หากกล่าวถึงยางอินเดีย ไม้ประดับยอดฮิต เชื่อว่าหลายคนหลายท่านคงจะคุ้นเคยกันดี เพราะเรามักจะเห็นอยู่ในกระถางตั้งประดับตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป และตามอาคารสำนักงานต่าง ๆ โดยส่วนตัวแล้วจะคุ้นเคยกับต้นยางอินเดียมาตั้งแต่สมัยยังเด็ก โดยภายในวัดที่ผู้เขียนเองไปบวชเป็นสามเณรนั้น จะมีต้นยางอินเดียปลูกอยู่ต้นหนึ่งซึ่งรอบ ๆ ต้นยางก็จะก่อปูนไว้สำหรับเป็นที่นั่งเล่น ซึ่งจะมีความร่มเย็นเป็นพิเศษ ส่วนในปัจจุบันจะเห็นยางอินเดียมากขึ้นในรูปแบบไม้กระถางประดับ เพราะความที่มีใบใหญ่หนา เป็นมันเงา ยิ่งปัจจุบันมีการเพาะพันธุ์ออกมาหลากหลายสายพันธุ์ทั้งแบบใบด่าง และใบดำ ยิ่งทำให้แลดูสวยงามแปลกตายิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นไม้ฟอกอากาศอย่างดี จึงเป็นที่นิยมนำมาประดับกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งพอจะแยกข้อดีและประโยชน์ได้ดังนี้ ข้อดี และประโยชน์ของยางอินเดีย 1, เป็นไม้ประดับที่สวยงาม สามารถอยู่ได้ทั้งภายในและภายนอกตัวอาคาร 2, เป็นไม้ที่ขยายพันธุ์ ปลูก และบำรุงรักษาง่าย 3, หากปลูกลงดิน ก็เป็นไม้ใหญ่ใบหนาให้ร่มเงาได้ดี และไม่ผลัดใบ 4, ใบมีลักษณะหนา เป็นมันเงา ไม่เหี่ยวง่าย จึงนิยมนำมาจัดดอกไม้ 5, สามารปลูกเพื่อขายได้ และค่อนข้างจะมีราคา โดยเฉพาะสายพันธุ์ใบด่าง และใบดำ ด้วยประโยชน์และความสวยงามของยางอินเดียเมื่อเป็นไม้ประดับในกระถาง อาจทำให้หลาย ๆ คนหลงใหลในความสวยงามแล้วคิดอยากจะนำปลูกลงดินบ้างเพื่อง่ายต่อการดูแลรักษา หรือเพื่อประดับก็ตาม จึงอยากแนะนำให้ลองคิดดูอีกที หรือศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับต้นยางอินเดียตามสื่อต่าง ๆ หรือลองอ่านข้อเสียที่ผู้เขียนเจอมาดูก่อน เพราะแท้จริงแล้ว ยางอินเดียนั้นเป็นไม้ในวงศ์เดียวกันกับโพธิ์ และไทร โดยข้อเสียนั้นขอแยกกล่างดังนี้ ข้อเสียของยางอินเดีย 1, เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ที่สามารถสูงได้ถึง 25 - 30 เมตร กิ่งก้านสาขาก็สามารถแผ่ขยายได้ในระยะกว้าง ซึ่งเป็นอันตรายกับตัวบ้านแน่นอน 2, ราก เป็นลักษณะเดียวกันกับรากโพธิ์ รากไทร สามารถกินพื้นที่ในบริเวณกว้าง และมีพลังทำลายสูง แถมมีรากอากาศที่หากย้อยถึงพื้นไม่ว่าจะเป็นพื้นดินหรือพื้นปูน สามารถชอนไชและโตเป็นลำต้นต่อไปได้ 3, กิ่งแขนงมีขนาดนิ้วมือมีลักษณะยาวเฟื้อยลู่ลง หากไม่หมั่นตัดแต่งจะปกคลุมเป็นพุ่มทึบ และมักจะมีกิ่งและแขนงแตกออกทั่วทั้งต้นที่ต้องคอยตัดออกเป็นประจำ 4, เป็นไม้มียางทุกส่วน ซึ่งเปรอะเปื้อยเสื้อผ้าและเนื้อตัวได้ง่าย ข้อเสียของยางอินเดียหลัก ๆ นั้น จะเกิดจากการนำต้นยางอินเดียไปปลูกลงดินโดยตรงซึ่งจะทำให้รากและลำต้นนั้นใหญ่โตขยายรุกล้ำพื้นที่ในบริเวณกว้าง ซึ่งไม่เหมาะเป็นอย่างยิ่งที่จะปลูกใกล้ตัวบ้าน หรือสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ จะเหมาะกับพื้นที่ที่มีบริเวณกว้าง ๆ อย่างวัด สถานที่ราชการ และสวนสาธารณะต่าง ๆ เพราะเป็นไม้ที่มีใบหนาทึบไม่ผลัดใบ จึงให้ร่มเงาได้เป็นอย่างดีหากปลูกลงดินในบริเวณที่เหมาะสม- ภาพหน้าปก และภาพทั้งหมดโดยเจ้าของบทความ - เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !