เรื่องเล่าจากเจ้าถิ่น : แม่ซื้อ เอิ๊ก ๆ ๆ หัวเราะลงลูกคอ เลยนะ นั่นแน่ ยิ้มอีกต่างหาก ถูกใจอะไรจ๊ะ หรือใครมาเล่นด้วย ผมนั่งลงพูดกับหลานสาวตัวน้อย แม่บอกว่า “แม่ซื้อ” เขามาเล่นด้วย ย้อนเวลากลับไป สมัยผมยังเป็นเด็กเท่าที่พอจะจำความได้ ผมเคยได้ยินผู้ใหญ่พูดเกี่ยวกับ “แม่ซื้อ”หลานแรกเกิด นอนอยู่ดี ๆ ก็มีอาการสะดุ้งผวา และร้องไห้ แม่บอกว่าสงสัยแม่ซื้อ เขามาเล่นด้วย ผมเคยก็ได้ยิน คำพูด “ สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใครมารับไปเน้อ ” แม่บอกว่า “แม่ซื้อ” ก็คือแม่ของเด็ก ที่เขาเป็นแม่ลูกกันมาตั้งแต่ชาติปางก่อน เมื่อลูกหนีมาเกิดเป็นทารก แม่ก็โกรธ ไม่พอใจ ไม่ยอมให้ลูกไปเกิด จึงตามมาเเอาทารกน้อยกลับไปเป็นลูกของตนตามเดิม ใจร้ายนะครับ “แม่ซื้อ” ร้ายเพราะรักไม่อยากให้ลูกพลัดพรากจากอก แม่บอกว่าถ้า “แม่ซื้อ”ไม่ยอมต้องพาเด็กไปหาพระเพื่อทำพิธีขอกับแม่ซื้อ ดังคำพูด “ สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใครมารับไปเน้อ ” เมื่อแม่ซื้อได้ยิน ขอคิดว่าเด็กนั้นเป็นลูกของคนอื่นแล้ว จะไม่ตามมาแกล้งเด็ก ให้ร้องไห้งอแง เจ็บป่วยไข้ อีกต่อไป ในรายที่แม่ซื้อไม่ยอม เป็น “แม่ซื้อ” สายพันธ์โหด นางก็จะทำทุกวิถีทาง ให้เด็กร้องไห้ไม่หยุด ไม่หลับไม่นอน เป็นไข้ ไม่สบาย และเด็กก็เสียชีวิตในที่สุด กลับไปสู่อ้อมอกของ “แม่ซื้อ” อีกครั้ง นี่คือเรื่องราวที่แม่ผมเล่าให้ฟัง จนกระทั่งได้มาที่วัดโพธิ์ ซึ่งมีการจัดงาน ฉลองจารึกวัดโพธิ์ มรดกความทรงจำแห่งโลก 2554 ขึ้น งานนี้ทำให้ผมได้รับทั้งความรู้ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องที่แม่เล่าให้ฟัง และนอกจากนี้ยังได้รับความบันเทิง เห็น “แม่ซื้อ” ตัวเป็นๆ ออกมาแสดงระบำ “แม่ซื้อ” ด้วย ฮ่า ๆ ๆภาพโดย : Kasemakung(สมภัสสร) แม่ซื้อ เชื่อกันว่าเป็นเทวดาหรือผี ผู้ดูแลรักษาประจำตัวเด็ก มีชื่อเรียกตามวันทั้งเจ็ดด้วยครับ ที่ผนังวัดยังจารึกวิธีรักษาเด็กเมื่อเป็นไข้ต้องปฏิบัติอย่างไร เด็กที่เกิดข้างขึ้นหรือข้างแรม จะมีวิธีการรักษาอาการที่ต่างกัน ครับ ความเชื่อในเรื่องของ แม่ซื้อ ในแต่ละภูมิภาคอาจมีความแตกต่างกันไปบ้าง เช่น ภาคเหนือ มี 7 นางที่จะปกป้องดูแลทารกตามวันเกิดคล้ายๆกับภาคกลาง แม่ซื้อผู้ดูแลรักษาทารกที่เกิดวันอาทิตย์มีชื่อเรียกว่า วิจิดมาวรรณ ศรีษะเป็นสิงห์ มีผิวกายสีแดง แม่ซื้อผู้ดูแลรักษาทารกที่เกิดวันจันทร์มีชื่อเรียกว่า วรรณนงคราญ ศรีษะเป็นม้า มีผิวกายสีขาวนวล แม่ซื้อผู้ดูแลรักษาทารกที่เกิดวันอังคารมีชื่อเรียกว่า ยักษบริสุทธิ ศรีษะเป็นควาย มีผิวกายสีชมพู แม่ซื้อผู้ดูแลรักษาทารกที่เกิดวันพุธมีชื่อเรียกว่า สามลทัศ ศรีษะเป็นช้าง มีผิวกายสีเขียว แม่ซื้อผู้ดูแลรักษาทารกที่เกิดวันพฤหัสบดีมีชื่อเรียกว่า กาโลทุกข์ ศรีษะเป็นกวาง มีผิวกายสีเหลืองอ่อน แม่ซื้อผู้ดูแลรักษาทารกที่เกิดวันศุกร์มีชื่อเรียกว่า ยักษนงเยาว์ ศรีษะเป็นวัว มีผิวกายสีฟ้า แม่ซื้อผู้ดูแลรักษาทารกที่เกิดวันเสาร์มีชื่อเรียกว่า เอกาไลย์ ศรีษะเป็นเสือ มีผิวกายสีดำ ภาคใต้ แม่ซื้อ เป็นสิ่งเร้นลับไม่มีตัวตน จะมีฐานะเป็นเทวดา หรือ ภูตผี ไม่ปรากฏชัด ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของทารกตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 12 ขวบมีด้วยกัน 4 ตน เป็นผู้หญิง ชื่อ ผุด ผัด พัด และ ผล แต่ก็มีบางพื้นที่ ที่กล่าวว่า แม่ซื้อมีทั้งชายและหญิง หรือบางพื้นที่มีตำนานว่า “ แม่ซื้อ “ เดิมเป็นเทพธิดา พระอิศวรมีบัญชาให้ “ อันตรธานหายกลายเป็น แม่ซื้อ ลงมารักษาทารก ทางภาคอีสาน เป็นความเชื่อในสังคมเขมร-ส่วย ว่าทุกคนที่ปฏิสนธิในครรภ์มารดานั้น มีแม่ผู้สร้างทารกและเลี้ยงดูในครรภ์ จนกระทั่งคลอดออกมา แล้วยังตามมาดูแลด้วยความรักและหวงแหน หรือมาหยอกล้อเล่นด้วย ชาวบ้านเชื่อว่าทารกที่เกิดใหม่ที่มักนอนยิ้มอยู่คนเดียว ทั้งนี้เพราะมี แม่ซื้อ มาหยอกเล่นกับเด็ก แม่ซื้อ นี้เมื่อเห็นเด็กทารกมีแม่ใหม่ก็หวงแหน อยากได้ลูกกลับไปอยู่กับตน จึงทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆนานา เช่น นอนสดุ้งร้องไห้ผิดปกติ ไม่มีสาเหตุ จึงมักมีพิธี แบ่งลูกผี ลูกคน ซึ่งเป็นพิธีรับขวัญเด็กอ่อนอย่างหนึ่ง พิธีการ คือนำเด็กทารกมาใส่กระด้งร่อนแล้วกล่าวว่า “ สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใคร ใครเอาไปเน้อ “ ฝ่ายพ่อแม่ก็จะรับว่าเป็นลูกตน คนทำพิธีก็จะส่งลูกให้ แม่ซื้อก็จะรู้ว่าทารกนั้นเป็นลูกคนแล้ว ก็จะไม่มารบกวนอีก วัดพระเชตุพนฯ หรือวัดโพธิ์ มีศาลารายที่ตั้งอยู่หน้าพระมหาเจดีย์และพระอุโบสถ เป็นนศาลารายหลังใต้เรียกกันว่า “ ศาลาแม่ซื้อ “ จารึกตำรายาสำหรับเด็กรวมทั้งการรักษาโรคที่เกี่ยวกับเด็ก “ แม่ซื้อ “ เป็นวิธีการต่างๆที่บรรพบุรุษของเราคิดขึ้นเพื่อปกป้องลูกหลานให้มีชีวิตที่ดี หลีกเลี่ยงการเจ็บไข้ได้ง่าย ทั้งยังเป็นการสร้างขวัญ และกำลังใจแก่พ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกๆของตนด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นการสื่อให้เห็นถึงความรักจากรุ่นสู่รุ่น