รีเซต

เปิดข้อเสนอ‘สถานบันเทิง-ร้านค้า’ ขับเคลื่อนฟื้น‘ท่องเที่ยว-เศรษฐกิจ’

เปิดข้อเสนอ‘สถานบันเทิง-ร้านค้า’ ขับเคลื่อนฟื้น‘ท่องเที่ยว-เศรษฐกิจ’
มติชน
8 พฤษภาคม 2565 ( 12:17 )
76
เปิดข้อเสนอ‘สถานบันเทิง-ร้านค้า’ ขับเคลื่อนฟื้น‘ท่องเที่ยว-เศรษฐกิจ’

ข่าววันนี้ กลุ่มผู้ประกอบการสถานบริการ สถานบันเทิง ร้านค้า ร้านอาหาร และธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ อาทิ กลุ่มผู้ประกอบการสถานบริการ สถานบันเทิง ร้านค้า ร้านอาหาร และธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ อาทิ สมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร สมาคมอุตสาหกรรมบันเทิงและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร สมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร กลุ่มผู้ประกอบการสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ สมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหารกลางคืน สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย และสมาคมบาร์เทนเดอร์ไทย รวมกันกว่า 10 สมาคม ใคร่ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ต่อการบูรณาการ การแก้ไขวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นผลให้สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น กอปรกับรัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ภาคธุรกิจ และลูกจ้าง รวมถึงผ่อนคลายมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวคิดการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 สอดคล้องกับเป้าหมายการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565

 

จากการปลดล็อกมาตรการและข้อจำกัดการเดินทางเข้าราชอาณาจักรมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ เหลือเพียงพื้นที่เฝ้าระวังสูงและพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว และการขยายเวลาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารจนถึง 24.00 น. ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 นั้น ถือเป็นการดำเนินการสำคัญของรัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ในการประกาศความพร้อมของประเทศไทยต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ส่งเสริมบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อภาคการ


ท่องเที่ยวและบริการ ช่วยเพิ่มความมั่นใจ และจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการบริโภคและการเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยของทั้งนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคภายในประเทศ เพิ่มความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจและต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีภาคการท่องเที่ยว ร้านอาหารและเครื่องดื่ม การบันเทิงหย่อนใจ และการบริการเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ทั้งนี้ ภาคธุรกิจดังกล่าวสร้างรายได้รวมให้กับประเทศเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในช่วงก่อนวิกฤตโควิด และมีการจ้างงานรวมเกินกว่าล้านตำแหน่งงานทั่วประเทศ

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ต่อเนื่องยาวนานกว่า 25 เดือน ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ประกอบด้วย โรงแรมที่พัก ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านค้าและสถานประกอบการในแหล่งท่องเที่ยว สถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ เป็นต้น จากการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของรัฐอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการปิดกิจการ จำกัดการเดินทาง จำกัด เวลาและรูปแบบกิจการกิจกรรม และจำกัดจำนวนคน ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำนวนมากต้องปิดกิจการอย่างถาวร เนื่องจากขาดรายได้และขาดสภาพคล่อง สร้างความเดือดร้อนแก่แรงงานและครอบครัวเนื่องจากสูญเสียรายได้และขาดสวัสดิการ ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ ซึ่งออกภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยเฉพาะมาตรการควบคุมการโฆษณา มาตรการควบคุมการขาย (วันและเวลาขาย การดื่มและขายในสถานที่สาธารณะ วิธีการขาย รวมถึงการขายออนไลน์) อย่างเกินจำเป็นและไม่เป็นธรรม เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีลักษณะคลุมเครือไม่ชัดเจน ส่งผลให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ต้องใช้ดุลยพินิจในการบังคับใช้กฎหมาย อีกทั้งบทบัญญัติของกฎหมายไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพของประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจ

 

ดังนั้น กลุ่มผู้ประกอบการขอเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาข้อเสนอเพื่อการฟื้นฟูและบูรณาการการพัฒนาการท่องเที่ยวครบวงจร ปลอดภัย และยั่งยืน ส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของการท่องเที่ยวไทยในระดับภูมิภาค ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

 

1.ยืนยันการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 พร้อมเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ โดยพิจารณายกเลิกมาตรการลงทะเบียนใน Thailand Pass สำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยในทุกช่องทาง รวมถึงประชาสัมพันธ์เป็นการล่วงหน้าก่อนการเปิดประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่น และจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและกลุ่มไมซ์ กลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง

 

2.เตรียมความพร้อมการเปิดประเทศ โดยบูรณาการการใช้กฎหมายปกติอย่างมีประสิทธิภาพ แทนการบังคับใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทั้งนี้ ภายหลังสิ้นสุดการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคราวที่ 17 หรือตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป

 

3.อนุญาตให้เปิดกิจการสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ได้รับรองมาตรฐาน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2 Plus และผ่านการตรวจประเมินโดยคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยการดำเนินกิจการกิจกรรมให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 เป็นต้น ทั้งนี้ การเปิดกิจการแบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้

 

3.1 ระยะทดลอง ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เฉพาะในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว 26 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดที่มีการดำเนินการในบางพื้นที่ 14 จังหวัด และจังหวัดที่มีการดำเนินการครอบคลุมทุกพื้นที่ 12 จังหวัด

 

3.2 เปิดดำเนินการทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

 

4.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการอนุญาตตามข้อ 3 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อติดตาม และกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรการปลอดภัย สำหรับองค์กร (Covid Free Setting) สำหรับกิจกรรมประเภทสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ

 

5.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยความร่วมมือกับผู้ประกอบการและองค์กรภาค ประชาชนในแต่ละจังหวัด บูรณาการการรณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้ และปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขและป้องกันโรคอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการการ์ดตก

 

6.พิจารณาทบทวนและปรับปรุงมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คลุมเครือไม่ชัดเจน ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และสร้างภาระเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจอย่างเกินพอดี ตามข้อเสนอแนะของสำนักงาน ป.ย.ป. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนี้

 

6.1 พิจารณายกเลิกการกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างเวลา 14.00-17.00 น. ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2558 เนื่องจากการควบคุมเวลา ไม่สามารถบรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องการควบคุมการบริโภคอย่างเป็นอันตราย และการป้องกันปัญหาสังคมและอุบัติเหตุได้จริง อีกทั้งไม่ได้สัดส่วนกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะต่อภาคการท่องเที่ยวและบริการ เช่น โรงแรมที่พัก ร้านค้า ร้านอาหาร ซึ่งเสียโอกาสในการหารายได้จากการขายสินค้าและบริการ อีกทั้งทำลายบรรยากาศและภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวและลูกค้าที่ต้องการใช้บริการ

 

6.2 กำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยามค่ำคืน โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นซอฟต์เพาเวอร์ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการดื่มกิน สังสรรค์ และความบันเทิงยามค่ำคืนโดยเฉพาะ ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวมีเป็นจำนวนมากและเป็นผู้มีอำนาจซื้อสูง และเพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวที่ครบวงจรและปลอดภัยในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยกำหนดเวลาการจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการเฉพาะ เพื่อตอบสนองความคาดหวังของนักท่องเที่ยว เช่น ตั้งแต่เวลา 11.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เป็นต้น พร้อมกำหนดมาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัยเชิงรุก เช่น มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำ กำหนดจุดเข้าออกที่ชัดเจน จัดให้มีรถรับส่งเพื่อป้องกันปัญหาอุบัติเหตุจราจรจากการดื่มแล้วขับ ทั้งนี้ แหล่งท่องเที่ยวยามค่ำคืนที่มีศักยภาพสูงและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว เหมาะสมต่อการพัฒนาให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยามค่ำคืน อาทิ ถนนข้าวสาร ซอยคาวบอย และถนนพัฒน์พงศ์ กรุงเทพมหานคร วอล์กกิ้งสตรีทพัทยา ซอยบางลา จังหวัดภูเก็ต หาดริ้น เกาะพะงัน หาดเฉวง เกาะสมุย และถนนนิมมาน เหมินทร์ จังหวัดเชียงใหม่

 

6.3 พิจารณายกเลิกการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา หรือหอพักบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2558 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา พ.ศ.2558


เนื่องด้วยมาตรการห้ามขายสุราในเชิงพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเหมารวมโดยมิได้มีการแยกแยะระหว่าง


ผู้ที่สามารถดื่มสุราได้และผู้ที่ไม่ควรดื่มสุรา และไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะควบคุมการดื่มอย่างเป็นอันตรายและผลกระทบต่างๆ เช่น อุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ ในขณะที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพโดยตรง โดยเฉพาะต่อโรงแรมที่พัก ร้านค้าปลีก ร้านอาหารและเครื่องดื่ม สร้างความไม่สะดวกให้แก่ผู้ที่อาศัย


อยู่ในบริเวณสถานศึกษาที่มิใช่นักศึกษา ทั้งนี้ ควรบังคับใช้กฎหมายห้ามบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งมีอยู่แล้วอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมการดื่มสุราในกลุ่มเด็กและเยาวชน

 

6.4 พิจารณาปรับปรุงมาตรการจำกัดการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความชัดเจน เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการจำกัดการโฆษณากับการประกอบธุรกิจ และเพื่อให้มาตรการที่กำหนดด้านสาธารณสุข สามารถขับเคลื่อนควบคู่ไปกับการสนับสนุนการท่องเที่ยวและการเติบโตของผู้ประกอบการ โดยที่วัตถุประสงค์ของการจำกัดการโฆษณาเป็นไปเพื่อมิให้มีการโฆษณาเกินความจริงหรือเพื่อชักจูงใจให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากยิ่งขึ้น หรือชักจูงใจเยาวชน ดังนั้น การแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า การแสดงภาพและเครื่องหมาย พึงสามารถกระทำได้ ณ สถานที่ขาย เช่น ในบริเวณร้านค้า ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ในรายการอาหาร สถานบริการ ผับ บาร์ เป็นต้น เพื่อให้ข้อมูลในการตัดสินใจซื้อหรือบริโภคต่อลูกค้าและนักท่องเที่ยวอย่างพอเพียง

 

7.ส่งเสริมบทบาทของผู้ประกอบการ รวมถึงบูรณาการด้านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และผู้ประกอบการ ในการขับเคลื่อนการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และความยั่งยืน ผ่านกระบวนการพัฒนาบุคลากร รวมถึงการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เช่น การสร้างจิตสำนึกการให้บริการอย่างรับผิดชอบ พัฒนาทักษะการบริการและการสื่อสาร ความเข้าใจ และเคารพในวัฒนธรรมและความเชื่อที่แตกต่าง การให้ความรู้เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการดื่มอย่างพอประมาณ รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ต่อผลกระทบจากการดื่มอย่างเป็นอันตราย โดยที่ความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักรู้ และความร่วมมือ ถือเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคม ความยั่งยืน และความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ซึ่งมีประสิทธิผลมากกว่าการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งถือเป็นการดำเนินการในปลายเหตุ และส่งผลต่อบรรยากาศและภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวโดยรวม

 

กลุ่มผู้ประกอบการสถานบริการ สถานบันเทิง ร้านค้า ร้านอาหาร และธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ มีความประสงค์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนและฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ และพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางความปลอดภัยด้านสาธารณสุขและสังคม ควบคู่ไปกับด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่างสมดุลและยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง