ปัจจุบันเป็นยุคที่ผู้คนใช้สมาร์ตโฟนจนเป็นส่วนสำคัญในชีวิต ซึ่งนอกจากจะให้ความบันเทิงแล้วยังทำธุรกรรมออนไลน์ได้อย่างง่ายดายอีกด้วยเพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ความสะดวกสบายนั้นทำให้คนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ได้ง่ายเช่นกัน จะเห็นได้จากข่าวว่ามีคนโดนมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินบ่อยๆ จนสูญเสียทรัพย์สินหรือเงินเก็บที่หามาทั้งชีวิต บทความนี้เราจะพามารู้จักกับมิจฉาชีพออนไลน์ ว่ามีรูปแบบการหลอกอย่างไรรวมถึงวิธีการปฏิบัติเมื่อถูกหลอกและวิธีป้องกันมิจฉาชีพออนไลน์ รูปแบบกลโกงของมิจฉาชีพออนไลน์ 1.แก๊งคอลเซ็นเตอร์ วิธียอดนิยมของมิจฉาชีพออนไลน์ทุกยุคทุกสมัยคือการเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยจะแอบอ้างเป็นหน่วยงานราชการหรือเจ้าหน้าที่ธนาคาร โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้จะใช้ความกลัวในการข่มขู่เหยื่อเพื่อให้เหยื่อรีบดำเนินการตามคำบอก เช่น บอกว่ามีคดีความต้องรีบโอนเงินเพื่อแก้ปัญหา ทำให้เราต้องรีบโอนเงินเพราะกลัวไม่อยากให้เกิดคดีความ ทำให้สูญเสียเงินจำนวนมาก 2.แอปพลิเคชันเงินกู้เถื่อน ปัจจุบันมิจฉาชีพออนไลน์จะใช้แอปพลิเคชันเงินกู้เถื่อนในการหลอกเหยื่อ โดยแอปพลิเคชันเหล่านี้อาจถูกติดตั้งมาพร้อมกับมือถือหรือเราเผลอไปกดติดตั้งโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งแอปดังกล่าวสามารถขโมยข้อมูลส่วนตัวหรือติดตั้งไวรัสได้ ทำให้เกิดการขโมยข้อมูลทางการเงิน นำไปสู่การสูญเสียทรัพย์หรือเปิดบัญชีม้าได้ 3.หลอกลงทุนหรือทำงานผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ การหลอกให้ลงทุนทางแพลตฟอร์มออนไลน์หรือทำงานผ่านโซเชียลมีเดียก็เป็นอีกวิธีที่มีคนหลงกลกันมาก โดยจะใช้วิธีให้เหยื่อลงทุนที่อ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงยิ่งลงทุนเท่าไหร่ก็จะยิ่งได้รับผลตอบแทนเท่านั้น ทำให้เหยื่อเกิดแรงจูงใจจนลงทุนไปมหาศาล หรือประกาศรับสมัครงานพร้อมโฆษณาชวนเชื่อ เช่น เป็นงานที่ทำง่ายๆ ได้ค่าคอมมิชชันสูง สามารถทำงานได้จากที่บ้านเพียงแค่มีสมาร์ตโฟน ซึ่งมีคนจำนวนมากที่หลงกลโฆษณาชวนฝันเหล่านี้ 4.ไม่ส่งของให้หรือสินค้าไม่ตรงปก อีกหนึ่งรูปแบบของมิจฉาชีพออนไลน์คือการขายสินค้าที่ราคาถูกกว่าท้องตลาด แต่เมื่อโอนเงินแล้วกลับไม่ได้รับสินค้าหรือได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่ง เช่น สั่งโทรศัพท์มือถือแต่ได้ยางลบมาแทน ทางที่ดีก่อนจะสั่งสินค้าทางออนไลน์ควรเช็คเครดิตร้านค้าก่อนทุกครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการโกงขึ้น 5.SMS ปลอม มิจฉาชีพเหล่านี้จะส่ง SMS ปลอมเป็นองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ แล้วแนบลิงก์เว็บโกงเข้าไปใน SMS เมื่อเหยื่อกดเข้าไปในลิงก์ดังกล่าวก็จะถูกแฮ็กข้อมูลทั้งหมดทั้งข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงิน หรือหลอกให้ลงทะเบียนข้อมูลส่วนตัวโดยอ้างว่าได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ของสมนาคุณจากการซื้อสินค้าหรือใช้บริการ เมื่อลงทะเบียนแล้วก็จะถูกดูดเงินออกจากบัญชีธนาคารได้ วิธีป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ 1.ติดตั้งแอปพลิเคชันเช็คเบอร์โทร การติดตั้งแอปพลิเคชันช่วยเช็คเบอร์โทรมิจฉาชีพถือว่าเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก เพียงแค่ติดตั้งแอปพลิเคชันที่สามารถกรองเบอร์ที่น่าสงสัย และบล็อกเบอร์เหล่านั้นไม่ใช้โทรมาได้ แอปที่คนนิยมใช้เช็คเบอร์มิจฉาชีพมากที่สุดคือ Whoscall ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงได้เพียงแค่ดาวน์โหลดมาไว้ในโทรศัพท์มือถือเท่านั้น 2.ตรวจเช็กก่อนโอนเงิน ก่อนจะโอนเงินทุกครั้งควรตรวจสอบก่อนว่าใช่มิจฉาชีพมั้ย หรือถ้ามีหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ติดต่อให้โอนเงินควรติดต่อกับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เมื่อเช็คจนมั่นใจแล้วว่าปลอดภัยค่อยทำการโอนเงิน 3.ไม่กดลิงก์แปลกๆ เมื่อได้รับ SMS ที่มีลิงก์แนบมาไม่ควรกดลิงก์เหล่านั้น เพราะมิจฉาชีพสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลทางการเงินจากการที่เรากดลิงก์ได้ ดังนั้นควรระวัง SMS ที่ถูกส่งเข้ามาในโทรศัพท์มือถือและไม่กดลิงก์ที่แนบมาด้วย 4.บล็อกเบอร์มิจฉาชีพ สิ่งที่ควรทำหลังจากรู้เบอร์ของมิจฉาชีพแล้วคือการบล็อกเบอร์โทรนั้น เพื่อไม่ให้ถูกก่อกวนอีก หรือ report เบอร์นั้นเพื่อให้คนอื่นรู้ว่าเป็นเบอร์โทรของมิจฉาชีพ จะได้ช่วยป้องกันไม่ให้มีเหยื่อถูกหลอก 5.หลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลส่วนตัวกับผู้อื่น ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินถือเป็นข้อมูลสำคัญมากไม่ควรบอกข้อมูลเหล่านี้ให้ใครรวมถึงไม่ควรกรอกข้อมูลสำคัญในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะมิจฉาชีพออนไลน์สมัยนี้มีกลยุทธ์ที่สามารถล้วงข้อมูลลับได้อย่างง่ายดาย ต้องทำอย่างไรหลังตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ 1.ตัดการติดต่อทุกช่องทาง สิ่งแรกที่ควรทำหลังจากรู้ตัวว่าโดนหลอกคือตัดการติดต่อกับมิจฉาชีพทันที เพราะถ้ายังติดต่อกับมิจฉาชีพเหล่านั้นต่อไปอาจจะมีการสูญเสียเพิ่มขึ้น การรีบตัดการติดต่อทุกช่องทางถือเป็นการป้องกันไม่ให้สูญเสียมากกว่านี้ 2.ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อถูกมิจฉาชีพหลอกแล้วควรรีบติดต่อกับหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์ รวมทั้งสามารถแจ้งความผ่านทางออนไลน์ได้ 3.ติดต่อสถาบันการเงิน หลังจากถูกมิจฉาชีพหลอกให้สูญเสียทรัพย์สินแล้วควรรวบรวมข้อมูลหลักฐานและเอกสารที่เกี่ยวข้อง จากนั้นติดต่อกับสถาบันการเงินที่ใช้บริการอยู่ แล้วทำตามขั้นตอนการขอเงินคืนจากธนาคาร มิจฉาชีพออนไลน์มีกลยุทธ์มากมายที่ใช้ในการหลอกเหยื่อ ในโลกโซเชียลมีเดียมีคนจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์ ดังนั้นผู้ใช้โซเชียลควรมีสติและรู้เท่าทันกลโกงเสมอ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับมิจฉาชีพออนไลน์ควรใจเย็นและรับมืออย่างมีสติ แค่นี้ก็ไม่ตกเป็นเหยื่อของภัยร้ายในโลกออนไลน์แล้ว ขอบคุณเครดิตภาพ ภาพที่1 โดย camilo jimenez จาก unsplash , ภาพที่2 โดย kreatikar , ภาพที่3 โดย Pixelkult , ภาพที่4 โดย Alexas_Fotos และ ภาพที่5 โดย RobertCheaib จาก pixabay เครดิตภาพหน้าปก จาก pixabay โดย geralt เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !