PSU (Power Supply Unit) ที่ใครหลายคนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับมันเท่าไร คิดว่าใช้ตัวไหนก็เหมือนๆ กัน ใช้ Watt สูงก็ไม่ได้ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์แรงขึ้นหรอก กินไฟอีกต่างหาก ก็จริงอยู่ และเพราะเราถูกสอนกันมายาวนานเกี่ยวกับเรื่องของไฟฟ้าว่า Watt ยิ่งสูง ยิ่งกินไฟ แต่เรื่อง Watt ของ PSU นั้นมีรายละเอียดที่มากกว่านั้น Watt สูง อาจจะกินไฟน้อยกว่า Watt ต่ำกว่าด้วยซ้ำไป ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นPSU คืออุปกรณ์สำหรับแปลงไฟจาก AC ไป DC เพื่อจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นเมนบอร์ด ซีพียู การ์ดจอ แรม ฮาร์ดดิสก์ เอสเอสดี ใครที่พบปัญหา จอฟ้า เครื่องค้าง ใช้ๆ ไปเครื่องดับ เครื่องรีสตาร์ทเอง ปัญหาอาจจะเกิดจากเจ้าตัว PSU นี้ก็เป็นได้ครับ ถ้าเจอปัญหาหนักๆ เลยก็อาจทำให้อุปกรณ์ของคุณเสียหายได้เลยครับ เนื่องจากการใช้ PSU ที่ไม่มีคุณภาพ ลองจินตนาการนะครับว่า งานที่คุณจะต้องส่งให้ลูกค้า ดันอยู่ใน SSD ตัวที่พังอยู่พอดีจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นถ้าจะซื้อ PSU ตัวใหม่ ควรต้องดูอะไรบ้าง1. จำนวน Watt ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณใช้งาน โดยนำจำนวน Watt ของอุปกรณ์แต่ละชิ้นมาบวกกัน แนะนำว่าให้คิดจากจำนวน Watt สูงสุด แม้อุปกรณ์จะไม่ได้ทำงานสูงสุดแต่เผื่อให้เกินไปสักนิดครับ อย่าให้ขาด อย่าลืมว่าคุณต้องรวมเจ้าพัดลม Heatsink พัดลมระบายความร้อนขนาดต่างๆ ที่ใช้งาน หรือแม้กระทั่งชุดน้ำ เมาส์ คีย์บอร์ด คิดทุกตัวครับ แต่เพื่อให้ง่ายขึ้น ผมมีเว็บไซต์ที่ช่วยในการคิดจำนวน Watt และช่วยคุณเลือกได้ครับว่าจะต้องใช้ PSU Watt เท่าใด จึงจะเพียงพอ 2. PSU มาตรฐาน 80 Plus คือมาตรฐาน ประสิทธิภาพของ PSU ตัวนั้นๆ โดยหลักการทางวิศวกรรม ประสิทธิภาพใดๆ ก็ตาม จะต้องมีค่าไม่เกิน 1 หรือ 100% การที่แปลงกระแสจาก AC เป็น DC กำลังไฟฟ้าจะสูญเสียไปจากกระบวนแปลง และส่วนใหญ่เกิดจากความร้อน แต่มาตรฐาน 80 Plus จะยังคงรักษาประสิทธิภาพของพลังงานไว้ได้ 80% หรือมากกว่า โดยใกล้เคียงกับ 100% มาตรฐาน 80 Plus มีหลายระดับด้วยกันไล่ตั้งแต่ Standard ไปจนถึง Titanium ตัว Titanium คือประสิทธิภาพสูงสุดของ PSU ครับ หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 80 Plus สามารถเลื่อนลงไปอ่านได้ในตอนท้ายครับ3. Modular คืออะไร ตัว PSU จะมีสายไฟที่เชื่อมต่อออกมาจากตัวของมันเองซึ่ง สามารถแยกได้เป็นFull-Modular สามารถถอดสายเชื่อมต่อได้ทุกตัว เพื่อความเรียบร้อยสวยงาม เสียบเฉพาะสายที่ใช้งาน ข้อเสียคือต้องระวังเรื่องสายหาย หรือเสียบสายไม่แน่นSemi-Modular สามารถถอดสายที่ไม่ได้ใช้งานได้บางตัวเท่านั้น โดยสาย 24 pin หรือสายหลักเมนบอร์ดจะถอดไม่ได้Non-Modular ไม่สามารถถอดสายใดๆ ได้เลย บางสายคุณอาจไม่ได้ใช้งานก็ต้องพันเก็บหรือซ่อนไว้ ข้อเสียคือสายไฟจะยุ่งมาก ข้อดีคือราคาถูกสุดข้อควรระวังสำหรับ PSU แบบ Full-Modular หากคุณทำสายเชื่อมต่อหาย ห้ามเอารุ่นอื่นมาใช้เด็ดขาด แม้มันจะเสียบด้วยกันได้ เพราะแผงวงจรออกแบบมาไม่เหมือนกัน เว้นเสียแต่ว่าคุณมีความรู้เกี่ยวกับไฟฟ้ารู้ว่าเส้นนี้ วิ่งเข้าไปที่หัวไหน แต่ถ้าไม่ชัวร์ก็อย่าครับ อันตรายมาก และควรเสียบสายให้แน่น กดลงไปจดมันล็อคกับ PSU เพื่อป้องกันไฟอาร์ค4. วงจรด้านความปลอดภัย ควรดูด้วยครับว่ามีระบบป้องกันมาให้หรือไม่ ป้องกันไฟเกิน ไฟกระชาก หรือกระแสไฟตก เป็น Function ที่มีมาให้เพิ่มเติมสำหรับ PSU ที่มีคุณภาพ โดยมีตัวย่อที่คุณควรรู้คือSCP - Short Circuit Protection ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรOCP - Over Current Protection ป้องกันกระแสเกินOVP - Over Voltage Protection ป้องกันแรงดันเกินOTP - Over Temperature Protection ป้องกันอุณหภูมิเกินOPP - Over Power Protection ป้องกันกำลังไฟเกินUVP - Under Voltage Protection ป้องกันแรงดันไฟตกSIP - Surge and Inrush Protection ป้องกันไฟกระชาก5. Single Rail กับ Multi Rail คือการแบ่งการจ่ายไฟ 12v ให้มีแบบรางเดี่ยวหรือหลายรางSingle Rail คือแบบรางเดี่ยวสามารถทำกระแสได้สูงสุดตามที่ตัว PSU ระบุ เช่น กำหนดว่า 12V 80A ทั้งระบบสามารถใช้ไฟได้ถึง 80A ถ้าเกิน ระบบจึงจะตัด ถ้าการ์ดจอคุณมีปัญหาใช้กระแสเกิน ระบบกว่าจะตัดก็ต่อเมื่อเกิน 80A ถึงตอนนั้นอุปกรณ์หรือสายไฟอาจเสียหายไปแล้วMulti Rail คือแบบหลายรางจะแยกไฟ 12v ออกเป็น 2 รางบ้าง 4 รางบ้างแล้วแต่ PSU ตัวนั้นๆ เพื่อให้แต่ละรางไม่ใช้ไฟเกินกระแสที่กำหนดไว้ เช่น 12v 25A ก็ใช้แค่นี้ ถ้าเกินระบบตัด มองให้ง่ายก็เหมือนกับการใส่ Breaker switch แยกไฟในบ้านเรานั่นเองครับวิธีสังเกตว่ารางเดี่ยวหรือหลายราง ข้างกล่องของ PSU จะระบุมาให้ ตัวอย่างเช่น 12v1 ใช้กับซีพียู 12v2 ใช้กับการ์ดจอ เป็นต้น การออกแบบวงจรแบบหลายรางก็เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับระบบ รางเดี่ยวพังก็คือพังทั้งระบบ หลายราง พังก็พังเฉพาะจุด ถ้าคุณเป็นสาย Overclock รางเดี่ยว หากไฟเกินนิดหน่อยไม่เป็นไร ระบบไม่ตัด แต่ถ้าหลายรางเอาไป Overclock เกินนิดนึงตัดอันนี่ก็อาจจะหงุดหงิดใจ แบบไหนดีกว่ากัน อันนี้แล้วแต่คนชอบครับ เน้นปลอดภัยก็หลายรางดีกว่าครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพอุปกรณ์ภายในตัว PSU เองด้วย6. ส่วนเชื่อมต่อกับไฟ AC ที่ด้านหลัง PSU ควรเสียบสายไฟเลี้ยง หรือ Power Cord ได้แน่นหนาไม่หลวม กรณีที่คุณทำสายที่ติดมากับ PSU หาย บาง PSU ก็ไม่มีมาให้นะ คุณควรเลือกสายที่มีความหนารองรับกระแสได้มากเพียงพอ ระวังการเลือกซื้อสายมาใช้เอง เคยอ่านเจอสายหลอก เช่น Ground หลอก หัวกับท้ายมีขั้วสายกราว แต่พอเอามิเตอร์มาจับหัวกับท้าย สายกลับไม่ชนกัน คือไม่มีเส้น Ground มาให้ หรือสายภายในบางเกินไป ควรซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น และ PSU ที่ดีจะมี Switch เปิดปิดมาให้ด้วย7. การรับประกัน ต้องคิดก่อนว่าคุณมีแผนจะซื้ออุปกรณ์อะไรเพิ่มไหม หากมีแผนซื้อเพิ่ม แต่อุปกรณ์นั้น PSU ยังคงสามารถใช้กำลัง Watt เท่าเดิมได้อยู่ก็อาจเลือกซื้อที่มีประกันยาวๆ ไปครับ แต่ถ้ามันเกินกำลัง Watt หมายความว่าคุณต้องซื้อ PSU ตัวใหม่ ผมเลยแนะนำว่าควรเลือก PSU กำลัง Watt เผื่อๆ ไว้ครับ8. Port Connector หรือสายเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ ให้ดูตามความจำเป็นว่าคุณต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง PSU ที่ให้สายมาเยอะก็ดีครับ แต่ถ้าราคามันขยับเพียงเพราะมีสายเชื่อมต่อเยอะ เยอะแต่ไม่ได้ใช้ก็ไม่มีประโยชน์ แต่อย่าลืมเผื่อด้วยว่า หากคุณมีแผนซื้ออะไรเพิ่มก็ควรมีสายให้เพียงพอมาตรฐาน 80 Plus ของ PSUมาตรฐาน 80 Plus ขออนุญาตหยิบมาเขียนด้านท้ายเนื่องจาก เป็นหัวข้อที่สำคัญส่วนหนึ่งของ PSU แต่มีรายละเอียดแยกย่อย คือมาตรฐาน 80 Plus มันมีหลายระดับด้วยกัน ว่าด้วยเรื่องของประสิทธิภาพของ PSU ในกระบวนการแปลงไฟจะต้องมีประสิทธิภาพหลังการแปลงไม่ต่ำกว่า 80% โดยวัดจากการโหลดของไฟฟ้าเป็นช่วงๆ ตามลำดับโหลด 20%, 50% และ 100% เฉพาะ Titanium เท่านั้นที่มีการรับรองประสิทธิภาพโหลด 10% ว่าไปแล้วมันก็เหมือนฉลากประหยัดไฟของ PSU นั่นเอง จาก Standard ไปจนถึง Titanium ตัว Titanium จะมีประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนใหญ่ PSU ในบ้านเราจะใช้ 230v Internal redundant เป็นตัวรับรองประสิทธิภาพ80 Plus Standard ไม่มีการรับรองในระบบไฟฟ้า 230v Internal redundant80 Plus Bronze รับรองประสิทธิภาพตามลำดับอยู่ที่ 81% 85% 81%80 Plus Silver รับรองประสิทธิภาพตามลำดับอยู่ที่ 85% 89% 85%80 Plus Gold รับรองประสิทธิภาพตามลำดับอยู่ที่ 88% 92% 88%80 Plus Platinum รับรองประสิทธิภาพตามลำดับอยู่ที่ 90% 94% 91%80 Plus Titanium รับรองประสิทธิภาพตามลำดับอยู่ที่ 90% (โหลด10%) 94% 96% 91%ตารางแสดงการรับรองประสิทธิภาพ 80 Plusจำนวน Watt สูงกว่า อาจกินไฟน้อยกว่าจำนวน Watt ของ PSU ไม่ได้บอกว่ากินไฟเท่าไร แต่บอกว่าจ่ายไฟได้กี่ Watt อย่างเช่น คุณมีคอมพิวเตอร์ 2 เครื่องระบบภายในของคุณเหมือนกันเป๊ะ มีซีพียู การ์ดจอ แรม เมนบอร์ด เหมือนกันหมดทั้ง 2 System เมื่อโหลดสูงสุดที่ 100% กินไฟอยู่ที่ 400w แล้วคุณจะเลือกซื้อ PSU 450w ใส่เครื่องที่ 1 ส่วนเครื่องที่ 2 ใส่ PSU 550w ทั้ง 2 เครื่องนี้ใช้ไฟ 400w จำนวนเท่ากันครับ แต่ถ้าหากมี 80 Plus Gold เพิ่มเข้าไปให้ PSU ตัวที่ 2 ความแตกต่างจะเกิดขึ้นครับ ตัวที่มี 80 Plus Gold จะมีอัตราการกินไฟลดลงจาก 400w อย่างที่ผมเกริ่นไว้ในตอนต้น Watt สูงกว่าอาจจะกินไฟน้อยกว่าด้วยซ้ำไป เพราะมีมาตรฐาน 80 Plusมาถึงตรงนี้ขอแชร์ให้ฟัง เรื่องการใช้ PSU ที่ไม่ได้ประสิทธิภาพของผมเอง เนื่องจากคิดว่าใช้ตัวไหนก็เหมือนๆ กัน แพงที่ยี่ห้อ แพงที่ค่าโฆษณา แล้ววันนึงจึงประจักษ์ ใช้งานคอมพิวเตอร์อยู่แล้วมันค้าง รีสตาร์ทตัวเอง กลับมาใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง รื้ออุปกรณ์มาตรวจดู ไม่มีอะไรผิดปกติ ผมเลยสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นที่ฮาร์ดดิสก์เพราะคอมพิวเตอร์ยังใหม่อยู่ แต่ฮาร์ดดิสก์เก่าแล้วอาจจะมี Bad ทำทุกวิถีทาง สุดท้ายตัดสินใจซื้อลูกใหม่มาใส่ ไม่เป็นครับแต่จอฟ้าเลย เครื่องค้าง ต้องกดปุ่มรีเครื่องเอง จำได้ว่างุ่นง่านกับคอมจนเสียสติไปพัก สุดท้ายเปิดไม่ติดครับ เช็ค PSU พัดลมไม่ทำงานสรุปเจ๊ง ไหนๆ ก็ต้องซื้อใหม่ ครั้งนี้หาข้อมูลก่อนเลือกซื้อครับ ราคาพันกว่าบาทนิดๆ นานแล้วนะครับ แต่เป็นยี่ห้อที่หลายๆ ท่านแนะนำมา แน่นอนครับว่านิ่งสนิท จึงเอาฮาร์ดดิสก์ลูกเก่าไปใส่ดู ตามคาดครับ ทำงานปกติ แต่เมื่อใช้โปรแกรมตรวจสอบ Error ต่างๆ แดงเป็นแถบๆ ไม่ใช่ Bad นะครับ เกิดจาก การทำงานผิดปกติของฮาร์ดดิสก์ ผมจึงไม่กล้าใช้ลูกนั้นอีก ปัจจุบัน PSU ตัวที่ซื้อมาใหม่ยังใช้งานอยู่นะครับ แต่เอาไปใส่เครื่องลูก เอาไว้ทำงานส่งครู ขอบอกว่าอายุเกิน 10 ปีครับ ใช้ยันลูกว่างั้นครับสิ่งที่ผมจะบอกคือลงทุนกับอุปกรณ์ของคุณหน่อยเพื่อความสบายใจ และไม่เสียเวลาอย่างผม ยิ่งถ้าคุณมีงานสำคัญอยู่ในนั้น คุณจะบอกลูกค้าว่า พี่ครับ HDD ผมเสีย SSD ผมมีปัญหา ขอเวลาไปแก้ไขก่อน พี่รอหน่อยนะครับ เดี๋ยวผมมีส่วนลดให้ บางทีต่อให้คุณทำให้เขาฟรี เขาก็อาจจะไม่เอา เพราะมันดูไม่เป็นมืออาชีพ กว่าลูกค้าจะเข้ามาหาคุณ มอบงานให้คุณทำ มันไม่ง่ายเลยนะครับ เสียเวลาทั้งคุณเองและลูกค้าครับ งั้น PSU ยี่ห้อไหนดี เอาเป็นว่าไม่มี PSU ตัวไหนดี 100% ครับ เลือกให้เหมาะกับการใช้งานของคุณ แล้วใช้คำแนะนำ 8 ข้อของผมเพื่อช่วยตัดสินใจครับเครดิตภาพภาพปก ภาพที่ 1 by headup222 on pixabayภาพปก ภาพที่ 2 by ผู้เขียนภาพประกอบที่ 1 by Siednji Leon on unsplashภาพประกอบที่ 2, 3, 5, 6 by ผู้เขียนภาพประกอบที่ 4 by Vitaly Sacred on unsplashเปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !