'ผักเหมียง' พารวย! แนะปลูกแซม 'สวนยาง' สร้างรายได้เหยียบแสนต่อเดือน
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 10 เมษายน ที่สนามการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ใน “มหกรรมยางพารา 2564” นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา มีกิจกรรมเวิร์กช็อป “ ปลูกพืชผสมผสานในสวนยาง ” โดย นายสุรศักดิ์ ชูทอง ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาพืชสวนประดับและภูมิทัศน์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า การปลูกยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยว ถือว่ามีความเสี่ยงสูง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จึงพยายามปรับแนวคิดเกษตรกรจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว สู่การทำเกษตรผสมผสาน ตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยเลี้ยงสัตว์และมีพืชอื่นปลูกร่วมและปลูกแซมในสวนยางพารา ช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตทั้งพืชและสัตว์หมุนเวียนเข้าตลาดได้ตลอดปี ทำให้ชีวิตมีความมั่งคงและเกิดรายได้อย่างยั่งยืน
เกษตรกรที่ปลูกยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยว นิยมปลูกต้นยางพาราในระยะห่างระหว่างต้น 7เมตร ระยะห่างจากแถว 3 เมตร หรือ 76 ต้น/ไร่ แต่การปลูกพืชผสมผสานในสวนยาง ต้องปรับสัดส่วนการปลูกต้นยางเป็นระยะ 9 หรือ 12 เมตร X3 เมตร เพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ในสวนยางได้มากขึ้น แปลงปลูกต้นยางอายุไม่เกิน 3 ปีสามารถปลูกพืชแซมยาง ในกลุ่มพืชผัก สับปะรด ข้าวไร่ บอนสี ฯลฯ ส่วนต้นยางที่อายุ 3ปีขึ้นไป ภายใต้ร่มเงายาง สามารถปลูกขิงข่า สละอินโดฯ เป็นพืชร่วมยางได้ รวมทั้งเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ แพะ แกะ และวัวในสวนยางได้อย่างสบาย
“เกษตรกรที่ปลูกยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยว มีรายได้จากการขายน้ำยาง เฉลี่ยเดือนละ 6,000 บาทต่อไร่ แต่เกษตรกรที่ปลูกพืชผสมผสานในสวนยาง จะมีรายได้ต่อเดือนเพิ่มขึ้นแตะหลักหมื่นบาทต่อไร่ เกษตรกรรายหนึ่งมีพื้นที่ปลูกยาง 3-4 ไร่ ปลูก ผักเหมียง หรือใบเหลียงเป็นพืชร่วมยาง ถ้าเก็บผักเหมียงขายก.ก.ละ 80 บาท ได้ทุกสัปดาห์ จะมีรายได้ต่อเดือนกว่าแสนบาท จึงอยากชักชวน เกษตรกรชาวสวนยางใช้พื้นที่ว่างในสวนยางให้เกิดประโยชน์โดยนำมาปลูกพืชเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน เพื่อเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือน และเป็นรายได้เสริมสำหรับเลี้ยงดูครอบครัวอีกทางหนึ่ง ”นายสุรศักดิ์ กล่าว