เมื่อพูดถึงการปฏิวัติ หลายคนคงรู้สึกเหมือนกันว่ามันคงจะเต็มไปด้วยการนองเลือด ยิ่งสมัยก่อนที่เวลามีเรื่องอะไรขึ้นมา ผู้คนต่างก็หุนหันพลันแล่น หัวร้อนกันง่ายและเดือดยิ่งกว่าของเหลวในกาต้มน้ำ ตัวอย่างที่เราคุ้นเคยกันดีคือ การปฏิวัติฝรั่งเศส (The French Revolution) ที่มีการลุกฮือและก่อความรุนแรง ระบอบกษัตริย์ถูกล้มล้าง ชนชั้นปกครองถูกจับหั่นคอด้วยเครื่องประหารกีโยติน แต่เมื่อการปฏิวัติฝรั่งเศสสิ้นสุดลงก็เหมือนฟ้าหลังฝน ผู้คนอยู่ดีกินดีไม่อดอยากแร้นแค้นเหมือนเก่า พวกเขาได้ในสิ่งที่เรียกร้องซึ่งต้องใช้หลายชีวิตแลกมันมา มิหนำซ้ำฝรั่งเศสยังเผื่อแผ่ความหวังครั้งใหม่เป็นมรดกตกทอดไปยังคนทั่วโลกอีกด้วย แล้วสิ่งที่ฝรั่งเศสหลังยุคปฏิวัติมอบให้โลกคืออะไร ไปหาคำตอบพร้อมกันในบทความนี้ได้เลยอย่างที่เรารู้กันดี ประชาชนชาวฝรั่งเศสลุกฮือขึ้นมาปฏิวัติบ้านเมืองก็เพราะพวกเขาอดอยากแร้นแค้น เศรษฐกิจถดถอยเพราะถูกชนชั้นปกครองเอารัดเอาเปรียบ แน่นอนว่ามันต้องมีเรื่องการซื้อขายเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเลี่ยงไม่ได้ แล้วพวกชนชั้นปกครองเอาเปรียบชาวบ้านอย่างไร ให้ผู้อ่านลองจินตนาการเวลาเราไปตลาดสด จะมีทั้งแม่ค้าที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ชั่ง ตวง วัด สินค้าให้เราแบบเที่ยงตรงไม่ขาดไม่เกิน และก็มีแม่ค้าหัวใสบางคนที่ใช้กลโกงเพื่อหวังกำไรเกินควร ปรับตาชั่งเพื่อขายสินค้าปริมาณน้อยลงแต่กำไรมากขึ้น เราซื้อเนื้อหมูหนึ่งกิโลกรัมแต่กลับได้มาเพียงเก้าร้อยกรัมในราคาเท่าเดิม ฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติก็เช่นเดียวกัน ขณะนั้นชาวบ้านถูกเอาเปรียบเพราะไม่มีมาตราชั่ง ตวง วัด ที่ได้มาตรฐานเรียกว่าไม่เฉพาะฝรั่งเศสแต่ทั่วทั้งยุโรปที่ใช้มาตราชั่ง ตวง วัด ตามธรรมชาติ ประมาณว่าตวงแป้งโดยใช้กำมือ วัดความยาวของขนมปังด้วยนิ้ว หรือวัดขนาดของเนื้อสัตว์โดยใช้ฝ่ามือ นั่นจึงเป็นช่องทางให้พวกขุนนางหัวใสใช้เอาเปรียบเหล่าพ่อค้าแม่ค้าจนยากจนแร้นแค้น เพราะไม่มีกำไรจากการค้าขาย อย่างกรณีตวงแป้งด้วยกำมือนี่เป็นเรื่องกระฉ่อนที่ทำให้ผู้คนรู้สึกถูกเอาเปรียบอย่างชัดเจน แน่นอนว่ามือแต่ละคนมีขนาดไม่เท่ากัน สมมติว่ามือพ่อค้ามีขนาดเล็ก แป้งที่ตวงได้ก็จะมีปริมาณน้อย พวกขุนนางจึงใช้มือของตัวเองที่มีขนาดใหญ่กว่า ตวงแป้งได้ในปริมาณมากกว่า แต่จ่ายเงินซื้อสินค้าด้วยราคาเท่าเดิมนั่นเองเมื่อการปฏิวัติฝรั่งเศสสิ้นสุดลงพร้อมด้วยชัยชนะของประชาชน รัฐบาลปฏิวัติที่ขึ้นครองอำนาจจึงต้องการปฏิรูปประเทศให้มีความก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำลายระบบเจ้าขุนมูลนายและระบบศักดินา ล้มล้างศาสนจักรที่ปั่นหัวประชาชนไม่ให้เกิดการเรียนรู้มาตลอดยุคมืด พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนโดยการกระจายการซื้อขายสินค้าอย่างเป็นธรรม และเรื่องสำคัญคือ การคิดค้นมาตราชั่ง ตวง วัด ขึ้นมาใหม่ให้ได้มาตรฐาน เรียกว่าระบบเมตริก (Metric System) โดยมาจากหน่วยวัดที่ใช้เลขฐานสิบคือ เมตร (Meter) ซึ่งระบบเมตริกถูกบังคับใช้ครั้งแรกในปี 1795ผู้มีส่วนสำคัญในการร่างกฎหมายบังคับใช้ระบบเมตริกคือ มาร์กี เดอ กงดอร์เซ (Marquis de Condorset) ซึ่งเขามีอุดมการณ์ว่าระบบเมตริกที่ฝรั่งเศสคิดค้นขึ้นนี้ จะกลายเป็นมรดกแก่คนทั่วโลก ระบบเมตริกนี้จะทำให้การชั่ง ตวง วัด ได้มาตรฐาน ถูกต้องและเที่ยงตรงมากกว่าการกะเกณฑ์ตามความรู้สึกของคนโบราณ ดังนั้นเมื่อระบบใหม่ถูกบังคับใช้ต่างก็เป็นที่พอใจของประชาชน เนื่องจากเป็นระบบที่เข้าใจง่าย นับด้วยเลขฐานสิบทำให้การซื้อขายสินค้าถูกต้องแม่นยำ และที่สำคัญยังทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสสามารถเก็บภาษีจากประชาชนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย สามารถนำมาพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเกรงกลัวอำนาจและสิทธิประโยชน์ส่วนตนของศาสนจักรและพวกขุนนางอีกต่อไประบบเมตริกกลายเป็นมาตราชั่ง ตวง วัด ระบบสากลที่ทุกประเทศทั่วทั้งยุโรปใช้กันอย่างกว้างขวาง เวลาผ่านไปจึงกลายเป็นระบบของคนทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศอังกฤษที่มีระบบอิมพีเรียล (Imperial System) เป็นของตัวเอง ปัจจุบันทุกประเทศใช้ระบบเมตริกด้วยกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการวัดระยะทาง วัดส่วนสูง วัดปริมาณ ต่างก็ใช้หน่วยวัดประเภทเมตร กิโลเมตร เซนติเมตร และมิลลิเมตร ด้วยกันทั้งนั้น ยกเว้นสหรัฐอเมริกา ไลบีเรียและพม่า ที่ยังคงใช้ระบบอิมพีเรียลคือการวัดเป็นฟุต หลา หรือเป็นไมล์ นี่จึงเป็นมรดกชิ้นสำคัญที่รัฐบาลปฏิวัติของฝรั่งเศสมอบให้แก่คนทั่วโลก คนไทยเราจากที่วัดเป็นคืบเป็นศอกก็เปลี่ยนมาใช้ระบบเมตริก ทำให้การซื้อขายสินค้าและกิจกรรมอื่น ๆ ที่ต้องพึ่งพาการวัดได้มาตรฐาน ถูกต้องและเที่ยงตรงมากขึ้นนั่นเองเครดิตรูปภาพ- รูปภาพหน้าปก โดย Darling Arias : UNSPLASH- ภาพประกอบที่ 1 โดย WikiImages : PIXABAY- ภาพประกอบที่ 2 โดย William Warby : UNSPLASH- ภาพประกอบที่ 3 โดย Jackmac34 : PIXABAY- ภาพประกอบที่ 4 โดย Vlad Kutepov : UNSPLASHเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่Youtube, Why the metric system matters - Matt Anticole : TED-Ed