ซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการ Stream นั่นมีมากมายเยอะจนเลือกไม่ถูกทั้งฟรีและไม่ฟรี Wirecast, Streamlabs OBS, vmix และ OBS ก็เป็นที่นิยมใช้งานค่อนข้างง่าย มีคอมมูนิตี้ให้ศึกษาและช่วยเหลือมากมาย ไม่ได้จะมาสอนใช้งานโปรแกรมทั้งหมด ถ้าเป็นคนที่คลุกคลีหรือทำงานเกี่ยวกับงานระบบเสียงคงจะไม่เท่าไรเมื่อเห็นหน้าตาโปรแกรม แต่คนทั่วไปที่ไม่เคยสัมผัสงานด้านนี้ คงมีงงเอ๋อกันบ้าง ดังนั้นวันนี้เราจะมาดูกันว่าฟิลเตอร์อะไรที่ควรต้องมีเมื่อเราจะใช้บันทึกเฉพาะเสียงพูดเท่านั้น ซึ่งจะไม่ได้ครอบคลุมถึงการบันทึกเสียงอื่น อย่างเช่นเสียงเครื่องดนตรี อธิบายลักษณะการทำงานของมันเป็นยังไง ไม่จำเป็นต้องใช้ทั้งหมด อาจจะเลือกมาใช้สัก 2 – 3 ตัวตามแต่สะดวก ก่อนจะไปที่ฟิลเตอร์ตัวแรกขอแนะนำส่วนที่เราจะพบบ่อยๆ ในฟิลเตอร์แต่ละตัวกันก่อน Ratio คือ ยอมให้เสียงผ่านไปในระดับที่เท่าไร หน่วยเป็นอัตราส่วน Threshold คือ ระดับเสียงที่เริ่มทำงาน หน่วยเป็น dB Release คือ การหน่วงเวลาก่อนหยุดทำงาน หน่วยเป็น ms 1. Expander ใช้สำหรับตัดเสียงรบกวน เช่น เสียงแอร์ เสียงคีย์บอร์ด เสียงพัดลม หากเสียงต่ำกว่าที่เราตั้งค่าไว้จะไม่ทำงาน Ratio 2.00:1 Threshold -40.00 dB Attack 10 ms Release 50 ms Output Gain 0.00 dB Detection RMS ฟิลเตอร์จะเริ่มทำงานเมื่อเสียงดังกว่าหรือเท่ากับ -40 dB ด้วยระดับเสียงที่ทำการลดค่าแล้วจาก 2 เหลือเพียง 1 ส่วน และระยะเวลาหน่วงก่อนเริ่มทำงาน 10 ms และหน่วงก่อนหยุดทำงานคือ 50 ms ให้เพิ่มระดับเสียงจากกระบวนการไปอีก 0.00 dB เช่น หากต้องการไม่ให้เสียงคีย์บอร์ดดังเข้ามา ขณะทำการปรับค่าให้พิมพ์คีย์บอร์ดไปด้วยแล้วปรับเลื่อนที่ Threshold ไป ด้านขวาจนกว่าเสียงคีย์บอร์ดจะหายไป แต่อย่าลืมเสียงพูดของเราด้วย ดังนั้นหากปรับมากเกินไปแม้เสียงคีย์บอร์ดจะหายไปแต่เสียงพูดเราก็จะหายไปด้วย ดังนั้นต้องพอดีตามความพอเหมาะสม ในส่วนของ Detection ไม่ต้องปรับค่าอะไรให้คงไว้ที่ RMS 2. Compressor ใช้สำหรับบีบสัญญาณเสียงให้อยู่ในระยะที่ไม่ดังเกินไป โดยยังคงให้เสียงผ่านไปได้ หากเสียงต่ำกว่าที่เราตั้งค่าไว้จะไม่ทำงาน Ratio 10.00:1 Threshold -18.00 dB Attack 6 ms Release 60 ms Output Gain 5.00 dB Sidechain/Ducking Source None ฟิลเตอร์จะเริ่มทำงานที่ -18.00 dB ทำการลดเสียงในอัตราส่วน 10.00 ให้เหลือเพียง 1 ส่วน หลังจากทำการหน่วงเวลาไปแล้ว 6 ms และหน่วงก่อนหยุดทำงาน 60 ms แล้วเพิ่มระดับเสียงไปอีก 5.00 dB Sidechain/Ducking Source ไม่ต้องปรับค่าใดๆ เช่น หากไม่ต้องการให้เสียงดังเกินไปเมื่อพูดให้ใช้ตัวนี้ช่วย ค่าที่ดีเมื่อทำการปรับค่าให้พูดแล้วดูระดับของเกจวัดควรอยู่ในระดับสีเหลือง ให้ลองพูดเสียงดัง หากถึงเกจแดงให้เลื่อน Threshold ไปทางด้านซ้ายเพื่อบีบเสียงจนกว่าระดับเสียงจะอยู่ในระดับสีเหลือง 3. Limiter ใช้สำหรับกำหนดให้เสียงไม่เกินกว่าระดับที่ตั้งไว้ ฟิลเตอร์ตัวนี้ คือจะไม่ยอมให้เสียงผ่านเลย มันจะกดเสียงไว้เมื่อดังเกินกว่าที่ตั้งค่า Threshold -6.00 dB Release 60 ms ฟิลเตอร์เริ่มทำงานที่ระดับเสียง -6.00 dB และจะหยุดทำงานหลังจากหน่วงแล้ว 60 ms 4. Noise Suppression ใช้สำหรับตัดเสียงรบกวน คล้ายๆ กับ Expander ให้เสียงนุ่มนวลกว่า ลดเสียง Background เช่น เสียงพัดลม เสียงสภาพแวดล้อม เช่น หากบันทึกเสียงภายในห้องแล้วมีเสียงสะท้อน เสียงจะลดลง แต่ต้องแลกด้วยการใช้งาน CPU ที่สูงขึ้น ฟิลเตอร์ตัวนี้แนะนำให้ตั้งไว้ที่ RNNoise ตามปกติ แต่ถ้าหากมีปัญหาเรื่อง CPU ก็ให้เปลี่ยนไปใช้ Speex ซึ่งจะโดนลดคุณภาพลง 5. Noise Gate ใช้สำหรับตัดเสียง Background เมื่อเราไม่ได้พูด เข้าใจง่ายๆ คือประตูเสียงปิดและเปิดตามที่เราตั้งค่าไว้ Close Threshold -32.00 dB Open Threshold -26.00 dB Attack time 25 ms Hold Time 200 ms Release Time 150 ms ฟิลเตอร์จะเริ่มทำงานระดับเสียงที่มากกว่าหรือเท่ากับ -26.00 dB หลังจากหน่วงเป็นเวลา 25 ms และแม้จะไม่มีเสียงก็จะรอไปอีก 200 ms หากไม่มีเสียง หรือระดับเสียงต่ำกว่า -32.00 dB ก็จะหน่วงก่อน 150 ms ก่อนปิดการทำงาน และหากเสียงที่ต่ำกว่า -32.00 dB ฟิลเตอร์ก็จะไม่ทำงานเช่นกัน Trick ฟังสภาพแวดล้อมภายในห้องบันทึกว่ามีเสียงไหนที่เราไม่ต้องการ ระยะห่างระหว่างปากกับไมค์ควรอยู่ในระยะเดิมทุกครั้ง เสียงในระดับที่ดีคือควรอยู่ในเกจสีเหลือง หรือให้ใกล้กับ 0 dB ระวังเรื่องเสียงคีย์บอร์ด เว้นเสียแต่ว่าคุณต้องการมันเพื่ออรรถรสของผู้ฟัง ระดับฟิลเตอร์ OBS เหมือนเครื่องกรองไหลจากบนลงล่าง ไมค์และสภาพแวดล้อมในห้องบันทึกไม่เหมือนกันอย่าใช้ค่าตามตัวอย่างต้องลองปรับ หากตั้งค่าฟิลเตอร์ไว้แล้ว ไม่จำเป็นต้องลบออก ใช้การซ่อนแทนได้ Threshold คือส่วนที่ต้องเข้าใจการทำงานเป็นอย่างยิ่ง สรุปการใช้งานฟิลเตอร์แบบสั้นๆ Expander ใช้ตัดเสียงรบกวน ตามแต่เราต้องการ พวกเสียง Noise เบา Compressor ใช้บีบอัดเสียงให้อยู่ในระดับเสมอไม่แกว่ง Limiter ใช้จำกัดเสียงไม่ให้เกินระดับที่ต้องการ Noise Suppression ใช้ตัดเสียงรบกวนแต่ ไม่ยืดหยุ่นเท่ากับ Expander Noise Gate ประตูเปิดปิดเสียง ต้องทำดูในสภาพแวดล้อมในการบันทึกเสียงจริงๆ เพื่อปรับตั้งค่า แม้ในเว็บของ OBS จะแนะนำการตั้งค่าพื้นฐานมาให้ แต่หากจะได้คุณภาพเสียงที่ดีควรปรับเอง แนะนำให้ทำความเข้าใจเรื่อง Threshold เป็นหลัก แล้วอย่างอื่นจะง่ายหมด Credit ภาพปก osama aslam จาก Pixabay ภาพประกอบที่ 1 Daniel Chrisman จาก Pixabay ภาพประกอบที่ 2 - 7 โดยผู้เขียน Aliztell ภาพประกอบที่ 8 Arek Socha จาก Pixabay เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !