รีเซต

ชง มท. เสนอไล่ออก 2 บิ๊ก ขรก. สำนักงานจังหวัด หลังปล่อยลูกจ้างสาวโกงงบหลวง 40 ล้าน

ชง มท. เสนอไล่ออก 2 บิ๊ก ขรก. สำนักงานจังหวัด หลังปล่อยลูกจ้างสาวโกงงบหลวง 40 ล้าน
มติชน
11 ตุลาคม 2563 ( 17:14 )
135

     จากกรณี น.ส.ขนิษฐา หอยทอง อายุ 28 ปี พนักงานราชการ สำนักงาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถูกแจ้งดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ ปลอมเอกสารของทางราชการ และใช้เอกสารปลอม เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563 หลังจากนำเงินงบประมาณของทางราชการกว่า 40 ล้านบาท โอนผ่านระบบการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ GFMIS เข้าบัญชีส่วนตัว และ พบการกระทำความผิด 165 ครั้ง โดยรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหานำเงินไปเล่นพนันออนไลน์ ต่อมาพนักงานอัยการคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 จ.สมุทรสงครามมีคำสั่งปล่อยตัว น.ส.ขนิษฐา หอยทอง พ้นการคุมขังที่เรือนจำกลาง จ.สมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2563 เนื่องจากครบกำหนดฝากขังครั้งละ 12 วัน จำนวน 7 ผัด รวม 84 วัน

 

วันที่ 11 ตุลาคม นายกิตติพงษ์ สุขภาคกุล ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีการทุจริตเงินงบประมาณ 40 ล้านบาท เปิดเผยว่า หลังจากมีปัญหากรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง นำข้อบกพร่องในระบบไปปรับปรุงเพื่อป้องกันการทุจริต ขณะที่คณะกรรมการฯได้สรุปรายงานผลการสอบสวนส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัด จากนั้นจะส่งให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด เพื่อสอบวินัยร้ายแรง ตามเอกสารหลักฐานที่ปรากฎ สำหรับการทุจริตยอมรับว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด (สตง.)ไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากจะต้องตรวจสอบการทุจริตในจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น ขณะที่ระหว่างการสอบสวน น.ส.ขนิษฐา ได้นำเงินไปเล่นการพนันออนไลน์ได้เงิน 18 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามเส้นทางการเงินและเชื่อว่าเงินที่ทุจริตยังมีเหลือนอกระบบ ส่วนเงินที่ราชการได้คืนมีเพียง 6 ล้านบาท

 

มีรายงานว่า ผลการสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้มีการสอบวินัยและ สอบทางละเมิด ให้ผู้เกี่ยวข้องรับผิดชอบด้วยการชดใช้ค่าเสียหายให้ทางราชการ จากการสอบสวนพบว่าปัญหาเกิดจากความบกพร่องของผู้บังคับบัญชาในหน่วยงาน หัวหน้างานการเงิน และ น.ส.ขนิษฐา ซึ่งมีความชำนาญในการเบิกจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงได้รับความไว้ใจจากผู้บังคับบัญชามอบคีย์การ์ด 2 ใบให้เก็บไว้ทำการเบิกจ่ายเงิน จากปกติคีย์การ์ด 2 ใบ จะมอบให้หัวหน้าฝ่ายการเงินและบัญชี เก็บไว้พร้อมกับรหัสผ่าน 1 ใบ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเก็บไว้1 ใบพร้อม 2 รหัสผ่าน เพื่อทำการอนุมัติกับเบิกจ่ายเงินงบประมาณของจังหวัด แต่ข้าราชการทั้ง 2 รายมอบคีย์การ์ด และรหัสผ่านทั้งหมดให้ น.ส.ขนิษฐา ดำเนินการทุจริตตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ถึงเดือนมิถุนายน 2563

 

รายงานระบุว่า กรณีนี้ถือเป็นความบกพร่องของผู้บังคับบัญชา โดยเกี่ยวข้องกับหัวหน้าการเงินและหัวหน้าสำนักงานจังหวัด หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจในการเบิกจ่ายรวมทั้งหมด 5 คน โดยผลสอบระบุว่า หัวหน้างานการเงิน หัวหน้าสำนักงาน เข้าข่ายประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ หลังการสอบสวนอาจดำเนินการทางวินัยร้ายแรง ให้ออกหรือไล่ออกจากราชการตามข้อสรุปในการสอบสวนและ หากผลสอบทางละเมิดพบว่ามีความบกพร่อง กรมบัญชีกลางได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการชดใช้ความเสียหายตามสัดส่วนที่กำหนด เพื่อคืนงบให้ทางราชการ

 

ด้านแหล่งข่าวจากข้าราชการฝ่ายปกครองระดับสูง ระบุว่า ล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดพยายามหาเงินเหลือจ่ายจากโครงการอื่นชดใช้คืนในระบบ คาดว่าจะสามารถคืนงบประมาณค่าค้ำประกันสัญญางานรับเหมาประมาณ 12 ล้านบาท คืนให้ผู้รับเหมา สำหรับสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ให้ความร่วมมือในการสอบสวน แต่ปัญหาจากการเบิกจ่ายจาการลงลายมือชื่อปลอมในเช็ค จะต้องถูกดำเนินคดีทางแพ่งเพื่อให้ร่วมชดใช้ค่าเสียหาย ขณะที่คดีนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าในการขั้นตอนการสอบสวน มีการวิ่งเต้นล้มคดีจากบางฝ่ายหรือไม่ เพราะการทำสำนวนส่งฟ้อง มีการนำข้อมูลจากเอกสารที่มีการสอบข้อเท็จจริงของจังหวัดแทบทั้งหมด

 

“นอกจากนั้นได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการคดีทุจริตภาค 7 เพื่อสรุปส่งฟ้องในระยะเวลากระชั้นชิดอาจมีเจตนาตัดตอน ก่อนครบกำหนดการฝากขัง น.ส.ขนิษฐา ไม่กี่วัน ทำให้พนักงานอัยการฯไม่สามารถสรุปสำนวนส่งฟ้องได้ทันตามกำหนด และสั่งให้พนักงานสอบสวนทำสำนวนเพิ่มเติม เป็นเหตุให้ น.ส.ขนิษฐาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และล่าสุดสามีนอกสมรสของ น.ส.ขนิษฐา ซึ่งเป็นลูกจ้างสำนักงานจังหวัดได้ลาออกแล้วหลังหมดสัญญาจ้างรายปี” แหล่งข่าว กล่าว

 

ด้านแหล่งข่าวจากทีมพนักงานสอบสวน ภ.จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปสำนวนเพื่อส่งให้อัยการภาค 7 ส่งฟ้องศาลคดีทุจริตฯโดยประสานกับพนักงานอัยการเพื่อตรวจสอบการทำสำนวนแยกรายละเอียดทั้ง 165 คดี หากพนักงานอัยการได้ข้อสรุปจากเอกสารหลักฐานยืนยันว่าสามารถส่งฟ้องได้ จะแจ้งให้พนักงานสอบสวน สภ.เมืองควบคุมตัวผู้ต้องหา 3 ราย ส่งพนักงานอัยการเพื่อส่งฟ้องต่อศาลฯ จากผู้ต้องหาต้องยื่นขอประกันตัวในชั้นศาลฯ สำหรับผู้ต้องหา 3 รายประกอบด้วย น.ส.ขนิษฐา หอยนทอง นางสายพิณ ดิบดีคุ้ม มารดา น.ส.ขนิษฐา และนางประชิต วงศ์ประภารัตน์ หัวหน้าการเงิน สำนักงานจังหวัด

 

“ขณะนี้ น.ส.ขนิษฐายังไม่มีพฤติกรรมหลบหนี ขณะที่การทำสำนวนก่อนส่งพนักงานอัยการ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดคนใหม่จะเรียกประชุมคณะพนักงานสอบสวนอีกครั้ง แต่คาดว่าจะสรุปส่งอัยการได้ภายในเดือนตุลาคม นี้ สำหรับคดีนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า หน่วยงานในจังหวัดเร่งรัดแจ้งความเร็วเกินไป เพราะเกรงว่า น.ส.ขนิษฐา จะหลบหนี โดยไม่ได้รวบรวมหลักฐานให้รัดกุม ทำให้พนักงานสอบสวนมีเวลาทำสำนวนเพียง 84 วัน ขณะที่มีเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ประกอบกับเมื่อครบเวลาสอบสวน 30 วันพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้ ปปช.จังหวัดดำเนินการ แต่ ปปช.ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในคดีทุจริต ได้ส่งสำนวนให้ตำรวจดำเนินคดีอาญา เนื่องจาก ปปช.เห็นว่าผู้ต้องหาไม่ได้รับการประกันตัว เกรงว่าหากสรุปการทำสำนวนล่าช้าโดยใช้เวลานานกว่า 2 ปี จะต้องมีการปล่อยตัวผู้ต้องหาหลังครบกำหนดฝากขังเช่นกัน” แหล่งข่าว กล่าว