รีเซต

โผว่อน-ฝุ่นตลบ ปรับ ครม. ‘บิ๊กตู่ 2/3’

โผว่อน-ฝุ่นตลบ ปรับ ครม. ‘บิ๊กตู่ 2/3’
มติชน
2 มีนาคม 2564 ( 08:06 )
79

การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ รอบ 2/3 หรือ “ตู่ 2/3” ในครั้งนี้ “บิ๊กตู่” พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่าจะเกิดขึ้นเร็ว เพื่อให้มีรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงตัวจริงเข้ามาทำงานให้เกิดความต่อเนื่องในนโยบายของรัฐบาล

 

สถานการณ์ทางการเมืองที่ทำให้การปรับ ครม.เกิดขึ้นเร็ว เนื่องจากศาลอาญามีคำพิพากษาคดีชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ลงโทษจำคุกแกนนำ กปปส.ทั้ง 8 คน ส่งผลให้ 3 ใน 8 แกนนำที่เป็นรัฐมนตรี ได้แก่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีทันที

 

เนื่องจากขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (7) ที่ระบุว่า “ไม่เป็นผู้ต้องคําพิพากษาให้จําคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท”

 

ตามข้อตกลงและโควต้าการเข้าร่วม ครม.ของทุกพรรคร่วมรัฐบาล เก้าอี้รัฐมนตรีที่ว่างลง 3 เก้าอี้ จะแบ่งเป็นโควต้า ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 2 ตำแหน่ง คือ รมว.ศึกษาธิการ กับ รมว.ดีอีเอส ขณะที่ประชาธิปัตย์ (ปชป.) 1 ตำแหน่ง คือ รมช.คมนาคม

 

ในโควต้ารัฐมนตรี 2 ตำแหน่งของพรรค พปชร.มีการเคลื่อนไหวของ ส.ส.พรรค พปชร.ที่ร่วมกันลงชื่อให้อำนาจเด็ดขาดเป็นของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. เป็นผู้คัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเป็นรัฐมนตรีของพรรค พปชร.

 

นัยยะดังกล่าวเป็นการตีกัน ไม่ให้มีการเสนอชื่อบุคคลภายนอกพรรค พปชร.มาเป็นรัฐมนตรี

ตามโผในสื่อจะเห็นได้ว่ามีชื่อของ “กลุ่ม 3 . หรือกลุ่ม 3 รัฐมนตรีช่วย ที่เพาเวอร์แรงในพรรค พปชร. ขึ้นนั่งว่าการ

 

โผแรก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ “อ.แหม่ม” นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน ขึ้นชั้นรัฐมนตรีว่าการดีอีเอส หรือ รมว.ศึกษาธิการ

หรือโผที่สอง ให้ ร.อ.ธรรมนัส เป็น รมว.ดีอีเอส ส่วนนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ขยับขึ้นเป็น รมว.ศึกษาธิการ และขยับ นางนฤมล นั่ง รมช.คลัง ให้มาช่วยขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรค พปชร.

 

เมื่อ “กลุ่ม 3 .” ขยับขึ้นชั้น รมว.แล้ว ทำให้ตำแหน่ง รมช.ว่างลง แกนนำ “กลุ่ม 3 ช.” ต้องการผลักดัน นายไผ่ ลิกค์” ส.ส.กำแพงเพชร พรรค พปชร. ที่มีความใกล้ชิดกับ ร.อ.ธรรมนัส ขึ้นมาชิงเก้าอี้ รมช.ด้วย

ขณะเดียวแกนนำ พปชร.อีกกลุ่ม ผลักดันให้ “เสี่ยโอ๋นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรค พปชร. ที่มีบทบาทเป็นวิปคนสำคัญในสภา เป็นอีกหนึ่งในแคนดิเดต ขึ้นชั้นรัฐมนตรี

 

ยังมีข้อเรียกร้องของกลุ่ม 13 ส.ส.ภาคใต้ พรรค พปชร.ที่ขอโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรี 1 ที่นั่ง คืนความชอบธรรมให้กับกลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ ที่ยังไม่มีตัวแทนของกลุ่ม ส.ส.เป็นรัฐมนตรีมาดูแลพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่จัดตั้ง ครม.บิ๊กตู่ 2

อีกหนึ่งโผ คือ ข้อเสนอขยับ เสี่ยแฮงค์ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการพรรค พปชร. ขึ้นเก้าอี้ รมว.ดีอีเอส หรือศึกษาฯ ให้สมกับการเป็นเลขาธิการพรรคแกนนำรัฐบาล

 

และอีกสูตร โยกสลับตำแหน่งกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ให้ ร.อ.ธรรมนัส ขยับจาก รมช.เกษตรฯ ขึ้นเป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ปัจจุบันเป็นโควต้าของพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) แล้วขยับ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ไปเป็น รมว.ศึกษาธิการ แทน

แต่ต้องอยู่ที่แกนนำของพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะรับเงื่อนไขหรือไม่ ซึ่งทางนายวราวุธได้ปฏิเสธผ่านสื่อมาแล้ว

 

ความเคลื่อนไหวของ 2 พรรคร่วมรัฐบาล แกนนำพรรค ภท. ยืนยันว่ายังคงยึดในโควต้ารัฐมนตรี คือ 7 เก้าอี้เดิมไม่ขอเพิ่มตำแหน่ง หรือสลับกระทรวงกับใคร ส่วนพรรค ปชป.โควต้า รมช.คมนาคม ที่แกนนำพรรค ปชป.ภาคใต้ ยืนยันว่าเป็นโควต้าของพรรค ปชป.ภาคใต้ โดย นายถาวร เสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศสนับสนุน นายเจือ ราชสีห์ เลขานุการ รมช.คมนาคม ขึ้นเป็น รมช.คมนาคม

 

แต่แกนนำ ปชป.บางส่วน สนับสนุน นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง ขึ้นมาชิงเก้าอี้ รมช.คมนาคม ในสัดส่วนโควต้าภาคใต้ด้วย

รวมทั้งกระแสเรียกร้องให้หมุนเวียน ส.ส.ทำหน้าที่รัฐมนตรีแทนคนที่อยู่มานานๆ บ้าง โดยยกตัวอย่าง คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ดำรงตำแหน่ง รมช.ศึกษาธิการ มาตั้งแต่ ครม.บิ๊กตู่ 2/1 แล้ว

 

การปรับ ครม.บิ๊กตู่ 2/3 ยังอยู่ในช่วงฝุ่นตลบ กระบวนการจริงๆ มีความซับซ้อน และขึ้นกับแกนนำ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ของพรรคร่วมแต่ละพรรค

ต้องจับตาว่า นายกฯจะใช้แนวทางใดเป็นหลักในการปรับ ครม. ระหว่างประสิทธิภาพในการบริหารงาน และ “เอกภาพ” ของพรรค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง