รีเซต

มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เตรียมตั้งสถานีโทรมาตร นำร่องภาคเหนือ ช่วยผู้ประสบอุทกภัย

มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เตรียมตั้งสถานีโทรมาตร นำร่องภาคเหนือ ช่วยผู้ประสบอุทกภัย
มติชน
24 กรกฎาคม 2563 ( 22:54 )
193
มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เตรียมตั้งสถานีโทรมาตร นำร่องภาคเหนือ ช่วยผู้ประสบอุทกภัย

เมื่อเวลา 16.00น. วันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ที่โรงแรมเลอ เมอริเดียน ต.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษา  และประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ในองค์อุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ว่า มูลนิธิได้ดำเนินงานใน 3 ด้าน คือ งานบรรเทาทุกข์ ที่มอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัยทั่วประเทศมา 25 ปีแล้ว เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน 3-7 วัน ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงเลือกสิ่งของในถุงยังชีพด้วยพระองค์เอง เพื่อให้ตรงกับความต้องการผู้ประสบภัย หลังมีการสำรวจและประเมินผลกระทบทางด้านสังคม

 

“ส่วนการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน หลังเกิดอุทกภัย ทำให้มีบ้านเรือนและไร่นาเสียหาย ได้มอบเงินช่วยเหลือสหกรณ์ และร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน สร้างงานในชุมชน อาทิ ทำผ้าคราม เพื่อตัดเป็นเสื้อ กระโปรง ผ้าพันคอ นำไปจำหน่ายที่งานแฟร์ อาทิ งานกาชาด งานพึ่ง(ภาฯ) โดยใช้เทคโนโลยีผลิต และส่งเสริมตลาดแบบครบวงจร เพื่อสร้างงานและรายได้สู่ชุมชน พร้อมร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิค ให้บริการซ่อมสร้าง ซ่อมบ้านเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ และเครื่องมือการเกษตร โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

สำหรับการป้องกันและเฝ้าระวังเกิดอุทักภัย ได้บันทึกลงนามข้อตกลงหรือเอ็มโอยู กับ 7 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสถาบันสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เพื่อติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ และตรวจวัดข้อมูลภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน และระดับน้ำ บริเวณป่าต้นน้ำโดยมีแผนติดตั้ง 510 แห่งทั่วประเทศ เบื้องต้นนำร่องที่ภาคเหนือจำนวน 80 สถานี ในพื้นที่ 12 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปางลำพูน แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย และ อุทัยธานี และติดตั้งให้ครบทุกสถานีภายในปี 2564 ตามลำดับ

 

“ได้ติดตั้งและทดลองระบบสถานีดังกล่าว 14 แห่งแล้ว พร้อมอบรมชุมชนอาสาเตือนภัย เพื่อนพึ่ง(ภาฯ) เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังอุทกภัย เพื่อป้องกันและอพยพราษฏรในพื้นที่เสี่ยง ที่อาจเกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มซ้ำซาก โดยนำร่องบ้านร้องแง อ.ปัว จ.น่าน เป็นแห่งแรก และขยายผลการอบรมดังกล่าวไปอีก 20 ชุมชนแล้ว เพื่อให้ผู้นำชุมชนได้เตือนและประกาศเสียงตามสายให้ประชาชนได้รับทราบโดยฝึกอบรมการใช้วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือสื่อสาร เทคโนโลยี พร้อมบำรุงรักษา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด” นายสุรเกียรติ์ กล่าว

 

นายสุรเกียรติ์ กล่าวว่า ในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ได้ตั้งคณะกรรมการธุรกรรมออนไลน์ชุมชน เมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือผู้ตกงาน หรือบัณฑิตว่างงาน โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัย CMKL ประเทศไทย พัฒนาซอฟต์แวร์ขายและสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ด้วยระบบเสียง เพื่อเป็นช่องทางทำธุรกิจ และเพิ่มธุรกรรมออนไลน์ชุมชน พร้อมเชิญไมโครซอฟ์ท และซิปปี้ มาร่วมโครงการขายสินค้าออนไลน์ทั่วโลก ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการใหม่ของมูลนิธิด้วย

 

“ภายหลังเข้ามาทำงานที่มูลนิธิ 3-4 ปี พบว่าปัญหาอุทกภัยรุนแรงขึ้นทุกปี จำเป็นต้องติดตั้งสถานีโทรมาตร เพื่อเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยง พร้อมอบรมจิตอาสา เป็นหมอเทคโนโลยีชุมชน และจัดตั้งเครือข่ายด้านการเตือนภัย อาทิ แอพพลิเคชั่น “ไทย วอเตอร์” เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกัน และร่วมกับกองทัพบก จัดตั้งคลังเก็บถุงยังชีพทั่วประเทศ ภาคเหนือที่ จ.พิษณุโลก มีถุงยังชีพหลายพันถุง สามารถนำไปแจกจ่ายผู้ประสบภัยได้ภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาเสด็จไปเปิดสถานีโทรมาตย ที่ศูนย์สาธิตการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก ต.โป่งแยง อ.แม่ริม วันที่ 25 กรกฎาคมนี้ ก่อนเสด็จไปชมนิทรรศการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจากมูลนิธิให้ความสำคัญมหาวิทยาลัยดังกล่าว มีหลายคณะที่ช่วยเหลือมูลนิธิ และมีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนด้วย” นายสุรเกียรติ์ กล่าว