สมุนไพรพื้นบ้านในประเทศไทยนั้น มีมากมายหลายชนิด ที่มีประโยชน์ในการรักษาโรคเฉพาะด้านที่แตกต่างกันไป หรือหากจะนำมาปรุงเป็นอาหารเสริมหรือยาบำรุงกำลังก็ดีไม่น้อย อีกทั้งสมุนไพรนานาชนิดยังมีสรรพคุณในการช่วยสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย ทำให้ไม่เจ็บป่วยง่ายอีกด้วย ผู้เขียนจึงพยายามศึกษาข้อมูลของสมุนไพรหลาย ๆ ชนิด เพื่อสามารถนำมาบอกเล่าผ่านบทความถึงความสำคัญสมุนไพร ให้ผู้อ่านเห็นถึงความน่าสนใจและช่วยกันอนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญหาย อันจะเป็นประโยชน์สืบต่อไปแก่คนรุ่นหลัง ซึ่งก็นับว่าปัจจุบันนี้สมุนไพรบางชนิดก็เริ่มหายากและเป็นที่รู้จักน้อยลงแล้ว และในบทความนี้ผู้เขียนได้นำข้อมูลดี ๆ ของสมุนไพรอีกหนึ่งชนิดที่มีคุณค้าของบ้านเรามานำเสนอ นั่นก็คือ “ขลู่” พืชสมุนไพรที่มีประโยชน์ไม่แพ้สมุนไพรชนิดอื่นเลยภาพถ่ายโดยผู้เขียน“ขลู่” เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงไม่เกิน 2 เมตร ขึ้นเป็นกอ ๆ แตกกิ่งก้านจำนวนมาก ลำต้นกลม เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลแดงหรือเขียว ที่ลำต้นและกิ่งก้านมีขนละเอียดขึ้นปกคลุม โดยเป็นพรรณไม้ที่ชอบดินเค็มมีน้ำขังตามหนองน้ำ มักขึ้นตามที่ลุ่มชื้นแฉะ ตามริมห้วยหนอง หรือตามหาดทราย ด้านหลังป่าชายเลน แต่ก็สามารถขึ้นในพื้นที่ดินทรายที่มีน้ำขังหรือปลูกในกระถางได้ ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ใบมีขนาดเล็กและมีกลิ่นฉุน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับหรือรูปรี ปลายใบแหลมหรือมีติ่งสั้น ๆ ปลายใบมีขนาดใหญ่กว่าโคนใบ โคนใบสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟันและแหลม โดยรอบมีขนขาว ๆ ขึ้นปกคลุม ออกดอกเป็นช่อฝอยสีขาวนวลหรือสีม่วง โดยจะออกตามปลายยอดหรือตามง่ามใบ ดอกมีลักษณะกลมหลายช่อมารวมกัน ดอกมีลักษณะเป็นฝอยสีขาวนวลหรือสีขาวอมม่วง กลีบของดอกแบ่งออกเป็นวงนอกและวงใน โดยกลีบดอกวงนอกจะสั้นกว่ากลีบดอกวงในภาพถ่ายโดยผู้เขียนสรรพคุณของ “ขลู่” สามารถใช้ ลดน้ำหนัก แก้กษัย ปวดเมื่อย แก้ริดสีดวงทวาร ขับฤดูขาว ขับปัสสาวะ แก้เบาหวาน แก้ผื่นคัน แก้แผลอักเสบ สำหรับประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยได้เห็นมาในการนำ “ขลู่” มาใช้เป็นยาสมุนไพรนั้น ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อสมัยเด็ก ๆ หลังจากที่น้าสะใภ้คลอดลูกก็มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก จนทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ปู่ของผู้เขียนได้นำใบ “ขลู่” ที่ปลูกไว้ในกระถางหน้าบ้านมาต้มโดยใส่ใบตระไคร้หอมเข้าไปด้วยเป็นน้ำชาให้น้าสะใภ้ดื่มอยู่ประมาณสองสัปดาห์ ก็สังเกตเห็นว่าน้ำหนักค่อย ๆ ลดลงและอาการปวดเมื่อยตามร่างกายก็หายไป และดื่มต่อไปเรื่อย ประมาณหนึ่งเดือนร่างกายก็กลับมามีน้ำหนักปกติ นอกจากนี้ปู่ยังเคยนำ ราก ต้น ใบ และดอก “ขลู่” มาต้มรวมกันเป็นยาให้ป้าของผู้เขียนดื่มเพื่อแก้อาการเบาหวาน ซึ่งเมื่อดื่มไปได้สองสัปดาห์ก็รู้สึกว่าอาการดีขึ้น และเมื่อไปตรวจก็พบว่าระดับน้ำตาลปกติจากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าเพียงแค่เรารู้สรรพคุณของสมุนไพรแต่ละชนิดแล้ว การนำมาใช้นั้นไม่ยุ่งยากและซับซ้อนเลย ซึ่งสรรพคุณของ “ขลู่” ก็ยังสามาถนำมาทำยาแก้อาการได้อีกหลายชนิดรวมถึงเป็นยาบำรุงด้วย หากท่านใดสนใจก็ลองศึกษาเพิ่มเติมได้จากแหล่งตำรายาต่าง ๆ เพื่อพัฒนาต่อยอดและรักษาคุณค่าของสมุนไพรไทยให้อยู่สืบต่อไปภาพถ่ายโดยผู้เขียน