รีเซต

ไอเอ็นจี ชี้โควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยซึมยาว บาทอ่อนเป็นอันดับ 2 ของสกุลเงินเอเชีย

ไอเอ็นจี ชี้โควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยซึมยาว บาทอ่อนเป็นอันดับ 2 ของสกุลเงินเอเชีย
ข่าวสด
11 กันยายน 2563 ( 13:25 )
132
ไอเอ็นจี ชี้โควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยซึมยาว บาทอ่อนเป็นอันดับ 2 ของสกุลเงินเอเชีย

 

ไอเอ็นจี ชี้โควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยซึมยาว บาทอ่อนเป็นอันดับ 2 ของสกุลเงินเอเชีย - BBCไทย

บทวิเคราะห์การเงินและเศรษฐกิจประเทศไทยของไอเอ็นจี กลุ่มธุรกิจการเงินและการธนาคารระดับโลกของเนเธอร์แลนด์ คาดเศรษฐกิจไทยจะถดถอยตลอดปีนี้และอาจจะต่อเนื่องถึงปีหน้า ส่วนค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี ส่วนหนึ่งเพราะความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น

 

ไอเอ็นจีระบุว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดใหญ่ไปทั่วโลกของโควิด-19 ได้ โดยผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยติดลบ 12% ในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ นับว่าแย่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในเอเชียในปี 1998 ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกยังคงซบเซา ไอเอ็นจีจึงคาดว่า อีกสองไตรมาสที่เหลือของปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะยังคงติดลบต่อไป โดยรวมทั้งปีจะติดลบอยู่ที่ 6.6% แย่ที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 1998

 

Getty Images
ค่าเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปีจนถึง 9 ก.ย. อ่อนค่าลงแล้ว 4.5%

การเมือง ปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจ

บทวิเคราะห์ของไอเอ็นจีระบุว่า ตลาดและเศรษฐกิจของไทยมักจะได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงทางการเมืองที่สูงขึ้น ช่วงกลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ทีมที่ดูแลเศรษฐกิจไทยซึ่งนำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 3 คน คือ รมว.พลังงาน รมว.คลัง รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศลาออก ทำให้ต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรี

 

 

ในช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่หลายคน รวมถึงนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ อดีตผู้บริหารเครือ ปตท. ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน นายปรีดี ดาวฉาย อดีตนายธนาคาร ได้รับการแต่งตั้งเป็น รมว.คลัง แต่เวลาผ่านไปไม่ถึงเดือน รมว.คลังคนใหม่ก็ได้ประกาศลาออก ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายในระบบเศรษฐกิจไทยขึ้น

 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเผชิญกับการประท้วงต่อต้านของนักเรียนนักศึกษาที่เรียกร้องการปฏิรูปการเมือง รวมถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการเมือง ไอเอ็นจีคาดว่าจะมีการต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีกหลายรอบ ซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่รัฐบาลใช้ในการควบคุมฝ่ายต่อต้าน โดยในช่วงแรกมีการใช้พระราชกำหนดนี้เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19

 

ไอเอ็นจีระบุว่าประวัติศาสตร์ช่วยให้ประเมินได้ว่าการเมืองไทยจะเลวร้ายได้มากแค่ไหน โดยครั้งนี้อาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าในอดีต เพราะนอกจากความไม่พอใจต่อรัฐบาลแล้ว ยังมีคนที่ไม่พอใจเรื่องปัญหาเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่นำโดยภาคการท่องเที่ยวน่าจะล่าช้าออกไปอีก

 

เงินบาทอ่อนค่าแล้ว 4.5%

ตลาดการเงินในประเทศเริ่มรับรู้ถึงสภาพการเมืองและเศรษฐกิจที่เลวร้ายนี้แล้ว นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. ตลาดหุ้นและค่าเงินบาทของไทยหยุดการปรับตัวขึ้นตามตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ในโลกที่กำลังฟื้นตัว ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรในประเทศสูงขึ้น

 

นักลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยทุกเดือนในปีนี้ และคาดว่าแนวโน้มจะเป็นเช่นนี้จนถึงสิ้นปี ด้านค่าเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปีจนถึง 9 ก.ย. อ่อนค่าลงแล้ว 4.5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ตามหลังเพียงค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียที่อ่อนค่ามากที่สุด (ตัวเลขของสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่าราว 6%) ขณะที่ความวุ่นวายทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้น อาจจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปอีก

 

นอกจากความเสี่ยงทางการเมืองที่สูงขึ้นแล้ว การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องในปีนี้ น่าจะทำให้ค่าเงินบาทเป็นหนึ่งในสกุลเงินเอเชียที่อ่อนค่าลงมากที่สุดในปีนี้

รอยเตอร์รายงานว่า ค่าเงินบาทเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 10 ก.ย. อยู่ที่ราว 31.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ผู้ส่งออกไทยมองว่าแข็งเกินไป ทำให้สินค้าไทยในต่างแดนมีราคาสูงกว่าคู่แข่งประเทศอื่น และต้องการให้อยู่ที่ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ไอเอ็นจีคาดว่า สิ้นปีนี้ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับ สิ้นปี 2019 ที่ 30.22 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่จะแข็งค่าขึ้นเป็น 31.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2021 และ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2022

เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย

ด้านเงินเฟ้อ ไอเอ็นจีระบุว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับเศรษฐกิจไทยไปจนถึงสิ้นปีหน้า เนื่องจากอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นและอุปสงค์ที่อ่อนแอทำให้เงินเฟ้อติดลบแล้ว 1% ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 0.50% ซึ่งต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังมีการปรับลดลง 0.75% ตั้งแต่ต้นปี และไม่น่าจะลดลงต่ำไปมากกว่านี้ ไอเอ็นจีคาดว่า การผ่อนคลายทางการเงินมากกว่าปกติยังไม่ใช่ทางเลือกในขณะนี้

ส่งออกและการท่องเที่ยวยังไม่กระเตื้อง

ตลาดการส่งออกที่สำคัญของไทยทั้งสหรัฐฯ, ยุโรป, ญี่ปุ่น และอาเซียน (รวมกันคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกของไทย) ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายในประเทศหลายอย่างเช่น ปัญหาภัยแล้งทั่วประเทศ ที่อาจทำให้ผลผลิตด้านการเกษตรและการส่งออกลดลง โดยขณะนี้การส่งออกข้าวของไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ลดลง 14% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้รับลดเป้าหมายการส่งออกข้าวลง 13% ในปีนี้เหลือ 6.5 ล้านตัน ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ไทยอาจจะเสียตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวมากเป็นอันดับสองของโลก

ส่วนการท่องเที่ยวซึ่งมีมูลค่าราว 1 ใน 5 ของเศรษฐกิจไทย โดยนักท่องเที่ยวจากจีนเพียงแห่งเดียวสร้างรายได้การท่องเที่ยวให้ไทยราว 1 ใน 4 ของทั้งหมด การท่องเที่ยวของไทยหยุดชะงักมาตั้งแต่เดือน เม.ย. โดยไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเลยนับจากนั้น เศรษฐกิจจีนก็กำลังค่อย ๆ ฟื้นตัวหลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงต้นปี โดยอาจจะต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าที่นักท่องเที่ยวชาวจีนจะเริ่มรู้สึกสบายใจในการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ในช่วงที่ยังมีมาตรการคุมเข้มที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 อยู่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง