รีเซต

ซัดกรมชลฯ ดันทุรัน 'เขื่อนเหมือนตะกั่ว' ชวนจับตาอีก 60 วัน กก.พิจารณา จะยุติโครงการได้หรือไม่

ซัดกรมชลฯ ดันทุรัน 'เขื่อนเหมือนตะกั่ว' ชวนจับตาอีก 60 วัน กก.พิจารณา จะยุติโครงการได้หรือไม่
มติชน
5 กันยายน 2563 ( 14:40 )
153

     ซัดกรมชลฯ ดันทุรัน ‘เขื่อนเหมือนตะกั่ว’ ชวนจับตาอีก 60 วัน กก.พิจารณา จะยุติโครงการได้หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 20.00 น. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563 คณะก้าวหน้า โดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และนางสาวพรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ร่วมจัดรายการประจำสัปดาห์ ก้าวหน้าทอล์ค ทางเฟซบุ๊กเพจ คณะก้าวหน้า – Progressive Movement โดยกล่าวถึงการพิจารณางบประมาณปี 2564 กรณีการสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่ว จ.พัทลุง ว่า กรรมาธิการได้ตัดงบประมาณในส่วนนี้ออกไปแล้ว และแม้ในภายหลังกรมชลประทานจะพยายามโยกงบประมาณปี 2563 มาเริ่มต้นโครงการ แต่ล่าสุดทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการระงับโครงการนี้ พร้อมกับตั้งกรรมการศึกษาข้อมูลโครงการขึ้นมาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน

 

กรณีอย่างนี้ ในทางปฏิบัติเมื่อกรรมาธิการที่เป็นตัวแทนประชาชนที่สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งให้มาดูแลงบประมาณแทนประชาชน มีมติให้ตัดงบประมาณของโครงการนี้ออกไปแล้ว โครงการนี้ก็ควรจะตกไป แต่ทางกรมชลประทานกลับเดินหน้าโครงการต่อโดยอาศัยงบประมาณที่เหลือจากปี 2563 มาเริ่มต้นการก่อสร้าง เหมือนการแปะจองโครงการไว้ก่อน ให้เป็นงบผูกพันที่ปีต่อไปจนไม่สามารถตัดงบได้ นี่คือสิ่งที่ตนรู้สึกเหลือเชื่อมาก นี่แปลว่ากรมชลประทานไม่เห็นหัวประชาชน ไม่เห็นหัวสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชนเลย เห็นได้ชัดเลยว่าข้าราชการไม่แยเแสเสียงตัวแทนของประชาชน ตนตกใจมากว่าทำไมต้องผลักดันโครงการให้ได้ขนาดนี้

 

“แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระแสสังคมที่ต่อต้านโครงการนี้สูงขึ้น จึงเกิดการประชุมที่นำมาสู่ข้อสรุปในการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาโครงการนี้ให้เสร็จภายใน 60 วัน แต่ประเด็นก็คือถ้ารัฐบาลจริงใจในการแก้ปัญหานี้ ก็คงจะไม่ต้องใช้เวลาถึง 14 วัน ที่ประชาชนมาร่วมชุมนุมกันตั้งแต่ที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาจนถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล ยอมทนนอนกลางพื้นถนนตากแดดตากฝน ต้องทนยากลำบาก และไม่จำเป็นต้องตั้งกรรมการขึ้นมาศึกษาอะไรแล้ว ถ้าต้องการรู้ตัวนี้ ส่งคนไปดูหน้างานแปปเดียวก็รู้ ใช้เวลาเพียงแค้ห้าวันก็สามารถหาทางออก สามารถเข้าสู่ข้อสรุป ซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็นข้อสรุปเดียวกับพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ คือมันไม่มีความจำเป็นต้องสร้าง เพราะพื้นที่นั้นไม่ได้มีปัญหาเรื่องการจัดการน้ำน้ำ การจัดลำดับความสำคัญของการใช้งประมาณเป็นเรื่องสำคัญ ยังมีอีกหลายพื้นที่จริงๆ ที่ควรไปทำ เงิน 650 ล้านบาทนี้เอาไปสร้างที่อื่นได้เยอะแยะเต็มไปหมด โดยเฉพาะในภาคอีสาน เราเห็นการใช้งบประมาณที่ไม่ได้จัดลำดับความสำคัญแบบนี้ เราก็เลยรู้สึกว่าเสียดายงบประมาณที่สูญเสียตรงนี้ไป” นายธนาธร กล่าว

 

นายธนาธร กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้รัฐบาลมาฟังเสียงชาวบ้านมากขึ้น มาจากทั้งความเคลื่อนไหวและกระแสสังคมจากทั้งประชาชน นักศึกษา สื่อมวลชน นักวิชาการ ที่ร่วมกันเกาะติดปัญหานี้มาตลอด ตนขอให้เราช่วยกันจับตาในอีก 60 วันข้างหน้าว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร แต่ส่วนตนนั้นบอกได้เลย ว่าถ้าตัดสินตามพื้นฐานข้อมูล ฟังเสียงความต้องการของชาวบ้านและประชาชน กรรมการควรจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมาก ว่าโครงการนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง