รีเซต

มติคนตากเอกฉันท์ ตั้งชื่อ 'ถนนเสรีไทย' รำลึกสมรภูมิสงครามโลก ครั้งที่ 2

มติคนตากเอกฉันท์ ตั้งชื่อ 'ถนนเสรีไทย' รำลึกสมรภูมิสงครามโลก ครั้งที่ 2
มติชน
23 กุมภาพันธ์ 2565 ( 13:31 )
38

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ นายธงไชย ชมถนอม ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบท จังหวัดตาก เป็นประธานที่ประชุม การตั้งชื่อโครงการการก่อสร้างถนนวงแหวน รอบนครแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก จาก โครงการเดิม ซึ่งเป็น “โครงข่ายทางหลวงชนบท เพื่อสนับสนุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก (แม่สอด เส้นทางทางหลวงชนบทสาย ง.3, ง.2, ค.1 และ ค.2 และเลขเส้นทาง หลวงชนบทสายต่างๆ ในพื้นที่ อ.แม่สอด เช่น ตก.3002 , ตก.3051, ตก.5052 , ตก.3050 , บริเวณผังเมืองรวมนครแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก รวมระยะทาง 13.589 กม. งบประมาณค่าก่อสร้าง 450,280,000.00 บาท)

 

โดยในการประชุมดังกล่าว มีการเชิญ นายอุดร ตันติสุนทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายชรินทร์ หาญสืบสาย อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดตาก และประธานสภาวิทยาลัยชุมชนตาก นายสบเกษม แหงมงาม รองประธานคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดตาก และผู้แทนองค์กรปกครองท้องถิ่น ตำบลพระธาตุผาแดง ตำบลแม่ตาว ตำบลท่าสายลวด และเทศบาลนครแม่สอด ร่วมประชุม และแสดงความเห็นชอบการตั้งชื่อ ถนนเสรีไทย รำลึกยกย่อง ผู้นำไทย ที่ร่วมกับฝ่ายพันธมิตร ต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น ชนะสงครามโลก ครั้งที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2484-2488

 

นายอุดร ตันติสุนทร กล่าวว่า ตนเองวัย 12 ปี เห็นทหารญี่ปุ่น เดินในตัวเมืองตาก และ ส.ส.ตาก นายหมัง สายชุ่มอินทร์ นายพยุง ย.รัตนารมย์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมต่อสู้กับผู้ใหญ่ในรัฐบาลไทยมีการสร้างสนามบิน สร้างค่ายต่อสู้ที่บ้านห้วยเหลือง ปางสังกะสี ตำบลวังเจ้า กำนันเขียน และคณะต่อสู้กับทหารญี่ปุ่น ที่ล่องมาทางลุ่มแม่น้ำวัง ที่ บ้านตาก ส่วนหนึ่งเดินลัดป่า เข้ากิ่งอำเภอพบพระ (ก่อนยกฐานะเป็นอำเภอแม่สอด) ผ่านบริเวณเส้นทางตัดใหม่ของกรมทางหลวงชนบท ครั้งนั้น ฝ่ายพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะ ไทยเราไม่ต้องชดใช้ปฏิกรรมสงคราม ในฐานะผู้ชนะร่วมกับฝ่ายพันธมิตร สงครามโลก ครั้งที่ 2

 

นายชรินทร์ หาญสืบสาย กล่าวว่า ได้รับการประสานจากมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ รำลึกประวัติศาสตร์ความเก่งกล้าของคนตาก ที่ได้ร่วมประวัติศาสตร์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 จังหวัดภาคเหนือมีจังหวัดอุตรดิตถ์ แพร่ น่าน และในกรุงเทพ ฯ มีการตั้งชื่อถนนหลายเส้นทาง ต่อไปเส้นทางนี้ จะเป็นแลนด์มาร์ค แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดตาก ที่หลายฝ่ายจะช่วยกันโปรโมต เชื่อว่า จะเป็นประโยชน์ อย่างน้อย 1 เส้นทาง ส่วนสายอื่น ๆ อีก 3 เส้นทาง ให้คนในพื้นที่ช่วยตั้งชื่อ เช่นถนนพัฒนาแม่สอด ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง