สาธารณสุข ยันไทยพบโควิดจากท่าขี้เหล็ก สายพันธุ์เดียวกับอินเดีย มั่นใจยังควบคุมได้
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย กรณีการพบผู้ติดเชื้อจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา
นพ.โอภาส กล่าวว่า กรณีของคนไทยที่เดินทางกลับจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียมา โดยกระจายใน 7 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ 5 ราย เชียงราย 37 ราย เป็นผู้เดินทางและเข้าอยู่ในสถานกักกันโรคท้องถิ่นของรัฐ(Local Quarantine) 30 ราย กรุงเทพมหานคร 3 ราย และ พะเยา พิจิตร ราชบุรี สิงห์บุรี จังหวัดละ 1 ราย ข้อมูลล่าสุดวันที่ 12 ธันวาคม มีผู้ติดเชื้อจากกรณีนี้ รวม 49 ราย ในวันนี้ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม แสดงให้เห็นว่ามาตรการที่ดำเนินการมีความรัดกุม ไม่พบการลักลอบของผู้ติดเชื้อเข้ามาและสามารถควบคุมให้มีการเดินทางเข้ามายังถูกต้อง
“ในวันนี้ จ.เชียงราย และ จ.ท่าขี้เหล็ก เมียนมา ได้จัดระบบให้คนไทยตกค้างกลับสู่ประเทศ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผ่านช่องทางปกติ มีผู้แสดงความจำนง 107 ราย เป็นผู้ใหญ่ 104 ราย และเด็ก 3 ราย มีการตรวจหาเชื้อก่อนเดินทางเข้าไทย พบผู้ติดเชื้อ 5 ราย ทั้งหมดได้เข้ารักษาที่โรงพยาบาล(รพ.)เชียงรายประชานุเคราะห์แล้ว มั่นใจได้ว่าจะไม่มีการแพร่เชื้อสู่ชุมชน และที่เหลือไม่ติดเชื้อเข้าพักในสถานกักกันโรคท้องถิ่นของรัฐ(LQ) ใน จ.เชียงราย และจะตรวจหาเชื้อทันที พบผู้ติดเชื้อ 4 ราย และเข้าสู่การรักษาแล้วเช่นกัน ดังนั้น ผู้เดินทาง 107 ราย พบผู้ติดเชื้อ 9 ราย และมีอาการน้อยมาก จึงไม่น่าเป็นห่วง และขอให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลไทย พร้อมดูแลคนไทยในต่างประเทศ แต่ขอให้เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อความปลอดภัย” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีผู้สอบถามว่า เมื่อเดินทางกลับจาก จ.เชียงใหม่และเชียงราย จะต้องกักตัวหรือไม่ ขอย้ำว่า ขณะนี้ควบคุมสถานการณ์ได้ ตามมาตรการควบคุมโรคจะกักตัวกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือ ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดในสถานที่และเวลาเดียวกับผู้ป่วย โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ได้แก่ อยู่ร่วมบ้านเดียวกัน พูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร ในห้องแออัด เกิน 5 นาที ถูกผู้ป่วยไอจามรดใส่ และอยู่ในสถานที่แออัดร่วมกับผู้ป่วย กลุ่มนี้จะต้องถูกกักตัว 14 วันและตรวจหาเชื้อ ดังนั้น ผู้เดินทางใน 7 จังหวัดที่ไม่ใช่กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง ไม่จำเป็นต้องกักตัว สามารถเดินทางได้อิสระ และในกลุ่มผู้สัมผัสกับกลุ่มเสี่ยงสูงที่ไม่ได้มีอาการป่วย ก็ไม่ต้องกักตัว และไม่มีความเสี่ยง
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ปัจจุบันของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ตลอดเวลาที่สำคัญ คือ 1.ทำให้ติดง่ายขึ้น 2.ความรุนแรงมากขึ้น และ 3.วัคซีนไม่ได้ผล การระบาดปัจจุบันคือสายพันธุ์ G พบในทั่วโลกมากกว่าร้อยละ 80 ที่ต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ประการที่ 1 คือ ในห้องปฏิบัติการพบว่า เมื่อเชื้อของสายพันธุ์นี้เข้าติดเซลล์แล้วจะออกลูกออกหลานได้มากขึ้น ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่า สามารถแพร่กระจายมากกว่าสายพันธุ์เดิม ประการที่ 2 เมื่อเทียบข้อมูลการติดเชื้อและเสียชีวิตในไทย พบว่า ผู้ป่วยระยะหลังส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรงหรือไม่มีอาการ ดังนั้น ความรุนแรงของโรคไม่ได้มากขึ้น
“ประการที่ 3 วัคซีนที่ทำการทดลองในพื้นที่มีการระบาด พบว่ามีประสิทธิภาพดีเกิน 70% ขึ้นไป ดังนั้น สายพันธุ์นี้ไม่ได้ทำให้วัคซีนป้องกันโรคได้น้อยลง และการถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อที่มาจาก จ.ท่าขี้เหล็ก และมาติดในคนไทยรายหลาย เบื้องต้นพบว่า จุดแพร่กระจายของเชื้อมาจากแหล่งเดียวกัน เป็นเชื้อที่พบในประเทศอินเดีย อาจสรุปเบื้องต้นได้ว่าการแพร่ระบาดของสายพันธุ์นี้เริ่มต้นจากอินเดีย เมียนมา จ.ท่าขี้เหล็กและเข้าสู่ไทย แต่เราควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้” นพ.โอภาส กล่าว