COVID-19 นอกจากจะทำให้งานต่าง ๆ เช่นงานคอนเสิร์ต งานจับมือ และงานอื่น ๆ อีกมากมาย เลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดแล้ว วงการเกมก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน ผู้อ่านหลายท่านอาจจะสงสัยว่าวงการเกมได้รับผลกระทบอย่างไร? เกมก็แค่ซื้อเกมมาเล่นบนเครื่องเกมนี่ แล้วมันเกี่ยวอะไรกับ COVID-19 ด้วย? มันเป็นผลกระทบทางอ้อมที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวแต่ก็เกี่ยวอย่างเลี่ยงไม่ได้ครับ จะมีประเด็นไหนกันบ้างเรามาดูกันครับ ประเด็นแรกเลยคือการพัฒนาเกมเกิดความล่าช้ากว่ากำหนดการเดิม เนื่องจากนโยบายของบริษัทเกมบางแห่งที่กำหนดให้พนักงานทำงานที่บ้านแทนเดินทางมาทำงานที่บริษัทเพื่อลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ COVID-19 แน่นอนว่าการทำงานที่บ้านย่อมทำให้การติดต่อสื่อสารหรือการประชุมงานกันทำได้ยากกว่าปกติ ซ้ำร้ายงานบางอย่างอาจไม่สามารถทำได้เลยเพราะต้องใช้อุปกรณ์ของบริษัท ส่งผลให้การพัฒนาเกมล่าช้าจนต้องเลื่อนกำหนดเปิดให้บริการออกไป ซึ่งโดยส่วนตัวผมเห็นด้วยกับนโยบายการให้ทีมพัฒนาทำงาน เพราะลองคิดดูครับว่าถ้ายังฝืนออกมาทำงานในสถานการณ์ที่มีการระบาดอยู่ แล้วอยู่ดี ๆ มีทีมพัฒนาติดเชื้อขึ้นมา นอกจากทีมงานคนนั้นจะทำงานไม่ได้จนกว่าจะหายแล้ว เพื่อนร่วมงานจะต้องกักตัว 14 วัน แถมยังต้องปิดบริษัททำความสะอาดอีก บอกเลยวุ่นวายมากกว่าและอาจส่งผลให้การพัฒนาล่าช้าหนักกว่าเดิมอีกด้วย ยกตัวอย่างเกมที่เข้าข่ายประเด็นนี้คือเกม Blue Protocol ที่เลื่อนวันทดสอบ Close Beta ออกไปก่อนจากกำหนดการเดิมครับ แหล่งอ้างอิงรูปภาพประกอบบทความ : ภาพ โดย Free-Photos จาก Pixabay ประเด็นที่สองคืองานแข่งขันเกมต่าง ๆ ถูกยกเลิก เพราะงานแข่งเกมต่าง ๆ นั้นมักจะจัดในสถานที่ปิด และมีคนจำนวนมากมาอยู่ในพื้นที่เดียวกันเพื่อเชียร์ทีมที่ตัวเองรัก แน่นอนว่าในพื้นที่ย่อมต้องเกิดความแออัดและอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้ง่าย ส่งผลให้การแข่งขันนอกสถานที่ของเกมต่าง ๆ ต้องยกเลิกและเปลี่ยนไปถ่ายทอดสดการแข่งขันแบบปิดแทน ดูผิวเผินอาจจะดูไม่กระทบมากใช่ไหมครับ? เพราะยังมีแข่งตามปกติ แต่อย่าลืมนะครับว่างานเกมที่จัดขึ้นแต่ละครั้งจะมีการขายสินค้าต่าง ๆ และมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่แจกของในเกมให้กับผู้เล่นด้วย!! นั่นหมายความว่าผู้ให้บริการจะเสียรายได้จากสินค้าและผู้เล่นก็จะสูญเสียความสนุกที่ควรได้จากการแข่งขันนัดสำคัญไปเต็ม ๆ ยกตัวอย่างกรณีที่เข้าข่ายประเด็นนี้คืองาน Garena World 2020 งานเกมสุดยิ่งใหญ่ที่ถูกยกเลิกไป และจะมีการถ่ายทอดสดการแข่งขันทางออนไลน์แทน แหล่งอ้างอิงรูปภาพประกอบบทความ : "Esports" by a.canvas.of.light is licensed under CC BY 2.0 ประเด็นที่สามคือบริษัทผู้พัฒนาเกมเลือกที่จะไม่เข้าร่วมงานเกมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่คนของบริษัทตนเองจะติดเชื้อ ส่งผลให้เกมเมอร์ทั่วโลกจะไม่ได้เห็นภาพเกมใหม่ ๆ หรือความก้าวหน้าในการพัฒนาเกมต่าง ๆ ที่ผู้พัฒนาเตรียมมานำเสนอ ผู้อ่านอาจจะมองว่ามันก็แค่งานแสดงเกมนี่นะ สุดท้ายเกมก็ต้องออกมาวางขายอยู่ดีรึเปล่า? ความจริงแล้วสิ่งที่ผู้พัฒนาต้องการจากการนำภาพมาแสดงในงานเกมนี้คือการสร้างความประทับใจแรกพบ ซึ่งจะทำซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกมเมอร์รู้สึกอยากเล่นเกมของพวกเขาและตัดสินใจซื้อได้มากขึ้น นอกจากนี้สื่อชั้นนำต่าง ๆ ทั่วโลกล้วนจับตามองและรายงานข่าวจากงานเกมเหล่านี้อยู่ นั่นหมายความว่าถ้าผู้พัฒนาได้เปิดตัวภาพเกมใหม่ ๆ ในงานนี้ ก็จะได้พื้นที่สื่อในการประชาสัมพันธ์เกมไปแบบเต็ม ๆ ดังนั้นงานเกมเหล่านี้จึงสำคัญมากในแง่มุมของผู้พัฒนา ยกตัวอย่างกรณีที่เข้าข่ายประเด็นนี้คืองาน PAX EAST 2020 ที่ตอนนี้มีค่ายเกมชั้นนำต่างประกาศถอนตัวไม่เข้าร่วมงานแล้วหลายราย ยกตัวอย่างเช่น Square Enix และ Capcom เป็นต้นครับ แหล่งอ้างอิงรูปภาพประกอบบทความ : "PAX 2010" by Chase N. is licensed under CC BY-SA 2.0 ยังมีประเด็นอื่น ๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็นการผลิตและขนส่งฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ที่ล่าช้ากว่าปกติมาก เพราะนอกจากกำลังการผลิตที่ลดลงแล้ว ฮาร์ดแวร์ที่ขนส่งมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงจะต้องกักเอาไว้ก่อนเพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจายไม่ต่างจากคน หรือจะเป็นอัตราการเติมเงินของเกมเมอร์ที่ลดลงเนื่องจาก COVID-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ ทำให้กำลังทรัพย์ของเกมเมอร์แต่ละคนลดลง หรือเกมเมอร์เลือกที่จะเก็บเงินเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉินก่อน ถึงแม้ว่า COVID-19 จะไม่ส่งกระทบต่อวงการเกมโดยตรงแบบเห็นได้ชัดเจนเหมือนที่ทำให้คนเราเป็นโรค แต่ก็สร้างความเสียหายมหาศาลให้กับวงการเกมไม่น้อยเลยล่ะครับ ก็ขอจบบทความนี้เอาไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอตัวลาไปก่อนแล้ว สวัสดีครับ Facebook Fanpage ของผู้เขียนบทความ : https://www.facebook.com/PDEsterTheCreator/ แหล่งอ้างอิงรูปภาพปกบทความ : ภาพ โดย TPHeinz จาก Pixabay