"เอกชน--นักการเมือง-นักวิชาการ" ร่วมถกแนวทางบูรณาการพัฒนา "อีอีซี" สู่เมืองน่าอยู่อัจฉริยะ
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ความสำคัญของเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ แนวทางการบูรณาการ ร่วมกันของทุกภาคส่วนและผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากนโยบายเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ในงานสัมมนาวิชาการออนไลน์”แนวทางการร่วมบูรณาการเพื่อพัฒนา EEC สู่เมืองน่าอยู่อัจฉริยะ” ” EEC towards smart livable city ” ซึ่งนักศึกษาหลักสูตรบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต X-DBA รุ่นที่ 7 คณะบริหารธุรกิจ มจพ.จัดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา ว่า การที่จะเป็นเมืองน่าอยู่แล้ว อัจฉริยะ ต้องพึ่งพาความมีวินัย และสุจริต ต้องไม่มีการคดโกง บริหารบนหลักธรรมาภิบาล ความอัจฉริยะของเมืองต้องขึ้นอยู่กับคน ไม่ใช่เพียงแค่พึ่งเครื่องไม้เครื่องมืออย่างเดียวในการเป็นอัจฉริยะ แต่มันต้องน่าอยู่ด้วย ให้ดูตัวอย่างพัฒนาการศึกษาอย่างโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่มีการพัฒนามาเป็นอย่างดี มีทั้งข้อดี และจุดอ่อน เพราะฉะนั้นเอาสิ่งดีๆ มาพัฒนาก็จะทำให้ อีอีซี มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง และสัมพันธ์กัน
นางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวในมุมมอง การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ยกระดับเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยว่า การส่งเสริมเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่เป็นหนึ่งในหลายแผนการพัฒนาของอีอีซี โดยแผนงานนี้มีเจ้าภาพคือ คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่มีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นเลขานุการคณะกรรมการ ด้วยการพัฒนาได้ใน 2 แนวทาง คือ การพัฒนาเมืองใหม่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ และเมืองเก่าที่มีศักยภาพให้เป็นเมืองอัจฉริยะ โดยขั้นตอนจะขออนุมัติจากคณะกรรมการระดับจังหวัด และคณะกรรมการชุดใหญ่ของประเทศ และเมื่อได้รับการอนุมัติจะมีการขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ
การพัฒนาเมืองอีอีซี จะมีการศึกษา โดยเอาเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใส่ 7 เรื่อง ได้แก่ พลังงาน สุขภาพสาธารณสุข ข่าวสารข้อมูล คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การเพิ่มรายได้ให้คนในพื้นที่ด้วยการใช้เทคโนโลยี ดิจิทัล ที่ให้ประชาชนในพื้นที่ต้องเข้าถึงดิจิทัลได้มากกว่า 70%
ปัจจุบันมีเมืองในพื้นที่อีอีซีที่ได้รับการอนุมัติแล้วจากคณะกรรมการให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี โครงการสามาร์ทซิตี้ และโครงการ EECi ในจังหวัดระยอง ส่วนเมืองใหม่ที่จะเป็นเมืองอัจฉริยะในอนาคต มีอีก 10 พื้นที่ใน 3 จังหวัดที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ บริเวณใกล้สนามบินอู่ตะเภาในรัศมีรอบ 30 กิโลเมตร พื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง เมืองเมดิเคิลฮับ จ.ชลบุรี อีอีซีเมืองธุรกิจน่าอยู่
ทางด้าน ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดระยอง 4 สมัย กล่าวถึงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะว่า รัฐบาลต้องการวางเป้าหมายให้อีอีซีเป็นพื้นที่ที่นักลงทุนเชื่อมั่น ซึ่งต่อยอดจากฐานอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งมีความพร้อมเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานนอกจากนี้ในการผลักดันให้เป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่จะต้องมีระบบสาธารณสุขที่ดี โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคเอกชนผลักดันโครงการสุขภาพที่สำคัญ คือ ศูนย์จีโนมิกส์แห่งชาติ ที่มหาวิทยาลัยบูรพา โดยจะมีการเก็บตัวอย่าง 5 หมื่นคนในพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด เพื่อให้สามารถรักษาในระดับพันธุกรรมตามแผนงานการแพทย์อีกด้วย และจะมีการยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดงให้มีศักยภาพในการดูแลประชาชนในพื้นที่อีอีซี โดยเป็นโครงการการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โครงการแรกของกระทรวงสาธารณสุขและภาคเอกชนในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเพื่อลดความแออัด และยกระดับโรงพยาบาล โดยต้องมีการเปิดประมูลเพื่อเสนอราคาและโครงการในการดูแลประชาชนเพื่อเป็นพื้นที่ลงทุน ถือเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่จะมีการลงทุนแบบ PPP ซึ่งเมืองอัจฉริยะจะเป็นเมืองน่าอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีคุณภาพชีวิต และคุณภาพที่ดีด้วย
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวในมุมมองความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอัจฉริยะว่า ศักยภาพของเขตอีอีซี สามารถที่จะเป็นเมืองอัจฉริยะที่มีความน่าอยู่ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในพื้นที่ จากความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีที่มีการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นๆของประเทศ รวมทั้งการขนส่งที่ทางถนน ทางราง และทางเรือที่เพิ่มบทบาทความเป็นศูนย์กลางในด้านโลจิสติกส์ของอีอีซี
อย่างไรก็ตามแนวทางและนโยบายในการส่งเสริม Smart City ในรูปแบบที่อีอีซีมีการส่งเสริมในปัจจุบันมีพื้นที่อื่นๆที่เป็นคู่แข่งและมีการส่งเสริมการลงทุนเช่นกัน โดยในภูมิภาคอาเซียนและที่ใกล้เคียงมี 2 พื้นที่ดึงดูดการลงทุนเรื่อง Smart City ได้แก่เขตเศรษฐกิจพิเศษในเวียดนาม และในประเทศจีนที่มีการสนับสนุนนโยบาย Smart City ที่สำคัญใน 2 พื้นที่คือ บริเวณ Greater Bay Area และเขตเศรษฐกิจพิเศษไหหลำ
ทั้งนี้การที่จะส่งเสริมให้นโยบายSmart City ของอีอีซีประสบความสำเร็จ และสามารถดึงดูดการลงทุนได้นอกจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมแล้วจะต้องมีการเตรียมความพร้อมใน 2 เรื่องคือเรื่องสิทธิประโยชน์และกฎระเบียบ และเรื่องความพร้อมของแรงงาน
ในเรื่องของสิทธิประโยชน์ ซึ่งจะต้องมั่นใจว่าสามารถที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ที่มีนโยบายใกล้เคียงกับการส่งเสริม Smart City เพื่อดึงดูดการลงทุน ส่วนในเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบต้องไม่เป็นอุปสรรคกับการลงทุนใน Smart City และการเตรียมความพร้อมแรงงานรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอัจฉริยะ ได้แก่ทักษะ ในเรื่องดิจิทัล เพราะเทคโนโลยีต่างๆ จะอาศัยระบบดิจิทัลในการสั่งการ ควบคุมจากส่วนกลาง ถือว่าใช้เทคโนโลยีขั้นสูงใช้หุ่นยนต์ และซอฟแวร์ในการกำกับต่างจากในอดีตมาก เช่น โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ที่เกิดขึ้นจะไม่มีคนงานอยู่บนท่าเรือมากนัก
นอกจากนี้ในเรื่องของแรงงานก็มีความน่าเป็นห่วงคืออัตราการเกิดของประชากรไทยที่น้อยปัจจุบันมีอัตราการเกิดของเด็กใหม่ประมาณ 6 แสนคน และในปีนี้ที่สถานการณ์โควิด-19 ระบาดหลายเดือน อัตราการเกิดของเด็กในไทยจะมีแค่ 4 แสนคนเท่านั้น ขณะที่เวียดนามอัตราเด็กเกิดใหม่อยู่ที่ 1.5 ล้านคน จึงดึงดูดการลงทุน และมีความพร้อมเรื่องแรงงานมากกว่าไทย
ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. กล่าวถึงในมุมมองมุ่งสู่ศูนย์กลางการลงทุน กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 ประเภท ในพื้นที่ อีอีซี ส.อ.ท.พร้อมช่วยผลักดัน พื้นที่ให้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี เนื่องจากเห็นโอกาสจากสถานการณ์โควิดที่ทำให้เกิดนโยบายเปลี่ยนแปลงในด้านการให้ความสำคัญของเทคโนโลยี ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนไป และต้องมีการปรับตัว ขณะเดียวกันทุกอุตสาหกรรมยังต้องคำนึงเรื่อง สิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมเรื่องของความยั่งยืน
“ปัจจุบันภาครัฐได้เตรียมความพร้อม ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3. อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 4.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 5.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 6.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 7.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 8.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 9.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ 10. อุตสาหกรรมดิจิทัล 11.อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ และ 12.อุตสาหกรรมการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา” นายสุพันธุ์ กล่าว