ผู้เขียนมีความชื่นชอบในพืชพรรณไม้ต่าง ๆ ซึ่งก็รวมถึงพืชสมุนไพรด้วย ทำให้ผู้เขียนได้ทราบข้อมูลของสมุนไพรแต่ละชนิดว่ามีคุณประโยชน์ที่หลากหลายมาก จึงมีความตั้งใจที่จะนำข้อมูลลักษณะของสมุนไพรชนิดต่าง ๆ รวมถึงสรรพคุณในการรักษาโรคของสมุนไพรแต่ละชนิด มาบอกเล่าให้ทุกท่านได้เห็นคุณค่าและความสำคัญของสมุนไพรมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันนี้ความรู้เด้านพืชสมุนไพรเริ่มลดน้อยลง รู้จักและนำมาใช้กันในกลุ่มแคบ ๆ และพืชสมุนไพรที่ผู้เขียนจะนำมาบอกเล่าในบทความนี้คือ “ตองแตก” พืชสมุนไพรที่นิยมปลูกไว้ตามบ้านเมื่อสมัยก่อน แต่ปัจจุบันหาดูได้ยากแล้วเพราะไม่ค่อยมีคนรู้จักและรู้ถึงสรรพคุณของมัน ในบทความนี้ผู้เขียนจึงหยิบยกมาเพื่ออธิบายลักษณะและสรรพคุณ เผื่อหากใครมีปลูกไว้ที่บ้านจะได้รู้ว่าที่จริงแล้วต้นไม้นี้คือพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์ภาพถ่ายโดยผู้เขียนลักษณะของ “ตองแตก” ผู้เขียนขออธิบายตามลักษณะของภาพถ่ายที่ได้ลงไว้คือ ต้น "ตองแตก" จะมีลักษณะเป็นไม้พุ่ม ที่จัดว่ามีขนาดเล็ก ซึ่งจะแตกกิ่งออกเป็นพุ่ม สูงอยู่ที่ประมาณ 3 เมตร กิ่งที่แตกออกมานั้นจะออกมาจากโคนต้น ซึ่งเป็นก้านเล็กกลม เปลือกลำต้นและกิ่งเป็นสีเทาทรงตรง ลักษณะใบของมันจะเป็นรูปรียาวสีเขียว ขอบใบสองข้างนั้นขนานกัน ปลายใบแหลมคล้ายกับรูปใบหอก ออกสลับกันจากกิ่ง ใบจะด้านไม่มันวาว ส่วนใบที่อยู่ตรงโคนนั้นจะมีลักษณะหยักเป็นรูปห้าแฉก ในภาพที่ประกอบเนื้อหาผู้เขียนไม่ได้ถ่ายรูปดอกมาด้วยแต่พออธิบายลักษณะได้ว่า ดอกจะมีลักษณะเป็นตุ่มเเล็ก ๆ สีเหลือง จะออกตรงซอกใบที่ปลายกิ่ง ภาพถ่ายโดยผู้เขียนสรรพคุณ “ตองแตก” เป็นยาถ่าย แก้ปวดท้อง ขับลม แก้ดีซ่าน บำรุงกำลัง แก้บวมน้ำ รักษาโรคโลหิตจาง โรคหืด บวมตามข้อ ขับเสมหะสมัยผู้เขียนยังเป็นเด็ก มักพบต้น “ตองแตก” ขึ้นเองอยู่ตามท้ายสวน ซึ่งตอนนั้นผู้เขียนก็คิดว่าเป็นแค่ต้นไม้ธรรมดา จนมาทราบจากปู่ว่าต้นไม้ชนิดนี้เป็นสมุนไพร ครั้งหนึ่งปู่นำราก "ตองแตก" มาล้างน้ำ หั่นเป็นชิ้นพอประมาณ ทุบให้พอแหลกจากนั้นนำไปต้มใส่เกลือลงไปเล็กน้อย เมื่อเสร็จแล้วก็นำน้ำยาสมุนไพรที่ได้ ไปให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคโลหิตจางดื่มวันละสองครั้ง เช้าและเย็นติดต่อกันทุกวัน ประมาณหนึ่งเดือนเมื่อไปตรวจก็พบว่าอาการดีขึ้น ปู่จึงให้ผู้ป่วยดื่มไปเรื่อย ๆ จนหายในที่สุด นอกจากนี้ปู่ยังเคยนำใบมาต้มให้ผู้เขียนดื่มเพื่อแก้อาการร้อนในและขับเหงื่อได้เป็นอย่างดี และรากของสมุนไพรชนิดนี้เมื่อนำมาตำจนแหลกผสมกับปูนแดงที่คนแก่ใช้กินหมากก็สามารถนำมาพอกเพื่อลดอาการฟกช้ำได้อีกด้วยภาพถ่ายโดยผู้เขียนที่กล่าวมานั้นเป็นสรรพคุณเพียงส่วนหนึ่งของ “ตองแตก” ซึ่งนอกจากนี้สมุนไพรชนิดนี้ก็ยังสามารถนำมาปรุงเป็นยาหรือผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น เพื่อรักษาโรคได้อีกหลายชนิด ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะทำให้ทุกท่านหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับพืชสมุนไพรมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับพืชสมุนไพรได้ถูกสืบสานไว้สู่คนรุ่นต่อไป