รีเซต

การัณย์ อังอุบลกุล ศก.โลกฟื้น-ส่งออกสดใส

การัณย์ อังอุบลกุล ศก.โลกฟื้น-ส่งออกสดใส
มติชน
19 กันยายน 2564 ( 13:13 )
56
การัณย์ อังอุบลกุล ศก.โลกฟื้น-ส่งออกสดใส

 

 

ภาคการส่งออก ผมในฐานะนักธุรกิจ ยังมองว่าการส่งออกโดยรวมของไทย ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เพราะเรามีจุดเด่น ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ในด้านห่วงโซ่ อุปทาน (ซัพพลายเชน) ในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น ตอนนี้การส่งออกของไทยได้รับอานิสงส์ จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักอย่าง สหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน หรือตลาดทั่วไป ก็ยังขยายตัวเป็นบวก ทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้า ไปเติมเต็มห่วงโซ่อุปทาน ของแต่ละอุตสาหกรรมในประเทศนั้นๆ จึงมองว่าการส่งออกไทย ยังมีความหวังจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากเดือนที่เหลือปีนี้ถึงปีหน้า และขยายตัวได้ดีในเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

 

 

สำหรับการส่งออกของสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งสินค้าเราจะอยู่ในกลุ่มนี้เป็นหลัก ก็ขยายตัวได้ดีเช่นกัน ยิ่งตอนนี้ผลจากการที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ มีการปลดล็อกดาวน์ ร้านอาหารเปิดบริการแล้ว บรรยากาศที่เห็นคือผู้คนที่อัดอั้นมานาน ออกจากที่พักเพื่อใช้จ่ายกันมากขึ้น กิจกรรมพบปะเริ่มมากขึ้น หากจากนี้จะมีการผ่อนคลายต่อเนื่อง และความต้องการสินค้า ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปีหน้าแนวโน้มก็ยังดี และการซื้อขายมีโอกาสกลับมาเทียบเท่าปี 2562 ก่อนที่ยังไม่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้

 

 

แต่ขณะเดียวกันยังต้องระวัง เพราะหลังจากการคลี่คลายของโควิด-19 ในช่วงแรก กำลังซื้อจะยังไม่กลับมาในทันที ฉะนั้น สินค้าที่เคยส่งออกได้ดีในปีนี้ก็จะดียาวถึงปีหน้าด้วย ซึ่งการเติบโตหลักมาจากขาดแคลนสินค้าที่เคยตุนไว้ หรือสต๊อกหมดลง จากช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้เกิดการชะลอการสั่งซื้อมาเป็นเวลานาน เมื่อมีการเติมเต็มในระดับหนึ่งแล้ว ก็จะเกิดการชะลอการสั่งซื้ออีกครั้ง ดังนั้นยังต้องระวัง ว่าอาจไม่ใช่การกลับมาของกำลังซื้อจริงๆ ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ย่ำแย่อยู่ โดยเฉพาะกับประเทศที่ไม่สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ หรือประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อขึ้นสูง หลังจากที่มีการผ่อนคลาย และอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาต้นทุนด้าน

 


โลจิสติกส์ที่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าระวางเรือ ค่าขนส่งทางเครื่องบิน และความไม่สมดุลของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าต่างๆ เช่น เหล็ก เซมิคอนดักเตอร์ วัตถุดิบต่างๆ ที่ผลิตไม่ทันตามต้องการใช้ในอุตสาหกรรม ทำให้การผลิตสินค้าที่ต้องการส่วนประกอบเหล่านี้ ผลิตไม่ได้ หรือชะลอไป ซึ่งผลให้ส่งออกได้น้อยลง

 

 

ในส่วนของ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ โคราช จำกัด เรามีการปรับตัวในช่วงมีการระบาดโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน โดยมุ่งเน้น 7 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก คือ มาตรการความปลอดภัย ซึ่งต้องบริหารจัดการแยกคนแยกเชื้อ และรักษาผู้ที่ป่วยจากโควิด ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ โดยไม่ให้ขาดตอน สามารถเดินหน้ากิจการได้โดยไม่ถูกปิด และมีการให้พนักงานบางส่วนทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ขณะเดียวกันได้ติดตามลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพราะว่าช่วง

 


โควิด-19 ทุกอย่างหยุดชะงักหมด ดังนั้นจึงติดต่อพูดคุยกับลูกค้าตลอดเวลา เกือบทุกวัน เพื่อปรับแผนการผลิตกับการสั่งวัตถุดิบให้สอดคล้องกับความต้องของลูกค้า และความผันผวนของตลาด

 

 

การดูแลเรื่องกระแสเงินสด เป็นอีกเรื่องที่สำคัญอย่างมาก ต้องทำการเร่งรัด การชำระหนี้ต่างๆ และดูเรื่องของการยืดเวลาชำระหนี้ด้วย นอกจากนี้ คือการเร่งระบายสินค้าในสต๊อก ทำการจำหน่ายในประเทศ ผ่านงานมหกรรมในช่วงที่เคยจัดได้ และทำโปรโมชั่น

 


ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ในส่วนลูกค้าต่างประเทศ หากถูกปิดประเทศขนส่งสินค้าไม่ได้ ต้องติดตามว่าจะส่งสินค้าได้เมื่อไหร่ ทำการควบคุมค่าใช้จ่าย ตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออก และชะลอการลงทุนที่ไม่เร่งด่วนออกไป รวมทั้งทำการสำรวจสิ่งของ ทรัพย์สินต่างๆ อาทิ เครื่องจักร แม่พิมพ์ ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว จัดการเอาออกมาขาย เพื่อให้ได้กระแสเงินสดเพิ่มเข้ามา สุดท้าย คือ ต้องปรับอัตรา กำลังคน ให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตตามความต้องการของตลาดในปัจจุบัน

 

 

หลังจากโควิด-19 คลี่คลายแล้ว สิ่งที่ต้องทำก็คือ การมองแนวโน้มของตลาดในอนาคต แม้ว่าของที่มีอยู่ก็คงจะกลับมาจำหน่ายได้ตามเดิม เมื่อกลับสู่ภาวะปกติ แต่ถ้าต่อไปในอนาคต ก็ต้องมองไปถึงแนวโน้มข้างหน้าด้วย ว่ามันมีอะไรบ้าง ปัจจุบันตลาดที่กำลังได้รับความนิยมคือ 1.สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ 2.สินค้าที่เป็นมิตรและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม 3.สินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ที่ในอนาคตคงขาดไม่ได้ และ 4.พลังงานทางเลือก ซึ่งบริษัท ศรีไทยเอง ได้ทำการปรับตัวสินค้า เช่น เกี่ยวกับความปลอดภัยของภาชนะ เช่น จาน ชาม ของศรีไทย ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ออุตสาหกรรม (มอก.) ว่าปลอดภัย ต่อผู้บริโภค ขณะเดียวกันได้พัฒนาสินค้าให้เหมาะกับวิถีชีวิตใหม่ (นิวนอล์มอล) เช่น การออกผลิตภัณฑ์ จานชามที่มีฝาครอบ เพื่อให้มีความปลอดภัย ลดโอกาสที่จะมีสิ่งเจือปน

 

 

นอกจากนี้ ในอนาคตยังวางแผนจะผลิตชิ้นส่วนพลาสติก สำหรับเป็นส่วนประกอบในอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือชิ้นส่วนในรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีน้ำหนักเบาขึ้น เพื่อเป็นการลดใช้วัตถุดิบ และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน รวมทั้งเลือกใช้ไบโอพลาสติก นำวัตถุดิบที่ย่อยสลายได้มาใช้มากขึ้น และนำพลาสติกไปรีไซเคิล เช่น นำถังสีไปรีไซเคิลใหม่ โดยมีมาตรฐานเช่นเดิม เพื่อช่วยลดขยะพลาสติก และมีแผนที่จะลงทุนในต่างประเทศเพิ่มอีก เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต เช่น ที่เวียดนาม กำลังจะขยายโรงงานเมลามิน ขณะนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจใดที่มีความพร้อม เพราะหลายประเทศต้องการให้ดึงนักลงทุนต่างชาติเข้าประเทศ ซึ่งได้สิทธิประโยชน์เข้าไปลงทุนได้ง่าย

 

 

จากที่กล่าวไปข้างต้นว่า การส่งออกในปี 2564 สดใสกว่าปีก่อน และยังได้เปรียบมาจากการขาดแคลนของสต๊อก ขณะเดียวกันได้เปรียบจากส่วนต่างของค่าเงินบาทที่อ่อนลง แต่สิ่งที่อยากแนะนำ คือ ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ต้องเน้นเรื่องการวางแผนล่วงหน้าให้มากขึ้นอีก ว่าจะทำอย่างไร ทำอะไรจากนี้ ให้สามารถผลิตสินค้าให้ทันความต้องการของตลาดโลก ดังนั้น การพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงสำคัญ ให้มีทักษะที่หลากหลาย รวมทั้งปรับปรุงเครื่องจักร นำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติมาใช้

 

 

เรื่องต่อมาคือ ยังประมาทเรื่องการแพร่ระบาดของโควิดไม่ได้ ต้องรักษามาตรการความปลอดภัย แยกคนแยกเชื้อ และรักษาผู้ติดเชื้อ ควบคู่การรักษากำลังการผลิต ให้ธุรกิจดำเนินต่อได้ ต่อมาคือเรื่อง ถึงแม้สถานการณ์เศรษฐกิจจะฟื้นแล้ว แต่ไม่ควรประมาทเช่นกัน ยังต้องดูแลสถานะการเงินอย่างใกล้ชิด พร้อมปรับตัวตลอดเวลา สำรวจและพูดคุยกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจ ว่าธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ ในทุกสถานการณ์ไม่ว่าการระบาดจะมาอีก คลี่คลายลง หรือยังยืดเยื้อ

 

 

อีกเรื่องคือ ค่าระวางเรือที่ยังสูง และตู้คอนเทน เนอร์ยังขาดแคลนอยู่ต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการหลายราย แม้ผลิตได้ แต่ส่งมอบสินค้าไม่ได้ เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นการเพิ่มต้นทุน ทั้งลูกค้ายังไม่ได้สินค้า เลยยังไม่ได้จ่ายเงิน และต้องหา หรือเช่าคลัง หรือโกดัง เพื่อเก็บสินค้าจนกว่าจะส่งมอบได้ ขณะที่การผลิตยังต้องทำต่อเนื่องเพื่อพยุงแรงงาน

 

 

แต่การที่มีความต้องการสูง เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เลือกลูกค้า หรือคู่ค้าที่ชั้นดี ที่สั่งสินค้าต่อเนื่อง จ่ายเงินเร็วได้ ทำให้มีกำไรที่ดี ขณะเดียวกันผู้ประกอบการสามารถขอให้ลูกค้าวางแผนระยะยาวได้ เช่น ลูกค้าบางรายสั่งจองสินค้า ให้ส่งช่วงปลายปี จะทำให้ผู้ประกอบการนำคำสั่งซื้อมาผลิตได้ในช่วงโลว์ซีซั่น พอถึงเวลาก็พร้อมส่งและจองเรือขนส่งได้ก่อน หรือลูกค้าบางราย สามารถขอให้วางมัดจำ หรือจ่ายเงินล่วงหน้า เพื่อช่วยสภาพคล่องของผู้ประกอบการได้ รวมทั้งวางแผนล็อกราคาวัตถุดิบได้ก่อน เมื่อได้รู้คำสั่งซื้อแล้ว

 

 

สุดท้ายคือ เรื่อง นวัตกรรม ต้องทำการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คอยใกล้ชิดกับลูกค้า ดูว่าตลาดต้องการอะไร ผลิตภัณฑ์แบบไหน ให้เหมาะกับตลาดในอนาคต

 

 

สำหรับด้านการสนับสนุนจากภาครัฐ อยากให้ภาครัฐช่วยเจรจาความตกลงทางการค้ากับประเทศต่างๆ ในกรอบการเปิดเสรีการค้าให้ทันเหตุการณ์ ทันกับประเทศคู่แข่งที่เขาเข้าเป็นภาคี หรือเปิดเจรจาแล้ว เพื่อสร้างขีดความสามารถการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการไทย ให้แข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ นอกจากนี้ ยังต้องทำมาตรการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้มาลงทุนในไทยด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจ ว่าเมื่อลงทุนในไทยแล้ว สามารถผลิตสินค้า เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศได้ เช่น ข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ)

 


ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศยุโรป ที่ถูกตัดสิทธิพิเศษทั่วไปเรื่องภาษี (จีเอสพี) ไป ซึ่งการส่งออกไปยังยุโรปคิดเป็น 8% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ถ้าภาครัฐช่วยเจรจาได้ รัฐบาลน่าจะกำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่ ถ้าหากทำสำเร็จ จะช่วยขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการในไทยได้

 

 

เรื่องที่สอง อยากให้ภาครัฐดูแลและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่อง เห็นด้วยในการผลักดันเดินหน้าประเทศ สนับสนุนทุกมาตรการเพื่อลดการระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะเร่งกระจายฉีดวัคซีนที่รวดเร็วและทั่วถึงมากที่สุด โดยเฉพาะการเข้าถึงวัคซีนของแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นกำลังแรงงานสำคัญในภาคการผลิต และเมื่อมีวัคซีนเข้าจำนวนมาก ควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนไปรับการฉีดวัคซีน วัคซีนมีวันหมดอายุ ถ้านำเข้ามาและไม่เร่งฉีดจะเหมือนกับในต่างประเทศ หลายประเทศที่ประมาท ฉีดไม่ทันก่อนยาหมดอายุ ทำให้เสียวัคซีนไปฟรีๆ

 

 

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ถือเป็นกระดูกสันหลัง หรือเป็นกำลังสำคัญของภาคธุรกิจ ภาครัฐควรต้องช่วยส่งเสริม ทั้งเรื่องเพิ่มสภาพคล่อง การปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยเหลือออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และช่วยให้กลุ่มนี้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จริงๆ นอกจากนี้ อยากให้ภาครัฐช่วยดูแลและเติมเต็มในเรื่องแรงงานต่างด้าวจากสถานการณ์
โควิด-19 ที่มีแรงงานกลับบ้านจำนวนมาก และยังไม่กลับเข้าระบบแรงงาน จึงทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน ควบคู่กับการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรและเทคโลโนยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงอยากให้ภาครัฐช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องขั้นตอนเอกสาร ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น ปรับเป็นการทำงานผ่านระบบออนไลน์ หรือทำให้ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐและภาคธุรกิจเพื่อการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์
กับต่างประเทศ (National Single Window หรือ NSW) เป็นจริง

 

 

กำลังเข้าโค้งสุดท้ายของปี 2564 ใกล้เทศกาลปีใหม่ 2565 เชื่อว่าการส่งออกก่อนปลายปียังมีความสดใส จากนี้เชื่อว่าสถานการณ์ระบาดและเศรษฐกิจของหลายประเทศ เช่น สหรัฐ ยุโรป จีน ที่ผ่อนคลายแล้วจะยิ่งดีขึ้น เชื่อว่าหลายประเทศปีใหม่นี้จะเริ่มดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ ร้านอาหารและห้างสรรพสินค้าเปิดบริการเต็ม 100% เชื่อว่าหลังที่คนมีความอัดอั้นมานาน จะเป็นตัวเร่งออกมาจับจ่ายใช้สอยกัน คำสั่งซื้อสินค้าเข้าประเทศกำลังเพิ่มขึ้น หลายประเทศคนส่วนใหญ่เริ่มออกมาจับจ่ายแล้ว เดินทาง หรือท่องเที่ยว จากมาตรการผ่อนคลายและยังดูแลป้องกันการระบาดโควิด-19 ไม่ให้เพิ่มขึ้น ทำให้คนมั่นใจมากขึ้น ต่อการใช้ชีวิตนอกบ้าน และเชื่อว่า 1-2 เดือนก่อนปลายปี ตัวเลขส่งออกยังเติบโตได้ต่อเนื่อง

 

 

สำหรับบริษัทศรีไทย ปี 2563 การแพร่ระบาดโควิด-19 ไปทั่วโลก ยอดรายได้ตกพอควร แต่ปี 2564 กลับมาฟื้นตัวได้ประมาณ 80% หากเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 เมื่อเปรียบเทียบ การส่งออกปี 2564 ขยายตัวเป็น 2 เท่าเทียบปี 2563 หลายประเทศที่เรามีโรงงาน ถ้าประเทศไม่มีการล็อกดาวน์ หรือล็อกดาวน์นาน
ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าล็อกดาวน์นาน อย่างอินเดีย ช่วงล็อกดาวน์ยอดการสั่งซื้อเงียบเลย ตอนนี้ดีขึ้น เช่นเดียวกับตลาดเวียดนาม ช่วงล็อกดาวน์ก็เข้มงวด ร้านอาหารเปิดไม่ได้ การสั่งซื้อเงียบเช่นกัน เชื่อมั่นถ้าโควิด-19 คลี่คลายกำลังซื้อจะดีดกลับแน่นอน

 

 

ตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐ ยุโรป หรือดูไบ ตลาดเริ่มกลับมาแล้ว อย่างงาน ดูไบ เอ็กซ์โป กำหนดจัดเดือนตุลาคม ยอดจองเข้าชมงานดีขึ้นมาก กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง แม้ฟื้นตัวแล้ว แต่กำลังซื้อยังค่อนข้างต่ำ ต้องการสินค้าราคาประหยัด ดังนั้นบริษัทก็ปรับตัวหันมาออกผลิตภัณฑ์มาตรฐานราคาย่อมเยาว์มากกว่าปกติ เพื่อรักษาการตลาดและช่วยผู้บริโภคลดภาระ การทำธุรกิจตั้งแต่ปีที่แล้ว ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก ถ้ามองจริงๆ ก็เป็นสิ่งที่ดี

 


โควิด-19 เหมือนเป็นพลังให้มีความเข้มแข็งจากที่สนใจแต่เรื่องขยาย ก็หันมามองทำให้ธุรกิจกระชับขึ้น วางแผนต้องรัดกุม พอผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ ก็จะทำให้เราเข้มแข็งกว่าเดิม พัฒนาไปอีกก้าว

 

 

ธุรกิจย่อมยินดีที่ประเทศไทยประกาศและผลักดันการเปิดประเทศ ตามที่กำหนดไว้ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 นั้น ตลาดซื้อขายในประเทศ การจับจ่ายของประชาชนจะฟื้นตัวหรือไม่ มองได้ 2 ส่วน คือ มีทั้งความกังวล และอยากให้เปิด แต่การจับจ่ายใช้สอยอาจจะยังเงียบไปบ้าง และพอเวลาผ่านไปสัก 1-2 สัปดาห์ เมื่อมั่นใจต่อสถานการณ์ดีขึ้นคนจะกลับมาใช้จ่าย ที่อยากฝากไว้คือ เรายังต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 ผมเชื่อว่ามันคงอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่ายอดฉีดวัคซีนครบ และยังถ้าจัดการป้องกันแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดีขึ้น ค่อยๆ เปิดประเทศก็เป็นสิ่งที่ดี

 

 

นอกจากบทสัมภาษณ์ดังกล่าวแล้ว สามารถรับฟังได้เพิ่มเติมในงานสัมมนา
ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย จัดโดยมติชน ร่วมกับพันธมิตรชั้นนำ โดยนายจุรินทร์
ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษ ความหวัง ส่งออกไทย ในมรสุมโควิด จากนั้นเปิดมุมมอง บอกเล่าทิศทางการทำงานภาครัฐ ในวงเสวนา 2021 สู่ 2022 ทิศทางส่งออกไทย โดยนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

 


ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

 

 

อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญที่พลาดไม่ได้! กับวงเสวนา มุมมองผู้ส่งออก ความหวังเศรษฐกิจไทย
ตัวแทนจากภาคเอกชน ที่จะมาร่วมถอดบทเรียนในครั้งนี้ นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติคุณสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และ ดร.การัณย์ อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ โคราช จำกัด

 

 

ในวันพุธที่ 22 กันยายน 2564 เวลา 09.00-12.00 น. ในรูปแบบ Live Streaming ที่

FB : Matichon Online – มติชนออนไลน์

FB : Khaosod – ข่าวสด

FB : Prachachat – ประชาชาติธุรกิจ

YouTube : matichon tv – มติชน ทีวี

.#มติชน #สัมมนา #ปลุกพลังส่งออกพลิกเศรษฐกิจไทย #ประเทศไทยไปต่อ