10 วิธีกำจัดเปลือกผลไม้เหลือทิ้ง จากขยะเปียก กลายเป็นประโยชน์ | บทความโดย ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล หลายคนยังไม่เคยรู้ว่า ในช่วงที่มีผลไม้ตามฤดูกาลออกจำนวนมากนั้น ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการมีเปลือกผลไม้เหลือทิ้งจำนวนมากจากครัวเรือน โดยปัญหาต่อจากนั้นก็คือเปลือกผลไม้ทำให้ขยะเต็มเร็ว เป็นภาระในการเก็บขนและนำไปกำจัดอย่างมาก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เราทุกคนต้องหันมาช่วยกันลดปริมาณของขยะที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติที่ต้นทาง ซึ่งหลายคนก็ยังคิดไม่ออกว่า จะทำยังไงดีกับเปลือกผลไม้เหลือทิ้งที่มีอยู่ เพราะก็ต้องการลดปัญหาเรื่องขยะช่วยกันอีกแรงด้วยเหมือนกัน ซึ่งคุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า ขยะที่เกิดจากการปอกเปลือกผลไม้นั้น เราสามารถนำไปกำจัดให้หายไปได้ โดยหลายวิธีการที่ผู้เขียนจะได้นำเสนอในบทความนี้ บางคนก็อาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน ดังนั้นคุณผู้อ่านต้องอ่านให้จบตั้งแต่วิธีแรกจนถึงวิธีสุดท้ายเลยค่ะ ที่รับรองว่าเมื่ออ่านจบแล้ว คุณผู้อ่านสามารถมองเห็นแนวทางไปกำจัดเปลือกผลไม้ได้อย่างแน่นอน และต่อไปนี้คือวิธีการที่เป็นไปได้เพื่อนำไปกำจัดเปลือกผลไม้เหลือทิ้งค่ะ 1. ใช้เปลือกผลไม้เป็นอาหารปลา เปลือกผลไม้หลายชนิดมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อปลา การนำเปลือกผลไม้มาเป็นอาหารปลาจึงอาจช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตและสุขภาพที่ดีของปลาได้ นอกจากนี้ยังเป็นการลดต้นทุนค่าอาหารปลา และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน อย่างไรก็ตามควรศึกษาและเลือกใช้เปลือกผลไม้ที่เหมาะสมกับชนิดของปลา และอาจต้องมีการแปรรูป เช่น การตากแห้ง บด หรือหมัก เพื่อให้ปลากินได้ง่ายและได้รับสารอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและหลีกเลี่ยงเปลือกผลไม้ที่มีสารพิษหรือสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อปลาค่ะ 2. ทำน้ำหมักชีวภาพจากเปลือกผลไม้ เพียงนำเปลือกผลไม้มาหมักกับกากน้ำตาลและน้ำในอัตราส่วนที่เหมาะสม ทิ้งไว้สักระยะจุลินทรีย์ก็จะทำการย่อยสลายเปลือกผลไม้ให้กลายเป็นของเหลวที่มีประโยชน์ น้ำหมักชีวภาพที่ได้นี้สามารถนำไปเจือจางเพื่อรดน้ำต้นไม้ ช่วยให้ดินอุดมสมบูรณ์และพืชแข็งแรง หรือนำไปใช้ทำความสะอาดคราบสกปรกต่างๆ ในบ้านได้อีกด้วย นับเป็นการเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงค่ะ ซึ่งกระบวนการทำก็ง่ายๆ 3. ใช้เลี้ยงไส้เดือน การนำเปลือกผลไม้ที่เหลือทิ้งมาเลี้ยงไส้เดือน เป็นอีกหนึ่งวิธีจัดการขยะอินทรีย์ที่น่าสนใจและได้ประโยชน์หลายต่อ จากที่ไส้เดือนเป็นนักย่อยสลายชั้นดี สามารถกินและเปลี่ยนเปลือกผลไม้ให้กลายเป็นปุ๋ยหมักคุณภาพสูง หรือที่เรียกว่า "มูลไส้เดือน" ซึ่งเป็นปุ๋ยธรรมชาติที่อุดมไปด้วยธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช การเลี้ยงไส้เดือนด้วยเปลือกผลไม้เหลือทิ้ง จึงไม่เพียงช่วยลดปริมาณขยะเปลือกผลไม้ แต่ยังได้ปุ๋ยที่มีคุณค่ามาใช้ในการเกษตรหรือปลูกต้นไม้ในบ้านของเราได้อีกด้วย 4. ใช้เป็นวัสดุคลุมดินที่โคนต้นไม้ คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า เปลือกผลไม้เหลือทิ้งในครัวเรือนของเรา สามารถนำมาใช้ประโยชน์ง่ายๆ ใกล้ตัวได้ และอีกวิธีหนึ่งก็คือการนำไปคลุมดินบริเวณโคนต้นไม้ที่เราปลูกไว้ เปลือกผลไม้เมื่อย่อยสลายไปตามธรรมชาติ จะกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ค่อยๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ให้กับดินและรากของต้นไม้ ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดีขึ้น นอกจากนี้การนำเปลือกผลไม้ไปคลุมดินยังช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดิน ลดการระเหยของน้ำ และช่วยป้องกันวัชพืชไม่ให้ขึ้นมารบกวนต้นไม้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยลดขยะ แถมยังเป็นประโยชน์ต่อต้นไม้ในสวนของเราไปพร้อมๆ กันด้วยค่ะ 5. ทำชาจากเปลือกผลไม้ หลายคนยังไม่รู้ว่า เปลือกผลไม้ที่เรามักทิ้งกันนั้น จริงๆ แล้วสามารถนำมาทำเป็นเครื่องดื่มชาที่ให้คุณค่าทางอาหารตามธรรมชาติได้ เปลือกผลไม้หลายชนิดมีสารสำคัญ การนำเปลือกผลไม้ เช่น เปลือกส้ม เปลือกมะนาว หรือเปลือกแก้วมังกร มาตากแห้งแล้วนำไปชงเป็นชา ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดปริมาณขยะจากเปลือกผลไม้ได้อย่างสร้างสรรค์ค่ะ แถมยังได้เครื่องดื่มที่มีกลิ่นหอมสดชื่น และเป็นไอเดียที่ทั้งรักษ์โลกไปพร้อมๆ กันด้วย 6. นำไปรวมกับขยะเปียกของชุมชน ผู้เขียนมองว่า การนำเปลือกผลไม้ที่เหลือทิ้งไปรวมกับขยะเปียกของชุมชน ก็เป็นอีกวิธีที่สะดวกและช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดได้มากเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนที่มีระบบการจัดการขยะเปียกอยู่แล้ว เปลือกผลไม้จะถูกนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยหมักในระดับชุมชน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเกษตรและการปรับปรุงดินในพื้นที่นั้นๆ นอกจากนี้การรวมขยะเปียกยังช่วยลดภาระในการจัดการขยะของแต่ละครัวเรือน และส่งเสริมให้เกิดการจัดการขยะมูลฝอยอย่างมีประสิทธิภาพในภาพรวมของชุมชนด้วย 7. ใช้เป็นอาหารสัตว์โดยตรง เปลือกผลไม้ที่เหลือจากครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมบางชนิด สามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้โดยตรง ซึ่งเป็นอีกแนวทางในการลดขยะและเพิ่มคุณค่าให้กับของเหลือใช้ เปลือกผลไม้บางชนิดมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสัตว์ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้เห็นแม่กับป้าของผู้เขียนที่มีวัวมานั้น สองคนนี้ได้นำเปลือกขนุน เปลือกแตงไทย เปลือกมะละกอสุก เปลือกแตงโม และเปลือกมะม่วงสุกไปให้วัวกินโดยตรงค่ะ อย่างไรก็ตามควรพิจารณาถึงชนิดของเปลือกผลไม้และความเหมาะสมกับสัตว์แต่ละประเภท เพราะบางชนิดอาจมีสารที่ไม่เหมาะสมหรือย่อยยากสำหรับสัตว์บางชนิดนะคะ 8. ทำเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ เปลือกผลไม้ที่เหลือทิ้งสามารถนำมาเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ได้ค่ะ ซึ่งเป็นอีกแนวทางที่ช่วยลดปริมาณขยะและเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้กับอาหารสัตว์ การนำมาผสมในอาหารสัตว์ต้องเลือกเปลือกผลไม้ที่ปลอดภัย และเหมาะสมกับชนิดของสัตว์แต่ละประเภท ควรล้างทำความสะอาดเปลือกผลไม้ให้ดี และอาจต้องมีการบดหรือแปรรูปให้มีขนาดเล็กลงเพื่อให้สัตว์กินได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ควรผสมในปริมาณที่เหมาะสม และให้ควบคู่ไปกับอาหารหลักเพื่อให้สัตว์ได้รับสารอาหารที่สมดุลและครบถ้วน ที่โดยสรุปแล้วการนำเปลือกผลไม้มาเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในการจัดการขยะ และลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ได้อีกด้วยค่ะ 9. เทรวมกับขยะเปียกชนิดอื่นในถังหมักปุ๋ยใต้ดิน การนำเปลือกผลไม้ที่เหลือทิ้งมาหมักทำปุ๋ยใต้ดิน เป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่มีพื้นที่สวนหรือปลูกต้นไม้ค่ะ เพราะเป็นการจัดการขยะอินทรีย์ที่ต้นทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมยังได้ปุ๋ยบำรุงดินโดยตรง วิธีการง่ายๆ ก็คือการขุดหลุมเล็กๆ บริเวณโคนต้นไม้หรือในแปลงปลูก แล้วนำเปลือกผลไม้และเศษอาหารอื่นๆ ใส่ลงไป กลบดิน ทิ้งไว้ให้จุลินทรีย์ในดินทำการย่อยสลาย จากนั้นเปลือกผลไม้จะค่อยๆ กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้ดินร่วนซุยและเก็บความชื้นได้ดีขึ้น ที่เป็นการลดขยะ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และบำรุงดินให้ต้นไม้ของเราเติบโตงอกงามอย่างยั่งยืนค่ะ 10. ใช้ทำปุ๋ยหมักแบบกอง การนำเปลือกผลไม้ที่เหลือทิ้งมาทำปุ๋ยหมักแบบกอง เป็นอีกวิธีที่ได้รับความนิยมและทำได้ง่ายสำหรับคนทั่วไปค่ะ เพียงแค่รวบรวมเปลือกผลไม้และเศษอินทรีย์อื่นๆ เช่น ใบไม้แห้ง เศษผัก มารวมกันเป็นชั้นๆ โดยอาจสลับชั้นด้วยดินหรือปุ๋ยคอกเล็กน้อย รดน้ำให้มีความชื้นพอเหมาะ และคอยกลับกองปุ๋ยบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อให้อากาศถ่ายเท จุลินทรีย์ก็จะค่อยๆ ย่อยสลายวัสดุกองหมักของเราให้กลายเป็นปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพ ซึ่งอุดมไปด้วยธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช การทำปุ๋ยหมักแบบกองจึงเป็นวิธีที่ช่วยลดขยะเปลือกผลไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังได้ปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้บำรุงต้นไม้ในบ้านหรือสวนของเราได้อีกด้วยค่ะ และนั่นคือตัวอย่างที่คุณผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพื่อนำไปกำจัดเปลือกผลไม้เหลือทิ้งจากครัวเรือนหรือจากกิจกรรมการบริโภคของเราค่ะ ที่จะว่าไปนั้นหลายๆ ตัวอย่างผู้เขียนก็นำมาใช้จนถึงปัจจุบัน เช่น ในบางวันถ้ามีเปลือกผลไม้ที่วัวกินได้ ผู้เขียนจะรวมใส่ถุงไว้ และถ้ามีใครออกไปที่บ้านสวน ก็จะฝากเขาไปให้วัวค่ะ ในส่วนของการหมักปุ๋ยน้ำชีวภาพจากเปลือกผลไม้นั้น ตอนนี้น้องสาวทำเอาไว้หนึ่งถังค่ะ ส่วนผู้เขียนให้ความสนใจเกี่ยวกับการหมักปุ๋ยใต้ดิน การทำปุ๋ยแบบกองหมักและนำไปทิ้งที่โคนต้นไม้ เพื่อคลุมหน้าดินค่ะ โดยแนวทางอื่นๆ หากตรงกับสถานการณ์ของคุณผู้อ่าน ก็สามารถนำไปทำตามได้นะคะ เพราะแนวทางข้างต้นที่ผู้เขียนได้นำเสนอไว้นั้น นอกจากจะช่วยลดขยะเปียกจากครัวเรือนแล้ว ยังสามารถได้ประโยชน์แบบจับต้องได้ แทนที่จะทิ้งเปลือกผลไม้ไปเป็นขยะแบบเปล่าประโยชน์ค่ะ ดังนั้นลองเลือกวิธีการที่เป็นไปได้ไปเป็นแนวทางกำจัดเปลือกผลไม้กันค่ะทุกคน และด้วยความตั้งใจ ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย หากสนใจเนื้อหาเช่นนี้อีก อย่าลืมกดติดตามหรือบุ๊กมาร์กโปรไฟล์ไว้ เพื่อรับข้อมูลใหม่ๆ ในบทความต่อไปค่ะ เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปก โดย freepik จาก FREEPIK ภาพประกอบเนื้อหา: ภาพที่ 1 โดย Photo By: Kaboompics.com จาก Pexels และภาพที่ 2-4 โดยผู้เขียน ออกแบบภาพหน้าปกโดยผู้เขียนใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา: พยาบาลศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่เกี่ยวข้องโดยผู้เขียน ค่าขยะมูลฝอย เทศบาล จ่ายที่ไหน ราคากี่บาทต่อเดือน ทำไมต้องคัดแยกขยะ มีผลดีอะไรบ้าง ด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบจากขยะเปียก ในครัวเรือน ที่จัดการไม่เหมาะสม เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !