23 มีนาคม 2544 สถานีอวกาศมีร์ (Mir) ตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ใกล้ประเทศฟีจี
ในยุคหนึ่งสหภาพโซเวียตเป็นมหาอำนาจทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการก่อสร้างสถานีอวกาศขนาดใหญ่ เช่น โครงการสถานีอวกาศมีร์ (Mir) หนึ่งในโครงสร้างขนาดใหญ่ที่สุดของมนุษย์ที่เคยก่อสร้างบนอวกาศ แม้ในเวลาต่อมาจะถูกแทนที่ตำแหน่งด้วยสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)
โครงการสถานีอวกาศมีร์ของสหภาพโซเวียตเริ่มต้นออกแบบในช่วงปี 1976 โดยใช้โครงสร้างของโมดูลสำคัญประมาณ 7 โมดูล พร้อมจุดเทียบท่าเชื่อมต่อกับยานอวกาศ 2 จุด การก่อสร้างสถานีอวกาศมีร์เริ่มต้นในช่วงปี 1986 จนถึงปี 1996 แม้ว่าโครงการจะประสบปัญหาด้านงบประมาณในช่วงแรก เนื่องจากต้องแบ่งงบประมาณไปใช้กับโครงการกระสวยอวกาศบูรัน (Buran) เพื่อแข่งขันกับกระสวยอวกาศของสหรัฐอเมริกา
สถานีอวกาศมีร์มีขนาดความกว้างของสถานี 31 เมตร ความยาว 19 เมตร และความสูง 27.9 เมตร น้ำหนักรวม 129.7 ตัน โคจรอยู่เหนือระดับความสูงประมาณ 354 กิโลเมตร โคจรด้วยความเร็ว 27,700 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลา 91.9 นาที ต่อการโคจรอบโลก 1 รอบ ทำให้ตลอดระยะของการทำภารกิจมันโคจรรอบโลกมากถึง 86,331 รอบ ก่อนตกลงสู่โลก
สำหรับโมดูลที่สำคัญของสถานีอวกาศมีร์ เช่น โมดูลหลัก (Mir Core Module) ถูกใช้สำหรับเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของนักบินอวกาศ ห้องควบคุมการทำงานของสถานีอวกาศ และระบบขับเคลื่อนของสถานีอวกาศ รวมไปถึงเป็นจุดเชื่อมต่อกับโมดูลส่วนขยายเพื่อรองรับการเทียบท่าเชื่อมต่อกับยานอวกาศที่ถูกใช้ขนส่งนักบินอวกาศและทรัพยากรขึ้นไปจากโลก
โมดูลผลิตพลังงานไฟฟ้าสเป็กเตอร์ (Spektr) ซึ่งมีความสำคัญต่อการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ภายในสถานีอวกาศ ประกอบด้วยแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ 4 แผง ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้กว่า 50% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้งานภายในสถานีอวกาศมีร์ ในช่วงปี 1997 โมดูลสเป็กเตอร์ ได้รับความเสียหายจากการชนของยาน Progress M-34 ซึ่งเป็นยานขนส่งทรัพยากรขึ้นสู่สถานีอวกาศมีร์ ทำให้มีการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่
ภายในสถานีอวกาศมีร์ได้รับการออกแบบให้รองรับการดำรงชีพของนักบินอวกาศโดยใช้ระบบควบคุมสิ่งแวดล้อมและการช่วยชีวิต (ECLSS) นักบินอวกาศมีตารางการดำรงชีวิตที่ชัดเจน ทั้งในส่วนของการทำภารกิจด้านวิทยาศาสตร์ ซ่อมบำรุงสถานีอวกาศ การใช้ชีวิตหลับนอน อาบน้ำด้วยสบู แชมพูที่ไม่ต้องล้างออกด้วยน้ำ การขับถ่ายในห้องน้ำบนอวกาศ และเพื่อประหยัดน้ำซึ่งเป็นทรัพยากรที่ล้ำค่าบนอวกาศจึงมีการรีไซเคิลนำน้ำกลับมาทำความสะอาดและใช้งานซ้ำ
แม้ภารกิจหลักของสถานีอวกาศมีร์จะดำเนินการโดยสหภาพโซเวียตและประเทศรัสเซีย แต่มีการทำภารกิจร่วมกับประเทศอื่นเป็นระยะ เช่น โครงการอวกาศระหว่างสหภาพโซเวียตกับประเทศพันธมิตร ฝรั่งเศส อินเดีย ตุรกี โครงการส่งนักบินอวกาศจากยุโรปเข้าไปปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศมีร์ หรือแม้กระทั่งในช่วงปี 1992 การทำภารกิจร่วมกับสหรัฐอเมริกาโดยการนำกระสวยอวกาศของนาซาเข้าเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศมีร์
วันที่ 23 มีนาคม 2544 หลังการปฏิบัติภารกิจมานานกว่า 15 ปี สถานีอวกาศมีร์ถูกบังคับให้ตกลงสู่พื้นโลกบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก โดยกระบวนการเริ่มจากการใช้ยาน Progress M-43 เข้าเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศมีร์และติดเครื่องยนต์ประมาณ 4 ครั้ง เพื่อลดความเร็วของสถานีอวกาศมีร์ลงเหลือ 17.3 เมตรต่อวินาที จนกระทั่งสถานีอวกาศโคจรตกลงสู่ชั้นบรรยากาศโลก โดยมีชิ้นส่วนหลายชิ้นที่ไม่ถูกเผาไม้บนชั้นบรรยากาศโลกตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในพื้นที่ห่างไกลแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์
ที่มาของข้อมูล en.wikipedia.org/wiki/Mir, thaiastro.nectec.or.th