รีเซต

เปิดผลงาน Ig Nobel Prize 2023 งานวิจัยสายฮาแต่หาสาระได้จริง

เปิดผลงาน Ig Nobel Prize 2023 งานวิจัยสายฮาแต่หาสาระได้จริง
TNN ช่อง16
19 กันยายน 2566 ( 11:00 )
39
เปิดผลงาน Ig Nobel Prize 2023 งานวิจัยสายฮาแต่หาสาระได้จริง

หลายครั้งเมื่อพูดถึงงานวิจัย หลายคนก็อาจจะนึกถึงงานศึกษาที่ดูเข้าใจยาก แต่ไม่ใช่กับงานวิจัยที่ได้รับรางวัลบนเวที อิกโนเบล ไพรซ์ (Ig Noble Prize) โดยเวทีนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้คุณค่ากับงานวิจัยที่ชวนเรียกเสียงหัวเราะก่อน แล้วค่อยย้อนคิดทีหลัง ซึ่งในปีนี้ก็ได้ประกาศรางวัลครั้งที่ 33 ในทั้ง 10 สาขาไปแล้ว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา


10 ผลงานที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ได้แก่

ผลงานสาขาเคมีและธรณีวิทยา ที่ศึกษาว่าทำไมนักวิทยาศาสตร์ถึงชอบ “เลียก้อนหิน” โดยทีมวิจัยพบว่าในช่วงศตวรรษที่ 18 นักธรณีวิทยาชาวอิตาเลียน มักจะเลียก้อนหิน เพื่อรับรสและแยกแยะชนิดแร่ธาตุต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันมีการเลียก้อนหินเพื่อเหตุผลต่างกัน คือการทำให้ผิวหินเปียกชื้น เพื่อให้มองเห็นอนุภาคแร่ธาตุได้ชัดขึ้น

อ่านงานวิจัยเพิ่มเติม >> https://www.palass.org/publications/newsletter/eating-fossils


ผลงานสาขาวรรณกรรมโดยเป็นการทำความศึกษาความรู้สึกของมนุษย์ที่ถ้าต้องพูดคำเดิม ๆ ซ้ำไปเรื่อย ๆ จะเป็นอย่างไร โดยทีมวิจัยกล่าวว่ามันเป็นตัวอย่างของปรากฏการณ์ "จาไมส์ วู" หรือความรู้สึกที่จู่ ๆ สิ่งที่เราคุ้นเคย กลายเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งในการทดลองนี้ได้ให้ผู้ร่วมวิจัยพูดคำที่กำหนดซ้ำ ๆ ปรากฏว่า 2 ใน 3 ของจำนวนผู้เข้าร่วมวิจัย จะเริ่มรู้สึกแปลก ๆ ไม่คุ้นชิน เมื่อพูดคำ ๆ นั้นครบ 30 ครั้ง

อ่านงานวิจัยเพิ่มเติม >> https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/09658211.2020.1727519


ผลงานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล กับการใช้ซากขาแมงมุมที่ตายแล้ว มาทำเป็นขาหนีบสิ่งของ เหมือนกับคีมคีบตู้ตุ๊กตา ซึ่งปรากฏว่าทำออกมาแล้วสามารถยกของหนักกว่าตัวมันได้ 130% โดยทีมวิจัยมองว่าสามารถเอาไปต่อยอดในการใช้งานหุ่นยนต์ยึดจับแบบพกพา ที่สามารถอำพรางไว้ในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติได้ด้วย

อ่านงานวิจัยเพิ่มเติม >> https://doi.org/10.1002/advs.202201174


ผลงานสาขาสาธารณสุข ตกเป็นของนักวิจัยชาวเกาหลีใต้ สำหรับการประดิษฐ์ห้องน้ำอัจฉริยะ ซึ่งใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่หลากหลาย รวมไปถึงกล้องถ่ายภาพ เพื่อใช้ติดตามสิ่งปฏิกูลของมนุษย์เพื่อหาสัญญาณโรค

อ่านงานวิจัยเพิ่มเติม >> http://doi.org/10.1038/s41551-020-0534-9


ผลงานสาขาการสื่อสาร กับการศึกษาเรื่องสมองของคนที่เชี่ยวชาญการพูดแบบถอยหลัง

อ่านงานวิจัยเพิ่มเติม >> http://doi.org/10.1038/s41598-020-67551-z


ผลงานสาขาการแพทย์ ที่ลงทุนไปนับขนจมูกของศพ เพื่อดูว่าคนเรามีขนจมูกข้างละเท่าไหร่ มีจำนวนเท่ากันหรือไม่ โดยจากการสำรวจพบว่า คนเรามีขนจมูกที่รูจมูกซ้ายประมาณ 120 เส้นโดยเฉลี่ย และที่รูจมูกขวาอีกประมาณ 112 เส้น แต่ทีมวิจัยยังต้องการศึกษาต่อไปว่าจำนวนขนจมูกที่มี สอดคล้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วยหรือไม่

อ่านงานวิจัยเพิ่มเติม >> http://doi.org/10.1016/j.jaad.2020.06.902


ผลงานสาขาโภชนาการ กับการทดลองเพื่อพิจารณาว่าตะเกียบ และหลอดดื่มที่ใช้ไฟฟ้า สามารถเปลี่ยนรสชาติของอาหารได้อย่างไร โดยจากงานวิจัยพบว่ามีความเป็นไปได้ที่เราจะรับรสเค็มของอาหารได้ดีขึ้น ถ้ากระตุ้นลิ้นด้วยไฟฟ้า

อ่านงานวิจัยเพิ่มเติม >> http://doi.org/10.1145/1959826.1959860


ผลงานสาขาการศึกษา ที่ไปศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของความเบื่อหน่ายของครู ต่อความเบื่อหน่ายและแรงจูงใจในการเรียนรู้ของนักเรียน

อ่านงานวิจัยเพิ่มเติม >>  http://doi.org/10.1111/bjep.12549


ผลงานสาขาจิตวิทยา กับการทดลองกวน ๆ ด้วยการให้คนเงยหน้ามองท้องฟ้า เพื่อดูว่าคนที่ผ่านไปผ่านมาจะทำตามด้วยไหม โดยได้ทดลองบนถนนในเมือง เพื่อดูว่าผู้คนที่สัญจรไปมากี่คน ที่หยุดเดินและมองขึ้นไปบนฟ้า เมื่อเห็นคนแปลกหน้าเงยหน้าขึ้นมอง 

อ่านงานวิจัยเพิ่มเติม >> http://psycnet.apa.org/doi/10.1037/h0028070


ในขณะที่งานวิจัยชิ้นถัดไป คว้ารางวัลในสาขาฟิสิกส์ กับการศึกษาที่ค้นพบว่าผลกระทบของกิจกรรมทางเพศของฝูงปลากะตัก ซึ่งจะมารวมตัวกันในเวลากลางคืนนอกชายฝั่ง เพื่อวางไข่ สามารถสร้างความวุ่นวายในกระแสน้ำในระดับที่ก่อให้เกิดกระแสน้ำวนเล็ก ๆ ในมหาสมุทรได้เลยทีเดียว 

อ่านงานวิจัยเพิ่มเติม >> http://doi.org/10.1038/s41561-022-00916-3


ทั้งหมดนี้เป็นงานวิจัยที่ถึงแม้จะดูแปลก แต่ก็แฝงไว้ด้วยความจริงจัง และตั้งใจที่จะหาคำตอบให้กับหัวข้อต่าง ๆ สมกับที่คว้ารางวัลอิกโนเบล รางวัลที่ให้คุณค่ากับการเริ่มต้นจากจินตนาการ เพื่อต่อยอดไปสู่การหาความรู้ และสร้างประโยชน์ในเรื่องใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นได้จริง


สำหรับรางวัล อิกโนเบล ไพรซ์ (Ig Noble Prize) เป็นรางวัลที่ยกย่องผลงานวิจัยหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ กระตุ้นความสนใจ ทำให้ผู้คนได้หัวเราะและขบคิด (make people LAUGH, then THINK.) โดยจะเป็นผลงานที่เกี่ยวข้องในด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และเทคโนโลยี สำหรับงานนี้จัดขึ้นในเดือนกันยายนของทุกปี และจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1991 และยังมีการจัดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน




ข้อมูลจาก reutersconnect, theguardianedition.cnn

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง