ทุกคนไม่มีใครเป็นอมตะ จะช้าหรือเร็วก็ต้องเผชิญหน้ากับความตาย แต่ก่อนจะไปถึงวันนั้น วันที่บุพการีกำลังจะตาย เราก็ต้องตายในสักวันหนึ่ง เราจะมีวิธีการเตรียมตัวอย่างไร ให้การตายของคนที่เรารักและตัวเราเองไม่สูญเปล่า ทำอย่างไรให้ชีวิตหลังความตายจะได้ไปสู่ภพภูมิที่ดีและไปสู่สุคติอย่างที่คาดหวัง ณัฐพบธรรม ธนันท์เมธากรณ์ จะมาถ่ายทอดประสบการณ์ตรงที่เคยเกิดขึ้นกับคุณพ่อของเขา และต้องการให้เราทุกคนเข้าใจว่าเราต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะให้คนที่เรารักและตัวเราเองจากโลกนี้ไปถึงสุคติภูมิ ความรู้ความประทับใจในมุมมองของครีเอเตอร์ พระพุทธเจ้าทรงสอน (อิฏฐสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ข้อ ๔๓) ว่า การขอพรไม่ได้ช่วยให้เราได้สิ่งที่หวัง และทรงสอนว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปเพราะกรรม หมายความว่า ความเจ็บป่วยและความตายเป็นไปตามกรรมและอายุขัยของแต่ละคน คนป่วยจะหายหรือเสียชีวิตขึ้นอยู่กับการรักษาและกรรมที่เขาได้ทำมา หากยังไม่ถึงเวลาจะตาย แม้เราไม่ได้อ้อนวอนขอพรจากใคร ผู้ป่วยก็รอดชีวิต แต่ถ้าถึงเวลาตาย ไม่ว่าเราจะอ้อนวอนขอพรจากใครๆ ผู้ป่วยก็ต้องเสียชีวิตอยู่ดี การที่เราจะทำแบบนั้นได้ เราก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องก่อนว่าสิ่งที่จะส่งผลต่อการไปเกิดใหม่คือ จิตสุดท้าย (จิตตฌายสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-สุตตนิบาต ข้อ ๑๙๙) กล่าวคือ หากจิตสุดท้ายในวินาทีที่ตายเป็นจิตที่ผ่องใส เป็นกุศล เช่น สุขใจ ปลื้มใจ สบายใจ ปล่อยวาง จะไปเกิดใหม่ในสุคติภูมิ อันได้แก่ นิพพาน พรหม เทวดา มนุษย์ แต่ถ้าจิตสุดท้ายเป็นจิตที่หม่นหมอง เป็นอกุศล เช่น ทุกข์ใจ หดหู โกรธ ห่วงญาติ หวงสมบัติ ก็จะไปเกิดใหม่ในทุคติภูมิ อันได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน โดยสิ่งที่จะส่งผลต่อจิตสุดท้ายของเรา (อรรถกถาเล่มที่ ๖๙ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค หน้า ๔๒๑) 1.กรรมหนักที่เคยทำ (ครุกรรม) หมายถึง กรรมที่ได้บุญหรือได้บาปหนักมาก โดยกรรมหนักฝ่ายชั่ว คือ ฆ่าพ่อฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายให้พระพุทธเจ้าห้อพระโลหิตขึ้นไป ทำสงฆ์ให้แตกแยกกัน ส่วนกรรมหนักฝ่ายดีก็คือ การบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันขึ้นไป 2.กรรมที่ทำตอนใกล้ตาย (อาสันนกรรม) หมายถึง การกระทำทางกาย วาจา ใจ ที่ทำก่อนตาย (ไม่นาน) แล้วจิตยังคงยึดโยงกับกรรมนั้นๆ เช่น ก่อนจะตายเพิ่งไปทำบุญมาแล้วตาย หรือตายขณะฟังธรรม ซึ่งจิตมีความผ่องใส หรือก่อนตายไปยิงนกแล้วตาย หรือตายขณะที่จิตมีความโกรธ หรือตายด้วยความรู้สึกหวงสมบัติ เป็นต้น 3.กรรมที่ทำเป็นประจำ (อาจิณณกรรม) หมายถึง กรรมที่ทำบ่อยๆ หรือทำเป็นนิสัย เช่น คนที่ทำบุญจนเป็นนิสัย เช่น คนฆ่าหมูขายเป็นอาชีพ 4.กรรมที่มีเจตนาอ่อน (กตัตตากรรม) หมายถึง กรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำโดยไม่ตั้งใจ เช่น เผลอตบยุง หรือได้รับเงินทอนแล้วไม่อยากเก็บเหรียญจึงหย่อนเงินใส่ตู้บริจาค โดยการแสดงผลของกรรมต่อจิตสุดท้ายตามลำดับหมายความว่าใครที่เคยทำกรรมหนักในชาตินี้ ตอนที่กำลังจะเสียชีวิต กรรมหนักจะส่งผลต่อจิตสุดท้ายก่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขออโหสิกรรม ความโกรธและความไม่พอใจเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้จิตหม่นหมองได้ การขออโหสิกรรมด้วย การได้ขออภัยและให้อภัยซึ่งกันและกันจะช่วยให้จิตผ่องใสได้ง่ายขึ้น - ในมุมของผู้ป่วย : เราควรขอโทษคนรอบข้างที่เรา อาจเคยล่วงเกินเอาไว้ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม รวมถึงควรขอโทษคนที่โกรธหรือไม่พอใจเรา แม้ว่าจะติดต่อคนคนนั้นไม่ได้ก็ควรจะกล่าวขอโทษออกมาอาจจะด้วยการบันทึกเสียงหรือวิดีโอ เพราะแม้ว่าเขาจะไม่รับรู้ แต่อย่างน้อยตัวเราเองก็รับรู้ จะทำให้ใจเบาสบายขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าในใจเรายังโกรธหรือไม่พอใจใคร เราก็ควรให้อภัยด้วยเช่นกัน -ในมุมของญาติ : ควรขออโหสิกรรมด้วยการกล่าว ว่า ถ้าเคยล่วงเกินหรือทำอะไรเอาไว้ก็ขอโทษและขอให้ยกโทษ และถ้าผู้ป่วยเคยทำอะไรล่วงเกินก็ไม่ถือโกรธและควรถามว่าในใจยังติดค้างถือโกรธใครอยู่หรือไม่ หากมี ควรจะพูดให้เขาให้อภัยหรือขออโหสิกรรม พุทธานุสสติ (มหานามสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปฐมปัณณาสก์ ข้อ ๒๑๘) หมายถึง การตั้งจิตนึกถึงพระพุทธเจ้าด้วยจิตที่นอบน้อมศรัทธาว่าพระองค์ทรงเป็นผู้รู้แจ้งในทุกเรื่อง เป็นศาสดาของมนุษย์และเทวดา เป็นผู้ที่เป็นเลิศในทุกด้าน เป็นผู้ที่ควรเคารพบูชาอย่างยิ่ง ซึ่งการนึกถึงพระพุทธเจ้าแบบนี้จะเกิดความสุขและความอิ่มเอิบใจ ทำให้จิตเป็นกุศลแล้วไปสู่สุคติ เหมือนอย่างเช่นมัฏฐกุณฑลีมาณพที่ตลอดชีวิตไม่เคยทำบุญ ไม่เคยศรัทธาพระพุทธศาสนา แต่ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตได้เห็นพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จิตที่เป็นกุศลก่อนตายนั้นทำให้เขาได้ขึ้นสวรรค์ (เรื่องมัฏฐกุณฑลี อรรถกถาเล่มที่ ๔๐พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะสุตตนิบาต หน้า ๓๙) การมีไตรสรณะ หมายถึง การตั้งมั่นที่จะยึดเอาพระพุทธเจ้า พระธรรมของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเป็นที่ยึดเหนี่ยวเพียงหนึ่งเดียวด้วยการกล่าวหรือคิดในใจว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ (๓ ครั้ง) หรือใช้ภาษาที่เราเข้าใจ เช่น ตั้งแต่นี้ต่อไปข้าพเจ้าขอยึดพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ที่ยึดเหนี่ยวเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งถ้าหากตั้งใจกล่าวออกมาจากใจและตั้งใจทำตามจริงๆ ก็จะได้บุญมากมายมหาศาล และได้มากกว่าการทำบุญวิหารทานเสียอีก (เวลามสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต ข้อ ๒๒๔) การมีไตรสรณะเป็นสิ่งที่ได้บุญมากกว่าที่หลายคนคิด และเป็นสิ่งที่ช่วยให้คนตายไปสุคติภูมิได้อย่างคาดไม่ถึง จิตที่มีไตรสรณะจะมีที่ยึดเหนี่ยวที่มีความตั้งมั่นและมั่นคง ทำให้ความกลัวลดน้อยลง เกิดจิตที่เป็นกุศลได้ง่ายขึ้น ทำให้ไปสุคติภูมิได้ เราจึงกล่าวได้ว่า สำหรับผู้ที่กำลังจะเสียชีวิต การพยายามรักษาใจให้ผ่องใสเบาสบายมีความสำคัญมากกว่าการรักษาร่างกายให้อยู่นาน เช่นเดียวกับผู้ป่วยเป็นโรคร้ายแรงบางประเภทที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้และมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก คงยากที่จะบอกว่าการยื้อชีวิตแล้วต้องทรมานจนตายจะดีกว่าการรักษาจิตใจให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ตราบลมหายใจสุดท้าย ในขณะเดียวกัน คงเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่า การทุ่มเงินค่ารักษาเพื่อยื้อชีวิตให้ยาวนานที่สุดเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการนำเงินไปทำบุญเพื่อเพิ่มโอกาสไปสุคติภูมิ แม้การทำตามวิธีที่ช่วยให้จิตผ่องใสดังที่ได้ยกตัวอย่างเอาไว้ก็ไม่ได้การันตีว่าตัวผู้ป่วยจะมีจิตที่ผ่องใส เพราะผู้ป่วยอาจไม่สามารถน้อมจิตของตนให้เป็นกุศลได้ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย เช่น ในใจไม่ได้ศรัทธาพระพุทธเจ้า หรือไม่นับถือพระสงฆ์เพราะได้ยินแต่เรื่องเสียๆ หายๆ หรืออาจไม่เชื่อกฎแห่งกรรม ไม่ชอบการทำบุญ ไม่เคยฝึกเจริญภาวนา หรือไม่รู้ว่าจิตที่เป็นกุศลเป็นอย่างไร เป็นต้น ทำให้เป็นเรื่องไม่ง่ายที่จิตเป็นกุศลจะเกิดขึ้น เพราะเหลือทางเลือกที่ทำได้จริงไม่มากนัก คนที่สามารถทำจิตให้ผ่องใสได้ง่ายจะมีเพียงผู้มีจิตที่เคยชินกับสภาวะที่มีความผ่องใสและสั่งสมกรรมดีมามาก เช่น ทำบุญเป็นประจำ รักษาศีล ๕ อย่างเคร่งครัด รักษาศีลอุโบสถอยู่เสมอ ฝึกภาวนา ฝึกเจริญสติ พยายามปล่อยวางกับบางเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน หรือระลึกถึงความตายของเราและคนรอบข้างอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น การให้จิตชินกับการมีสภาวะจิตที่ผ่องใสเป็นสิ่งที่เราต้องฝึกฝนเป็นระยะเวลานานพอสมควร จิตของเราถึงจะมีทักษะที่จะทำแบบนั้นได้คล่องแคล่ว ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องดีกว่าหากเราได้เริ่มสั่งสมทักษะดังกล่าวเอาไว้ล่วงหน้าหลายๆ ปีก่อนตาย เพื่ออนาคตชาติที่ดีของตัวเราเอง โอกาสที่จะได้บุญจากการฟังสวดอภิธรรมมี ๒ กรณี คือ 1.ฟังอย่างเข้าใจแล้วพิจารณาตามบทธรรมนั้นจนจิตกุศลเกิดขึ้น 2. ฟังแบบเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง หรืออาจจะไม่เข้าใจเลย แต่ใจน้อมตามกระแสแห่งธรรม (เช่น ฟังแล้วนึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม บุญที่ทำ หรือฟังแล้วจิตผ่อนคลายปล่อยวาง) แล้วจิตกุศลเกิดขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากฟังผ่านๆ หรือฟังแล้วไม่เข้าใจ แบบนี้ไม่ได้บุญ แต่ก็ไม่ได้บาป แต่ถ้าฟังแล้วรู้สึกหงุดหงิดรำคาญ แล้วจิตอกุศลเกิดขึ้น แบบนี้ได้บาป ในพระไตรปิฎกมีการกล่าวถึงอย่างชัดเจนว่า พระไม่สามารถรับเงินได้ (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ข้อ ๑๐๐-๑๐๕) เพราะจะอาบัติและได้บาปตั้งแต่ตอนรับเงิน (ไม่ว่าจะเอาเงินใส่ซองหรือใส่ในย่ามก็อาบัติทั้งสิ้น) ด้วยเหตุนี้ การทำบุญด้วยการถวายเงินหรือการนําเงินใส่ซองถวายพระจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ถ้าเรากังวลว่าพระอาจมีความจำเป็นต้องใช้ของบางอย่าง แต่ไม่มีใครถวาย หรือหากเจ็บป่วยต้องใช้เงินรักษา ควรทำอย่างไร เรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่าเราสามารถทำได้ (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ ข้อ ๕๕) ด้วยการถวายเงินให้วัด หรือนำเงินนั้นให้กับไวยาวัจกร (ผู้ที่ดูแลพระ) เป็นการให้ผู้อื่นนำเงินไปซื้อ มิใช่ให้เงินพระ หรือให้พระไปซื้อเอง แม้ญาติจะมีความเชื่อแบบผิดๆ ก็ตาม แต่ถ้าเขาทำแล้วมีความสุข เราก็ไม่ควรคิดอะไรมาก ทำตามที่เขาต้องการทุกอย่างโดยไม่มีข้อแม้หรือช่วยเขาทำโดยไม่ต้องสนใจว่าถูกหรือผิด เพื่อให้เขามีความสบายใจที่ได้ทำตามความเชื่อ ซึ่งการทำให้คนมีความสบายใจนั้นได้บุญ เราควรทำแบบนั้นไม่ดีกว่าหรือไปนี้คำตอบของข้อสงสัยดังกล่าวก็คือ “ไม่ใช่” ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 1. พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า การเชื่อแบบผิดๆ (มิจฉาทิฏฐิ) นั้นเป็นบาปและมีโอกาสตกนรก ฉะนั้น การปล่อยให้คนทำสิ่งที่มีโอกาสตกนรกย่อมไม่ใช่สิ่งที่ได้บุญอย่างแน่นอน 2. พระพุทธเจ้าตรัส (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปฐมปัณณาสก์ ข้อ ๒๐๑) ว่า การสรรเสริญหรือส่งเสริม หรือยินดีกับผู้ที่มีความเชื่อที่ผิดก็ได้บาปและมีโอกาสตกนรกเช่นกัน ดังนั้นการช่วยให้เขาทำเรื่องผิดๆ เพื่อความสบายใจ ทั้งเราและเขาก็จะได้บาปกันถ้วนหน้า และมีโอกาสพากันตกนรก 3.งานศพเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อผู้เสียชีวิต การเลือกทำสิ่งที่ญาติสบายใจ แต่ผู้เสียชีวิตแทบไม่ได้อะไรเลย จึงไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้องและเหมาะสม เราควรพยายามทำสิ่งที่ผู้เสียชีวิตได้ประโยชน์สูงสุดมากกว่า 4. การพยายามชี้แนะแนวทางที่ถูกต้อง และนำพาเขามาทำตามความเชื่อที่ถูกต้องต่างหากที่ได้บุญ และเป็นสิ่งที่ควรทำ หนทางที่จะทำให้เราหลีกหนีจากความตายที่น่ากลัวได้อย่างถาวรมีเพียงการไม่เกิดเท่านั้น ซึ่งจะทำแบบนั้นได้ต้องปฏิบัติตนตามอย่างครบถ้วนและเคร่งครัด เพื่อจะได้บรรลุธรรมแล้วเข้าสู่นิพพานในที่สุด นี่คือเส้นทางที่ดีที่สุดที่ทำให้เราไม่ต้องเผชิญหน้ากับความตายอีก ทั้งหมดนี้ก็ถือว่าเป็นความรู้จำเป็นที่เรามักไม่ค่อยตระหนักมาก่อน เพราะความตายเป็นเรื่องที่เราไม่กล้าจะพูดถึง เพราะกลัวว่ามันจะเกิดขึ้นจริงแบบฉับพลันปุบปับทันด่วน แต่การเตรียมตัวนั้นสำคัญ เราจะได้ตระหนักว่าการทำบุญ รักษาศีล เจริญสติภาวนา ส่งผลต่อเรามากแค่ไหน มีหลายแง่มุมที่เราต้องอ่านทั้งเล่ม จะได้เข้าใจอย่างกระจ่างว่าทำไมเรื่องของบุญจึงไม่ใช่แค่เรื่องของความเชื่อเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นการไม่ประมาทในชีวิตก็ว่าได้ เครดิตภาพ ภาพปก โดย freepik จาก freepik.com ภาพที่ 1 และ 2 โดยผู้เขียน ภาพที่ 3 โดย freepik จาก freepik.com ภาพที่ 4 โดย freepik จาก freepik.com บทความอื่นๆที่น่าสนใจ รีวิวหนังสือ บันไดสู่นิพพาน รีวิวหนังสือ บรรลุธรรมได้ ไม่ติดรูปแบบ รีวิวหนังสือ ตำนานพระพุทธเจ้า รีวิวหนังสือ มหาสติปัฏฐาน ๔ ทางลัดดับทุกข์ รีวิวหนังสือ เรื่องเล่าจากพระไตรปิฎก เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !