม่เห็นด้วยก็ได้ นักวิจารณ์ไม่ได้วางตัวเหนือกว่าผู้สร้าง เพราะไม่ได้วิจารณ์ตัวผู้สร้าง แต่วิจารณ์งานของเขาที่ออกสู่สายตาประชาชี เพราะฉะนั้นนักวิจารณ์ต้องไม่กลัวที่จะหาข้อบกพร่องของงานชั้นครู แต่ไม่ใช่โจมตีแบบเด็กๆ แบบให้คะแนนติดลบหนึ่งพัน นักวิจารณ์ต้องมีเมตตา ต้องให้เกียรติคนที่เราวิจารณ์ ให้เขาได้มีที่ยืนในสังคม หน้าที่ของนักวิจารณ์ต่อผู้เสพที่สำคัญก็คือชี้ให้เห็นประเด็นที่ผู้รับสารอาจจะรับได้ไม่ครบถ้วนเพราะขาดประสบการณ์และความรู้ ทำให้ผู้เสพเห็นคุณค่าของหนังหรือหนังสือที่ดีแต่ไม่ดัง คนที่มาอ่านงานวิจารณ์ก็จะตามไปอ่าน ไปดู ทำให้งานนั้นๆ ให้ประโยชน์กับคนจำนวนเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่านักวิจารณ์มีพันธกิจที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านักเขียนคือเป็นผู้นำทางปัญญา สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเห็นความสำคัญของการวิจารณ์เพราะประเทศที่มีการวิจารณ์มาก ประเทศนั้นเป็นประเทศที่มีความเจริญ เพราะประชากรฉลาด ได้รับการศึกษา และกล้าแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ตอนนี้สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยจัดการแข่งขันประกวดบทวิจารณ์วรรณกรรมไทยที่เขียนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ (พ.ศ. 2559-2563) ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่ คลิก เครดิตภาพปกจาก pixabayเครดิตภาพถ่ายประกอบบทความ : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และผู้จัดการอบรม : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ร่วมกับเพจดวงใจวิจารณ์