รีเซต

ชาวเน็ตสงสัย 'ทับหลังเขาโล้น' ดู 'ใหม่' นักวิชาการย้อนเทียบปมลือหนัก ทับหลังนารายณ์ 'ปลอม'

ชาวเน็ตสงสัย 'ทับหลังเขาโล้น' ดู 'ใหม่' นักวิชาการย้อนเทียบปมลือหนัก ทับหลังนารายณ์ 'ปลอม'
มติชน
30 พฤษภาคม 2564 ( 21:08 )
238
ชาวเน็ตสงสัย 'ทับหลังเขาโล้น' ดู 'ใหม่' นักวิชาการย้อนเทียบปมลือหนัก ทับหลังนารายณ์ 'ปลอม'

 

สืบเนื่องกรณีทับหลัง 2 ชิ้น จากสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ และ ทับหลังปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว ถูกขนย้ายถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยล่าสุดเกิดกระแสที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าทับหลังทั้ง 2 ชิ้น โดยเฉพาะทับหลังจากปราสาทเขาโล้น ดูใหม่เกินไป อาจเป็นของปลอมหรือไม่นั้น

 

 

ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สภาพทับหลังที่เห็นกันผ่านกระบวนการอนุรักษ์มาแล้วจากสถาบันศิลปะที่สหรัฐ ดังนั้น จึงดูใหม่กว่าภาพถ่ายเก่า หรือในแง่ของความรู้สึกก็ตาม เพราะในพิพิธภัณฑ์ทุกแห่งมีกระบวนการอนุรักษ์ โดยนำสนิมและคราบสกปรกออก จึงไม่แปลกใจที่หลายคนตั้งคำถามว่า ทับหลังที่ได้รับมาเป็นของปลอมหรือไม่ แต่อยากให้เชื่อมั่นว่าทางการไทยมีกระบวนการตรวจสอบที่ดี อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องดีที่ประชาชนพยายามตั้งข้อสังเกต สะท้อนถึงความใส่ใจ และมีความยินดีที่ได้รับมรดกทางวัฒนธรรมกลับคืนมา ซึ่งตนไม่อยากให้หยุดอยู่แค่ทับหลังทั้ง 2 ชิ้นนี้เท่านั้น แต่ยังมีโบราณวัตถุจำนวนมากที่สามารถตามสืบกลับคืนมาประเทศไทยได้ อยากให้ประชาชนที่มีความสนใจมาช่วยกันสืบค้น

 

 

ผศ.พิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า การตั้งข้อสังเกตในลักษณะนี้ ไม่ใช้ครั้งแรก เพราะเมื่อครั้งไทยได้รับทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์คืนจากสหรัฐเมื่อ พ.ศ.2531 ก็เกิดกระแสว่าเป็นของปลอม โดยเมื่อราวปี 42-43 นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มีการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างภาพถ่ายเก่า และทับหลังที่ได้รับคืนมา ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก กระทั่งมีการจัดเวทีเสวนาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ โดยมีคณาจารย์คณะโบราณคดีร่วมถกเถียงในเชิงวิชาการ

 

 

“เวทีในตอนนั้น มีอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะหลายท่านร่วมเสวนา ไม่ว่าจะเป็น ศาสตราจารย์ ดร.หม่อมราชวงศ์ สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุข อินทราวุธ และอาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร์ เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นบุคคลระดับตำนาน คนเข้าร่วมฟังล้นห้อง ระหว่างนั้นมีการนำเสนอภาพถ่ายเก่าที่ดูแตกต่างจากภาพปัจจุบันของทับหลัง ศาสตราจารย์ ดร.หม่อมราชวงศ์ สุริยวุฒิ ก็นำภาพถ่ายเก่าอีกชุดหนึ่งขึ้นมาแสดงราว 4-5 ภาพเช่นกัน และชี้ว่า เมื่อถ่ายจากมุมที่แตกต่างกัน ก็อาจดูต่างออกไป และยืนยันว่าทับหลังที่ศาสตราจารย์ มจ. สุภัทรดิศ ดิศกุล รับกลับมาจากอเมริกาคือของจริง เรื่องนี้คนเฮกันมาก” ผศ.พิพัฒน์กล่าว

 

 

ผศ.พิพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับความแตกต่างระหว่างกรณีทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จากปราสาทพนมรุ้ง และทับหลังจากปราสาทหนองหงส์และปราสาทเขาโล้น คือ ในช่วงที่ได้คืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นช่วงสิ้นสุดสงครามเย็น กระแสของคนไทยในการต่อต้านอเมริกาจึงมีสูง วงคาราบาวแต่งเพลงชื่อ ‘ทับหลัง’ ที่มีเนื้อร้องว่า ‘เอาไมเคิล แจ็คสันคืนไป เอาพระนารายณ์คืนมา’ โดยภาครัฐเป็นผู้ริเริ่มทวงคืนตั้งแต่ พ.ศ.2516 ตั้งต้นเรื่องโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ไม่สำเร็จ เพิ่งสำเร็จใน พ.ศ.2531 คนไทยในชิคาโกเดินขบวน ในขณะที่ทับหลังทั้ง 2 ชิ้นล่าสุดริเริ่มโดยภาคประชาชน และท้องถิ่นซึ่งมีสำนึกในมรดกวัฒนธรรม จากนั้นรัฐจึงร่วมผลักดัน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง