รีเซต

TMILL ต้นทุนข้าวสาลีลด ดันยอดขาย-กำไรครึ่งหลังฟื้น

TMILL ต้นทุนข้าวสาลีลด  ดันยอดขาย-กำไรครึ่งหลังฟื้น
ทันหุ้น
16 กรกฎาคม 2567 ( 22:54 )
47

#TMILL #ทันหุ้น – TMILL ส่งซิกผลงานครึ่งปีหลังยอดขาย-อัตรากำไร เติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก อานิสงส์ต้นทุนข้าวสาลีใหม่ราคาต่ำกว่าเดิม ด้านกลยุทธ์การตลาดเน้นขยายพื้นที่ไปต่างจังหวัด เพิ่มทีมเซลล์ กระตุ้นยอดขาย พร้อมคุมอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

นางแววตา กุลโชตธาดา ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท ที เอส ฟลาวมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TMILL ผู้ผลิตและจำหน่ายแป้งสาลี ได้แก่ แป้งบะหมี่สด แป้งขนมปัง แป้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แป้งบิสกิต แป้งอเนกประสงค์ แป้งอาหารสัตว์ เป็นต้น ภายใต้ตราสินค้าของบริษัทเอง โดยเป็นการ Spin Off  มาจาก TSTE เเละมีโรงงานโม่แป้งสาลีรายใหญ่และมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยที่สุดในประเทศ เปิดเผยว่า บริษัทเชื่อว่าทิศทางผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 จะดีขึ้นมากกว่าครึ่งปีแรก

 

** ต้นทุนลดลง

ทั้งนี้เนื่องจากต้นทุนข้าวสาลีที่อยู่ในระดับสูงได้หมดลงไปแล้ว ตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสที่ 2/2567 และต้นทุนราคาข้าวสาลีล็อตใหม่ที่บริษัทได้รับเข้ามา ถึงแม้จะมีต้นทุนราคาที่อยู่ในระดับสูงแต่ก็ถือว่าต่ำกว่าต้นทุนเก่า เพราะฉะนั้นบริษัทเชื่อว่ายอดขายและอัตรากำไร โดยรวมในช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก

 

สำหรับกลยุทธ์การตลาดบริษัทได้ดำเนินงานต่อเนื่องในเรื่องของการขยายไปยังต่างจังหวัดเพิ่มเติม เเละได้หาพนักงานขายเพิ่ม รวมถึงปรับเปลี่ยนวิธีการขายให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น จากเดิมลักษณะการขายของบริษัทจะเน้นการขายตรงให้แก่ลูกค้า โดยลูกค้าจะสั่งสินค้าเป็นล็อตโดยมีการกำหนดราคาล่วงหน้าเป็นระยะสั้นๆ และบริษัทจะทยอยจัดส่งให้ลูกค้า ตามที่ลูกค้าต้องการตามราคาที่ตกลงไว้ โดยการชำระเงินมีทั้งแบบการให้เครดิตทางการค้า และแบบเงินสด

 

เเละมีทีมงานขายของบริษัทเอง โดยจะเน้นกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก ซึ่งมีทีมงานขายที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญและชำนาญในด้านการขาย โดยทำหน้าที่ติดต่อ และประสานงานในการขายกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้าส่งหรือยี่ปั๊วจะเป็นช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าเพื่อให้สินค้ากระจายถึงผู้บริโภคอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันยอดขายให้มีการเติบโตมากยิ่งขึ้น

 

** อัตราแลกเปลี่ยน

นอกจากนี้อัตราค่าเงินบาทปัจจุบันอยู่ในระดับที่ 36 บาท ก็ถือว่าเป็นระดับที่รับได้ โดยบริษัทได้มีการบริหารความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากบริษัทต้องนำเข้าวัตถุดิบเมล็ดข้าวสาลี ซึ่งเป็นวัตถุดิบมาจากต่างประเทศทั้งหมด โดยแหล่งวัตถุดิบหลักของบริษัทมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ซึ่งทั้ง 2 แหล่งถือเป็นแหล่งเพาะปลูกและส่งออกข้าวสาลีที่ใหญ่ที่สุดของโลก

 

รวมถึงการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยการจองซื้ออัตราแลกเปลี่ยนตามสกุลเงินในการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศล่วงหน้า (Fixed Forward Exchange Rate) เพื่อป้องกันความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท รวมถึงบริษัทไม่มีนโยบายเก่งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

ประกอบกับการบริหารจัดการวัตถุดิบ บริษัทไม่มีนโยบายในการเก็งกำไรจากวัตถุดิบ และไม่มีการบริหารจัดการวัตถุดิบในลักษณะการเข้าทำสัญญาซื้อล่วงหน้าหรือ Futures เนื่องจากการตั้งราคาขายแป้งจะปรับขึ้นลงตามราคาต้นทุนข้าว ซึ่งลูกค้าเข้าใจดีสำหรับขั้นตอนการจัดซื้อข้าวสาลีจากต่างประเทศจะเป็นการซื้อโดยผ่าน Trader ในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และบางครั้งเป็น Trader ที่มีสาขาอยู่ที่สิงคโปร์ โดยใช้ราคาอ้างอิงจากราคาซื้อขายสินค้าล่วงหน้าที่ CBOT หรือ Chicago Board of Trade ที่สหรัฐอเมริกา ราคาที่บริษัทซื้อส่วนใหญ่จะเป็นแบบ C&F ซึ่งผู้ขายจะมีหน้าที่จัดหาเรือขนส่งจากต่างประเทศจนถึงประเทศไทย

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง