"ไทย" 1 ใน 4 ปท.จัดการ "โควิด-19" ได้ดี โฆษก ศบค.เผยจ่อทบทวนเปิด 91 จุดข้ามแดน
“ไทย” 1 ใน 4 ปท.จัดการ “โควิด-19” ได้ดี โฆษก ศบค.เผยจ่อทบทวนเปิด 91 จุดข้ามแดน
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) กล่าวระหว่างแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ต้องขอขอบคุณองค์การอนามัยโลก( WHO) เลือกประเทศไทยเป็น 1 ใน 2 ประเทศที่จะนำมาทำสารคดี โดยอีกประเทศหนึ่งคือนิวซีแลนด์ ซึ่งจะเผยแพร่ไปทั่วโลก คนต่างชาติชื่นชมประเทศไทย และต้องชื่นชมคนไทยที่ให้ความร่วมมือจนถึงทุกวันนี้ที่ให้ความสามัคคีกัน นอกจากนี้สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ให้ประเทศไทยเป็นอันดับ 4 ในการจัดการโควิด-19 ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนา 75 ประเทศ โดย 4 ประเทศนี้ ได้แก่ ไต้หวัน บอสวานา เกาหลีใต้ ไทย และจีน อยู่ลำดับที่ 5 โดยวัดจากอัตราการเสียชีวิตเทียบกับการดำเนินกิจกรรมของประชาชนจากช่วงก่อนโควิด-19 รวมถึงการดำเนินนโยบายของรัฐในการลดความเสียหาย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นได้ตั้งกฎเกี่ยวกับสถานบันเทิงและบาร์ เนื่องจากเป็น 1 ในสถานที่ที่มีการระบาด โดยเฉพาะอายุ 20-30 ปี กฎคือ ไม่มีการจูบ หรือถ้าจะจูบต้องจูบกับแฟนของตนเองเท่านั้น พร้อมทั้งเลี่ยงการจูบแบบลึกซึ้ง ด้วยรัฐบาลจะตรวจสถานบันเทิงอย่างเข้มงวดขึ้น แต่ในประเทศไทยจะต้องขอบคุณที่ยังไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับสถานบันเทิง และขอให้ทำได้ดีเช่นนี้ต่อไป หากไม่เกิดระบาดในกลุ่มนี้เลยจะเป็นตัวอย่างของโลกได้
“ในระยะนี้พื้นที่ของประเทศไทย ไม่มีรายงานการติดเชื้อของคนไทยในประเทศ มีการพูดคุยกันว่าตอนนี้เป็นสีเขียว จะเขียวนานเท่าไร เดี๋ยวมีติดเชื้อนิดหน่อยเป็นเหลือง ส้ม แดงขึ้นมา จะมีมาตรการใด ของต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ก็จะมีระยะที่ 1 ระยะที่ 2 มีการติดเชื้อหลักร้อยคน ตอนนี้ทางทีมการสื่อสารได้รับชุดข้อมูลนี้มา แบ่งการสื่อสารระหว่างเรากับประชาชนให้ตรงกัน ต้องสื่อสารให้ตรงกับความคาดหมาย แต่ความเสี่ยงของการติดโรคของเราไม่เยอะ แต่ความเสี่ยงของการสื่อสารประชาชนตื่นกังวลกัน เพราะการสื่อสารมีความสำคัญ หลังจากนี้หากมีข้อคำถามเกิดขึ้นรายวันให้ติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้มาตอบคำถาม เช่น เรื่องแรงงาน ก็ให้กระทรวงแรงงานออกมาตอบ เพื่อลงรายละเอียด เนื่องจากหลายเรื่องเป็นเรื่องเทคนิกของแต่ละกระทรวง นี่คือชีวิตวิถีใหม่ ที่จะเกิดขึ้นกับการทำงานร่วมกัน และผมเองก็จะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อไรจะมีการอนุญาตให้ไปโรงเรียนได้อย่างปกติ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรื่องนี้ ศบค.ให้ความห่วงใย และผู้แทนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มารายงาน พบว่า โรงเรียนหลายหมื่นแห่งเปิดเต็ม 100% โดยโรงเรียนที่ใช้วิธีการสลับวันเรียน สลับกลุ่มเรียน มีจำนวน 4,532 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีบริบทที่ต่างกันไป เนื่องจากมีพื้นที่เล็กและมีจำนวนนักเรียนจำนวนมาก ศบค.ชุดเล็ก มอบให้ ศธ. และ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงไปดูมาตรการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นโจทย์แตกต่างกันไป
เมื่อถามว่า จากขอเสนอของคณะกรรมการกลุ่มค้าชายแดนและค้าข้ามแดน ให้เปิดจุดข้ามแดนถาวรและจุดผ่อนปรนทุกจุดของประเทศ โดยให้เริ่มเดือนสิงหาคม หน่วยงานที่จะพิจารณาคือหน่วยงานใดและต้องผ่านความเห็นของ ศบค.หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า หน่วยงานที่จะอนุญาตและเห็นชอบจะต้องเป็น ศบค. แต่หน่วยงานที่ต้องประสานและนำเสนอมาตรการข้อปฏิบัติคือ กระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยช่วงเช้าได้หารือกันในประเด็นนี้และมอบให้ มท.ไปดูความเหมาะสมทั้งด้านสถานที่ ปริมาณ จำนวนคน ทั้งหมด 91 จุด จะถูกทบทวน ทำให้มีข้อเสนอและมาตรการเชิงปฏิบัตินำมาสู่การอนุมัติโดย ศบค. ซึ่ง ศบค.จะต้องมอบอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เพียงจุดของ มท. แต่ต้องมองมุมสาธารณสุข ความมั่นคง แรงงาน และอีกหลายมุม โดยเรื่องการควบคุมโรคมีความสำคัญสูงสุดและด้านเศรษฐกิจจะตามมา
เมื่อถามอีกว่า การนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทย ขณะนี้นายจ้างได้หาพื้นที่สถานกักกันโรคฯ ได้แล้ว หลังจากนี้จะต้องดำเนินการอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การประชุม ศบค.ชุดใหญ่เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้นำเสนอให้มีการจัดเป็นพื้นที่กักกันโรคฯ ที่นายจ้าง องค์กร หน่วยงานจัดหา (Organizational Quarantine) เพื่อให้ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้ามาพักรวมกัน วัตถุประสงค์คือ ควบคุมโรค ลดค่าใช้จ่าย โดยอาจจะมีความคุ้นกับการสถานกักกันโรคที่ต้องใช้โรงแรมเป็นห้องแยกคือ State and Local Quarantine แต่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก หัวหนึ่งร่วม 2 หมื่นบาท แต่หากเป็นแรงงานไร้ฝีมือเข้าพักจะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ดังนั้นจึงต้องหาวิธีลดเหลือหัวละประมาณ 12,000-14,000 บาทต่อคน ซึ่ง Organizational Quarantine สามารถแก้ปัญหาได้
“เขาสามารถเข้ามาพัก 2 คนได้ เพราะเขามาจากบ้านเขาเหมือนกัน ข้ามมาจากฝั่งชายแดน ดังนั้นเอามาอยู่ในพื้นที่เราดูแลได้ และห้ามเขาออกจากพื้นที่ และกักกัน 14 วัน อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยอยู่รวมกันได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้เป็นข้อเสนอจากกระทรวงแรงงาน โดยมีความต้องการจากข้อมูลเบื้องต้น 6 หมื่นรายกว่าที่ถูกกฎหมาย และยังรอใบอนุญาตเข้ามา 4 หมื่นกว่าราย แต่ยังไม่มีตัวอย่าง ภาคเอกชนยังไม่มีการเสนอขึ้นมา ถ้าท่านมีพื้นที่ มีแรงงานแล้วให้เสนอขึ้นมา ติดต่อมาที่ ศบค.ได้ เนื่องจากหลักการถูกอนุมัติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.แล้ว เพื่อให้ภาพชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว