ถ้าเราลองพูดถึงประกัน คุณผู้อ่านคงจะนึกถึงอะไร อาจจะนึกถึงวันเวลาที่ตัวแทนประกันชีวิตคอยโทรมาเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต คนแรกที่เราต้องโทรหาเวลารถเสีย หรือบางคนอาจจะซื้อประกันไว้เพื่อการลงทุน หรือเตรียมพร้อมสำหรับภัยที่อาจจะเกิดขึ้นกับตนอย่างไม่คาดคิดมาก่อนในช่วงหยุดยาวที่ผ่านมา ไม่รู้ว่าอะไรมาดลจิตดลใจให้ผมเริ่มหันมาศึกษาเกี่ยวกับการเงิน การลงทุน (ต้องเท้าความก่อนว่าปัจจุบันผมกำลังศึกษาในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ครับ) ผมได้ลองซื้อหนังสือเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า "The Top Job Secret ภาค 2 ทำน้อยได้มาก ฉลาดเลือกงาน" ผลงานของคุณพิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่ แอคชัวรี่) ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้ นอกจากจะเป็นหนังสือที่แนะนำโดยคุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ รศ.ดร.ไพบูลย์ เสรีวัฒนา จากรายการ Money Talk หรือเป็นหนึ่งในหนังสือขายดีของศูนย์หนังสือจุฬาฯ เป็นอีกหนึ่งหนังสือที่ผมเองก็อยากจะแนะนำให้กับใครที่มีความสนใจในอาชีพ "นักคณิตศาสตร์ประกันภัย" หรือที่เรียกกันว่า Actuary ครับ ซึ่งในปัจจุบัน อาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary) ถือว่าเป็นอาชีพที่ยังขาดแคลน และยังคงมีความต้องการสูงครับเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จะแบ่งออกเป็น 7 บท แต่ในหนังสือเล่มนี้จะเรียกว่าเป็นกุญแจดอกต่าง ๆกุญแจดอกที่ 1 : การวางแผนอาชีพกุญแจดอกที่ 2 : ปริญญาคือคำตอบ ? ไฟแช็ค ไฟฉายกุญแจดอกที่ 3 : อาชีพที่คนไทยยังไม่รู้จักกุญแจดอกที่ 4 : ก้าวแรกสู่สังเวียนกุญแจดอกที่ 5 : เอื้อมไปและไขว่ขว้ากุญแจดอกที่ 6 : ...Hunter X Hunter...กุญแจดอกที่ 7 : ไขความลับในส่วนของ 2 บทแรกจะพูดถึงแง่คิดในการเลือกอาชีพและเส้นทางสู่การเป็นมืออาชีพครับ เวลาที่องค์กรใดจะเลือกใครสักคนเพื่อมาร่วมงาน เราอาจจะนึกถึงการเรียนจบสูง ๆ หรือการเรียนจบจากมหาวิทยาลัยด้วยเกรดดี ๆ แต่ในโลกปัจจุบัน คุณวุฒิทางวิชาการอาจจะไม่ใช่คำตอบครับ 2 ปัจจัยหลักที่จะถูกนำมาพิจารณาก็คือประสบการณ์การทำงานและคุณวุฒิเฉพาะทาง (Professional Qualification) ครับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถบอกถึงทักษะและความเป็นมืออาชีพในสายงานนั้น ๆ เพราะการเป็นมืออาชีพนั้น จะไม่ทำให้เราตกงาน และยังสร้างความแตกต่างในการทำงาน เพิ่มคุณค่าในตัวเองให้โดดเด่น ทำให้เรายังคงเป็นที่ต้องการในตลาดอีกด้วย และยังเล่าถึงอาชีพที่ต้องมีการสอบใบอนุญาตหรือศึกษาต่อเฉพาะทาง เช่น แพทย์ หรือ ทนายความ เป็นต้น แถมยังแฝงข้อคิดดี ๆ สำหรับใครที่กำลังค้นหาตัวเองอีกด้วยครับหลังจากที่ได้รับแรงบันดาลใจดี ๆ จาก 2 บทแรกมาแล้ว บทที่เหลือจะกล่าวถึงหน้าที่หลักและเส้นทางสู่การเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยครับ หน้าที่หลักของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยสามารถสรุปได้ด้วย 3 คำง่าย ๆ ครับ “วิเคราะห์อดีต ประเมินปัจจุบัน จำลองอนาคต” โดยจะใช้ความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ สถิติ เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย มาประกอบการวิเคราะห์ เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ออกมาถูกต้องมากที่สุดครับการเข้าสู่เส้นทางอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะต้องมีการสอบเป็นขั้น ๆ ครับ โดยจะมีอยู่ทั้งหมด 10 ขั้น (คล้าย ๆ กับการสอบวัดระดับทางด้านภาษา หรือ ทักษะทางด้านดนตรีครับ) โดยผู้ที่สอบผ่านขั้นสูงสุดนั้นจะได้รับคุณวุฒิระดับผู้เชี่ยวชาญหรือที่เรียกว่าเฟลโล่ (Fellow) ครับ การสอบนั้นสามารถเริ่มสอบได้ตั้งแต่ปีแรกของการเรียนมหาวิทยาลัยครับ และด้วยความที่ข้อสอบถูกออกโดยสำนักสอบของต่างประเทศ ดังนั้น นอกจากทักษะทางด้านคณิตศาสตร์แล้ว ความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษก็ต้องดีไม่แพ้กันนะครับอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องทำงานอยู่ในสายงานประกันภัยเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถนำความรู้ที่ได้มาไปประยุกต์ใช้ในการวางแผน การประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การวางแผนด้านผลประโยชน์ของพนักงาน การธนาคาร การลงทุน หรือแม้แต่เป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนครับโดยภาพรวมแล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่อ่านสนุก เข้าใจง่าย มีภาพประกอบและการ์ตูนคอยแทรกอยู่เป็นระยะ ๆ ที่จะช่วยให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจเนื้อหาได้มากขึ้น และยังแฝงข้อคิดต่าง ๆ อีกด้วย จึงเหมาะกับใครที่กำลังสนใจในสายอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (โดยเฉพาะผู้ที่กำลังศึกษาในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ สถิติ วิศวกรรมศาสตร์ บริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์) หรือแม้แต่นักลงทุนเองก็เช่นกันครับ//ภาพหน้าปกและภาพที่ 1-2 โดยผู้เขียน////ภาพที่ 3 Photo by Louis Bauer via Canva////ภาพที่ 4 Photo by Negative Space via Canva//