โควิด-19 : ธนินท์ เจียรวนนท์ ตั้งโรงงานหน้ากากอนามัยซีพีเพื่อ “รับใช้แผ่นดินไทยยามวิกฤต” ขณะที่นักวิชาการด้านสื่อสารชี้เป็น CSR ที่ “วิน-วิน ทั้งเครือและสังคม”
เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ภายใต้การนำของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เป็นหนึ่งในองค์กรยักษ์ใหญ่ภาคธุรกิจที่เข้าช่วยเหลือประชาชนในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ทั้งตั้งโรงงานผลิตหน้ากากแจกฟรี บริจาคเงินหลายล้านให้ รพ. ทั่วไทย เป็น CSR ที่นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนชี้ว่า "วิน-วิน ทั้งซีพีและสังคม"
โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยของเครือซีพี ได้ฤกษ์เดินสายการผลิตหน้ากากอนามัยครั้งแรกเมื่อ 16 เม.ย. หลังทุ่มงบประมาณ 100 ล้านบาท เนรมิตโรงงานแห่งนี้ขึ้นมาภายในเวลาเพียง 5 สัปดาห์ตามที่ ธนินท์ ลั่นวาจาเอาไว้เมื่อ 5 มี.ค.
อาคารชั้น 3 ของบริษัท เกษตรภัณฑ์อุตสาหกรรม จำกัด ที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ถูกดัดแปลงให้เป็นห้องปลอดเชื้อ มีแรงงานเพียง 3 คนรับหน้าที่ควบคุมการผลิต ส่วนที่เหลือใช้นวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้าช่วย
- พิษเศรษฐกิจทำเศรษฐีไทยจนลง แต่ตระกูลเจียรวนนท์ยังรวยสุด
- เทสโก้ โลตัส : การเข้าซื้อกิจการของอังกฤษโดยกลุ่มธุรกิจค้าปลีกไทยจะนำไปสู่การผูกขาดได้หรือไม่
- ธนินท์ เจียรวนนท์ ปัด "ผูกขาด" ทางธุรกิจ แค่ชอบทำเรื่องยาก ยก แจ็ค หม่า เป็น "อาจารย์"
- สฤณี-ธันยวัชร์ คิดอย่างไรหลังอ่านหนังสือ "ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว" ของเจ้าสัวธนินท์
ซีพีตั้งเป้าหมายผลิตหน้ากากอนามัยให้ได้ 1 แสนชิ้น/วัน หรือ 3 ล้านชิ้น/เดือน เพื่อแจกจ่ายบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขผ่าน รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และแจกฟรีแก่คนไทย
โควิด-19 : หน้ากากอนามัยซีพี รับใช้แผ่นดินไทย+ได้ลดภาษี
cp-enews เว็บไซต์สื่อสารองค์กรของเครือซีพี ได้เผยแพร่ข่าวและภาพข่าวในระหว่าง ธนินท์ เข้ามอบหน้ากากอนามัย 1 แสนชิ้นแรกให้แก่ รพ.จุฬาลงกรณ์ พร้อมระบุถึงคำกล่าวของประธานอาวุโสเครือซีพีด้วย
"ซีพีทำธุรกิจในแผ่นดินไทย ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่เครือฯ จะได้รับใช้แผ่นดินไทยในยามวิกฤต ช่วยผลิตหน้ากากอนามัยให้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์" ธนินท์กล่าว
ประธานอาวุโสเครือซีพียังบอกด้วยว่า การช่วยเหลือประเทศวันนี้หากใครไม่มีกำลังทรัพย์ก็สามารถช่วยกันด้วยวิธีอยู่บ้านไม่ออกจากบ้านแพร่เชื้อ เป็นวิธีที่จะทำให้ประเทศฟื้นเร็วที่สุด ในวิกฤตอย่างนี้ต้องช่วยกัน อย่าทำให้โรคนี้กระจายออกไปมากขึ้น เป็นการช่วยชาติ รัฐบาล และโรงพยาบาล
การเข้าให้ความช่วยหมอไทย-คนไทย ทำให้โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยของเครือซีพีเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ในการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี ตามมติคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 เม.ย.
บอร์ดบีโอไอได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นการลงทุนผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลกับกลุ่มอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เช่น การผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน, วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และ nonwoven fabric ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล, ชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์, ยาและสารออกฤทธิ์สำคัญในยา ฯลฯ
น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ ชี้แจงว่า มาตรการดังกล่าวจะครอบคลุมถึงโครงการที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย. 2563 โดยต้องเริ่มผลิตและมีรายได้ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 และต้องจำหน่ายและหรือบริจาคภายในประเทศอย่างน้อย 50% ของปริมาณที่ผลิตได้ในปี 2563-2564
ในการให้สัมภาษณ์กับรายการ "เจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์" ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เมื่อ 15 เม.ย. ผู้ดำเนินรายการสอบถามว่าโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยของเครือซีพีเข้าหลักเกณฑ์ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 3 ปีหรือไม่
"ใช่ค่ะ" เลขาธิการบีโอไอตอบ
CSR ช่วยเหลือ และ ซื้อใจ
เครือเจริญโภคภัณฑ์ทำธุรกิจใน 8 สาขา และมีบริษัทย่อยรวมอย่างน้อย 25 บริษัท จึงเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คนตั้งแต่ตื่นเช้าจนหัวถึงหมอน
เมื่อคนไทยซึ่งเป็นทั้ง "เพื่อนร่วมชาติ" และ "ลูกค้า" ของซีพีต้องประสบความทุกข์ยากจากโควิด-19 ทำให้เครือซีพีทำโครงการช่วยเหลือสังคม หรือ CSR เพื่อ "ช่วยเหลือ" และ "ซื้อใจ" ประชาชนไปในคราวเดียวกัน
บีบีซีไทยตรวจสอบพบว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 การทำกิจกรรมเพื่อสังคมของเครือซีพี มีเป้าหมายหลักอยู่ที่คน 3 กลุ่ม
1. แพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งถูกยกให้เป็น "นักรบเสื้อขาว-ฮีโรเสื้อกาวน์" ได้รับความช่วยเหลือจากเครือซีพีอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการ "คนไทยไม่ทิ้งกัน" ของซีพีออลล์ มอบ 77 ล้านบาทให้กับ 77 รพ.ทั่วประเทศ, มอบชุดคลุมป้องกันเชื้อชนิดคลุมทั้งตัว (coverall) 2 พันชุด คิดเป็นมูลค่า 1.4 ล้านบาท พร้อมด้วยหน้ากากป้องกันเชื้อ (Face Shield) 4 หมื่นชิ้น คิดเป็นมูลค่า 1 ล้านบาท แก่ รพ.จุฬาลงกรณ์, มอบชุดป้องกัน tyvek 400 และ tychem2000 รวมถึงแว่นตานิรภัย ถุงคลุมเท้า ให้แก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข รพ.จุฬาลงกรณ์, มอบ "ซิม ฮีโร่ไทย Fight โควิด" จากทรูมูฟ เอช แก่บุคลากรทางการแพทย์ 2 พันซิม, โครงการ "ทรูส่งใจให้ฮีโร่" มอบแท็บเล็ตกว่า 500 เครื่อง พร้อมซิมไม่จำกัดปริมาณการใช้งานแก่ รพ. ราว 50 แห่งที่ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19, โครงการ "ซีพีเอฟส่งอาหารจากใจให้โรงพยาบาลและครอบครัวหมอ-พยาบาล" โดยจัดส่งอาหารฟรีให้ถึง รพ. 88 แห่งทั่วประเทศ
https://www.instagram.com/p/B-l8EEKJ2p2/
2. ประชาชนทั่วไป ในกลุ่มผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคเฝ้าระวัง มีโครงการ "ซีพีเอฟส่งอาหารจากใจร่วมต้านภัยโควิด-19" จัดส่งอาหารฟรีถึงบ้านในระหว่างกักตัว 14 วัน, มอบ "ซิมกักตัว ไม่กลัวเหงา" ฟรี 2 หมื่นซิม
3. พนักงานเครือซีพี มี "เอกสารภายในที่หลุดถึงหูสื่ออย่างพร้อมเพรียงกัน" ว่า ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือซีพี ได้ออกประกาศเรื่องนโยบายดูแลพนักงานภายใต้สถานการณ์โควิด-19 โดยมีสาระสำคัญ 4 ข้อคือ ไม่มีนโยบายเลิกจ้าง, พร้อมจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากโควิด-19 ให้, แจกคูปองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อซื้ออาหารและเครื่องดื่มแก่คู่สมรส/บุตรของพนักงานที่ได้รับผลกระทบ เช่น ถูกเลิกจ้าง และเตรียมมาตรการช่วยเหลือค่าเล่าเรียนบุตรธิดาให้แก่พนักงานที่เดือดร้อน
ขณะที่ CSR บางอย่าง ทั้งผู้ให้-ผู้รับต่าง "วิน-วิน" ทั้งคู่ เช่น โครงการ "เถ้าแก่น้อย" ที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ประชาสัมพันธ์ในช่วงที่ประชาชนทยอยกลับภูมิลำเนา โดยอ้างถึงแนวคิดของบริษัทที่มุ่งส่งเสริมอาชีพในชุมชน และสร้างผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ให้สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้ 2 รูปแบบคือ ซีพี ตู้เย็นชุมชน และร้านซีพี เฟรช ช็อป ซึ่งทำให้ซีพีได้ขยายฐานลูกค้าและคู่ค้าธุรกิจ
"ปังที่สุด"
ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม รองคณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า โรงงานทำหน้ากากอนามัยของเครือซีพีเป็นโครงการที่ "ปังที่สุด" ตามทัศนะของเธอและเพื่อน เพราะเกิดขึ้นทันต่อสถานการณ์ ซึ่งในช่วงเดือน มี.ค. ได้เกิดปัญหาหน้ากากหาย หน้ากากไม่พอ โดยที่มาตรการของภาครัฐยังไม่ชัดเจน จนโรงพยาบาลหลายแห่งต้องออกมาขอรับบริจาค ทว่าเครือซีพีเป็นเจ้าแรกที่ประกาศทำเรื่องหน้ากากอย่างจริงจังถึงขั้นตั้งโรงงานผลิตเอง
ความคิดเห็นนี้เกิดขึ้น หลังนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนรายนี้ทดลองทำ "โพลภายใน" ด้วยการโยนคำถามเกี่ยวกับโครงการ CSR ของซีพีเข้าไปในกลุ่มไลน์เพื่อนนักวิชาการ 4 กลุ่ม มีสมาชิกรวมกัน 40 คน อายุตั้งแต่ 35-50 ปี และจบการศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก ซึ่งถือเป็นกลุ่ม "ผู้รับสารที่มีคุณภาพ" ปรากฏว่าเกือบทั้งหมดต่างโหวตให้โรงงานหน้ากากอนามัยฟรี แม้ที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างบางส่วนอาจมีความรู้สึกไม่ค่อยดี และเคยตั้งคำถามต่อการผูกขาดทางธุรกิจของเครือซีพี ถึงขั้นบอยคอตไม่ซื้อสินค้าร้าน เซเว่น อีเลฟเว่น
ส่วนโครงการอื่น ๆ ที่ถูกพูดถึงคือ โครงการส่งอาหารฟรีถึงบ้านให้แก่คนที่ต้องกักตัวเอง 14 วัน ซึ่ง ผศ.ดร.วิไลวรรณ ยอมรับว่าได้เจอเหตุการณ์กับตัวเอง เนื่องจากหลานของเธอเพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ เช่นเดียวกับเพื่อนอีกคนที่ย้ายครอบครัวกลับจากอเมริกา
"นี่เป็นกลยุทธ์ที่คิดมาอย่างดี และทำแล้วก็วิน-วินทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายผู้รับ อย่างน้อยก็ต้องรู้สึกดีกับซีพี ไม่อย่างนั้นจะกินอยู่กันอย่างไรตั้ง 14 วัน ส่วนฝ่ายซีพีก็อาจได้ลูกค้าใหม่หลังคนได้ทดลองทานอาหารของซีพี จากที่ก่อนหน้านั้นเขาอาจไม่เคยลองหรือเคยปฏิเสธซีพีมาก่อน" ผศ.ดร.วิไลวรรณกล่าว
โพลพบคนไทยนึกถึงซีพีในฐานะ "ผู้ช่วยเหลือ" ยามโควิด
ในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "ความเข้าใจในสถานการณ์โควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต การบริโภคสื่อ และการรับรู้ในบทบาทของตราสินค้า (แบรนด์) ต่าง ๆ ในช่วงโควิด-19" พบว่า ซีพีเป็นแบรนด์ที่ประชาชนนึกถึงมากที่สุดในฐานะ "ผู้ช่วยเหลือ" ตามด้วย สิงห์, ทรู, วาโก้, อิชิตัน, อาลีบาบา, เอไอเอ และกรุงไทย
ผลสำรวจนี้ดำเนินการโดย มายด์แชร์ ประเทศไทย มีเดียเอเยนซี่ในเครือกรุ๊ปเอ็ม ซึ่งรวบรวมความคิดเห็นจากไทย 908 คน ผ่านระบบออนไลน์ ในระหว่างวันที่ 29-30 มี.ค. ก่อนเผยแพร่ผลสำรวจครั้งแรกเมื่อ 13 เม.ย. ในรูปแบบอินโฟกราฟิกทางเฟซบุ๊กขององค์กร
https://www.facebook.com/MindshareThailand/posts/10157690411400379
ผลสำรวจระบุด้วยว่า คนไทย 55% คิดว่าสิ่งที่ภาคเอกชนสามารถทำได้เพื่อช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด-19 คือการบริจาคเงิน รองลงมาคือปฏิบัติตามกฎระเบียบของรัฐ 54% และบริจาคสิ่งของ 52% ส่วนที่เหลือเป็นการสนับสนุนแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19, ให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับโควิด-19, สนับสนุนการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม, อนุญาตให้พนักงานลาป่วยได้ และหยุดเผยแพร่ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับเชื้อโควิด-19
ผศ.ดร.วิไลวรรณ เห็นว่า การที่ประชาชนนึกถึงซีพีเป็น "ผู้ช่วยเหลือ" แบรนด์แรก สะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์การตลาดและกลยุทธ์การสื่อสารในภาวะวิกฤตอันแยบยล ซึ่งปลายทางของ CSR คือภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร ซึ่งในองค์กรใหญ่ ๆ ก็มีกฎหมายกำหนดอยู่แล้วว่าต้องทำ CSR ในสัดส่วนเท่าไรเพื่อตอบแทนสังคม ดังนั้นที่เครือซีพีได้แน่ ๆ คือได้ทำตามตัวชี้วัด (KPI) และยังได้ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดาจากการสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอีก ซึ่งไม่ต่างอะไรจากมหาเศรษฐีระดับโลกอย่าง บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ ที่บริจาคเงินการกุศลต่าง ๆ ผ่านมูลนิธิของตัวเอง แล้วก็นำไปลดหย่อนภาษี เนื่องจากที่สหรัฐฯ อัตราภาษีสูงมาก การทำแบบนี้ก็วินทั้งบริษัทและสังคม
"ในช่วงวิกฤต CSR ทำงานได้ดี หากใครมีศักยภาพอะไร ใครมีส่วนได้เสียตรงไหน ก็ช่วยไปที่จุดนั้น แล้วช่วยกันต่อจิ๊กซอว์เป็นภาพใหญ่สังคมเพื่อทำให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดลงลง ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก แม้เป็น CSR แต่ส่วนตัวคิดว่าเป็นการช่วยเหลือสังคมในเชิงบวก มากกว่ามีวาระในเชิงลบ แต่ถามว่าเราต้องรู้เท่าทันไหม ก็ต้องรู้เท่าทัน" รองคณบดีคณะวารสารฯ มธ. กล่าว
เธอยังทำนายด้วยว่า อานิสงส์ที่ทำในช่วงวิกฤตไวรัสมรณะ อาจส่งผลให้ขาใหญ่อย่างซีพีได้รับ "แรงเสียดทานน้อยลง" หากมีกระแสด้านลบเกิดขึ้นในอนาคต
องค์กรผู้บริโภคแนะให้แยกแยะ
พิษโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ ทำให้ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยได้รับผลกระทบมหาศาล โดยเฉพาะเมื่อมีการประกาศภาวะฉุกเฉินทั้งประเทศ โดยอาศัยอำนาจพิเศษตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีคำสั่งปิดห้างร้านสถานที่ต่าง ๆ เพื่อป้องกันการรวมกลุ่มกันของคนจำนวนมาก ทว่าร้านสะดวกซื้อและห้างค้าปลีก (ในส่วนขายอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ต) ยังเปิดให้บริการได้ตามปกติวันละ 18 ชม.
ภายใต้อาณาจักรซีพี มีเครือข่ายค้าปลีกที่แผ่ขยายไปทุกหัวถนนทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น กว่า 11,700 สาขาของซีพี ออลล์ และ เทสโก้ โลตัส ที่มีอยู่ 2,158 สาขา โดยห้างค้าปลีกรายนี้เป็นลูกรักที่เจ้าสัวธนินท์ทำคลอดเมื่อ 16 ปีก่อน ใช้ชื่อว่า โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ แต่ต้องขายออกไปในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 ก่อนได้กลับคืนสู่อ้อมอกผู้ให้กำเนิดอีกครั้งเมื่อ มี.ค. 2563 หลังจ่ายเจ้าของชาวอังกฤษไป 3.38 แสนล้านบาท
เครือข่ายค้าปลีกอื่นที่ใหญ่รองลงมา ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัลของตระกูลจิราธิวัฒน์ มีท็อปส์ 265 สาขา, เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และร้านสะดวกซื้อ "แฟมิลี่มาร์ท" กว่า 1,000 สาขา
กลุ่มธุรกิจของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มีห้างค้าปลีก บิ๊กซีขนาดต่าง ๆ รวม 1,231 สาขา ภายใต้การบริหารโดยบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอให้สังคมแยกแยะระหว่างการที่ภาคธุรกิจลุกขึ้นมาช่วยเหลือสังคม เช่น แจกหน้ากาก แจกชุด PPE ให้กับ รพ. และประชาชน โดยเฉพาะคนจนทั้งหลายที่ควรมีเครื่องมือป้องกันตัวเองในภาวะวิกฤต ซึ่งถือเป็นเรื่องดีและเธอก็รู้สึกชื่นชม ไม่ได้มีปัญหา แต่กิจกรรม CSR หรือการบริจาคของเอกชนคงไม่ได้เกี่ยวข้องกับคำถามเรื่องการมีอำนาจเหนือตลาด หรือข้อครหาเรื่องการผูกขาดธุรกิจค้าปลีก ซึ่งขณะนี้เรื่องยังอยู่ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า
"เรื่องนี้ต้องแยก เพราะการผูกขาดทางการค้าก็ยังเป็นคำถามของสังคม CSR ที่ดีกว่านี้ก็มี เช่น รับฟังเสียงของสาธารณะ ถ้าคนรู้สึกว่าคุณไปแย่งอาชีพคนจนขายลูกชิ้น ขายไข่ต้ม ก็แสดงว่าเขาให้ความสำคัญกับคุณ ไม่อยากให้คุณกวาดเรียบ" และ "CSR พื้นฐานของบริษัทคือความรับผิดชอบขั้นพื้นฐานที่มีต่อสังคม ผู้บริโภค และมีธรรมาภิบาลในการทำกิจการ" สารีกล่าวกับบีบีซีไทย
ครอบครัวเจียรวนนท์แห่งเครือซีพี ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย โดยนิตยสารฟอร์บส์ประเทศไทยที่เปิดทำเนียบมหาเศรษฐีไทย 50 อันดับประจำปี 2563 แม้มูลค่าทรัพย์สินของพวกเขาจะลดลง 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 7 หมื่นล้านบาท) ไปอยู่ที่ 2.73 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 8.9 แสนล้านบาท) ก็ตาม
มหาเศรษฐีโลกทำอะไรบ้างในโควิด-19
ถ้าลองมองดูพฤติกรรมของมหาเศรษฐีของโลก พวกเขามีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคมในวิกฤตโควิด-19 อย่างไร
มหาเศรษฐี | กิจกรรมช่วยเหลือสังคมช่วงโควิด-19 |
---|---|
เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งและซีอีโอแอมะซอน | บริจาค 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3.2 พันล้านบาท) ให้กับคลังอาหารทั่วสหรัฐฯ, บริจาคครั้งละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (32.5 ล้านบาท) ให้แก่กองทุนฉุกเฉินโควิด-19 ของสหรัฐฯ และมูลนิธิซีแอตเทิลช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ |
บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ | บริจาคเงินในนามมูลนิธิของเขาและภรรยา 2 ครั้ง รวม 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 8.1 พันล้านบาท) สนับสนุนโครงการวิจัยยาต้านไวรัสโควิด-19 |
มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเฟซบุ๊ก | บริจาคเงินในนามองค์กรการกุศลที่เขาและภรรยาจัดตั้งขึ้น 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 810 ล้านบาท) ให้กับมูลนิธิของบิล เกตส์ เพื่อร่วมสนับสนุนการวิจัยยาต้านไวรัสโควิด-19, มอบเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3.2 พันล้านบาท) ช่วยธุรกิจขนาดเล็กที้ได้รับผลกระทบ, บริจาคเงิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 650 ล้านบาท) ให้องค์การอนามัยโลก และ CDC ของสหรัฐฯ |
เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ และครอบครัว แห่งอาณาจักร LVMH เจ้าของแบรนด์ หลุยส์ วิตตอง | เปลี่ยนโรงงานผลิตน้ำหอมและเครื่องสำอางค์ผลิตเจลล้างมือ และประกาศแจกจ่ายหน้ากากอนามัย 40 ล้านชิ้นให้แก่ รพ.ในฝรั่งเศส |
แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา | ประกาศมอบเงิน 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 455 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาวัคซีน, บริจาคชุดทดสอบโรค 5 แสนชุด และหน้ากากอนามัย 1 ล้านชิ้นแก่ประชาชนชาวสหรัฐฯ และยังจัดส่งชุดทดสอบโรคไปอีกหลายประเทศทั่วโลก |