รีเซต

‘จุรินทร์’ ชู ‘รัฐหนุน-เอกชนนำ’ ดัน ‘ส่งออก’ พุ่งฝ่ามรสุมโควิด

‘จุรินทร์’ ชู ‘รัฐหนุน-เอกชนนำ’ ดัน ‘ส่งออก’ พุ่งฝ่ามรสุมโควิด
มติชน
23 กันยายน 2564 ( 10:30 )
58

หมายเหตุ – นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษ ความหวัง ส่งออกไทย ในมรสุมโควิดŽ ในงานสัมมนา ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย รูปแบบไลฟ์สตรีมมิงผ่านเฟซบุ๊ก จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ณ อาคารสํานักงาน บริษัทมติชน จํากัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 22 กันยายน

 

 

 

ในทรรศนะของผมมองว่าเศรษฐกิจไทยเดินมาถูกทางแล้ว เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาไทยไม่ได้พึ่งพาเศรษฐกิจขาเดียวในการนำรายได้เข้าประเทศ แต่ไทยได้พึ่งพาเศรษฐกิจอย่างน้อย 2 ขา คือ ภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออก เพราะเมื่อขาหนึ่งเดี้ยงเศรษฐกิจไทยก็ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และเมื่อใดอีกขาหนึ่งเราซ่อมแซมเสร็จ สถานการณ์เอื้ออำนวยเศรษฐกิจไทยจะยิ่งไปโลดขึ้น ทั้งนี้ ยังได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสำรวจตัวเลขเศรษฐกิจทั้ง 2 ขาของไทย ก่อนช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของ โควิด-19 พบว่า ภาคการท่องเที่ยวทำรายได้เข้าประเทศ 11.33% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) การส่งออก 44.96% รวมเป็น 66% ที่ขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศ แต่ปัจจุบันท่องเที่ยวเหลือแค่ 1.87% ส่งออกแทนที่จะแย่ไปด้วย แต่กลับเติบโต 50.83% ส่งออกบวกท่องเที่ยวกับโควิด เพิ่มเป็น 52% ยังไม่ถึงกับเลวร้าย หรือหายไปเป็นเท่าตัว

 

 

 

ข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นที่มาว่าทางมติชนจัดงานสัมมนาได้ถูกทางแล้ว จากที่ได้ตั้งหัวข้อสัมมนาในครั้งนี้ว่า ความหวังส่งออกไทยในมรสุมโควิด คำถามคือการส่งออกเป็นความหวังได้หรือไม่ ตอบเลยว่ายังสามารถเป็นได้ วัดจากตัวเลขภาพรวมการท่องเที่ยว และการส่งออกในปัจจุบันที่เห็นการเติบโตได้อย่างชัดเจน และเหตุผลที่ว่าทำไมการส่งออกยังเป็นความหวังของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

 

 

ส่วนเหตุผลประการแรก วัดได้จากข้อมูลตัวเลขการส่งออก มีอัตราการเจริญเติบโตที่ชัดเจน อย่างน้อยในปี 2564 หรือในช่วง 5 เดือน ระหว่างเดือนมีนาคม-กรกฎาคม เป็นบวกมาโดยตลอด นับตั้งแต่เดือนมีนาคม เติบโต 7% เมษายน เติบโต 11% พฤษภาคม เติบโต 41% และมิถุนายน เติบโต 43% เป็นนิวไฮใหม่ของอัตราการเติบโตของการส่งออกในเดือนมิถุนายน แต่ในเดือนกรกฎาคมเริ่มเติบโตช้าลง อยู่ที่ 20% และคาดว่าในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน จะเติบโตเป็นบวกน้อยกว่านี้เพราะพิษจากการล็อกดาวน์เริ่มปรากฏผล เพราะเริ่มกระทบต่อภาคการผลิต โรงงานบางแห่งปิดตัวหรือปิดการผลิตบางส่วน โลจิสติกส์ข้ามจังหวัด และข้ามประเทศเริ่มมีความเข้มงวดมากขึ้น แต่ไม่ว่าอย่างไรก็เชื่อว่าการส่งออกยังเป็นบวกอยู่ และปลายปี 2564 คงเป็นบวก

 

 

จากข้อมูลดังกล่าวจึงทำให้ภาคการส่งออกยังเป็นความหวัง ส่วนภาพรวมการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรก หรือตั้งแต่มกราคม-กรกฎาคม เติบโต 4 เท่าของเป้าที่กำหนดไว้ที่ 4% แต่ตั้งแต่มกราคม-กรกฎาคม เติบโตแล้วกว่า 16.2% และที่สำคัญยอดการส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เกินกว่า 7 แสนล้านบาท/เดือน

 

 

เหตุผลประการที่สอง คือนโยบายของรัฐบาลและนโยบายกระทรวงพาณิชย์ที่ผมเข้าไปรับผิดชอบดูแลสนับสนุนการส่งออกชัดเจนเป็นรูปธรรม ส่วนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ต้องใช้ยุทธศาสตร์รัฐหนุนเอกชนนำ เอกชนต้องเป็นพระเอก เปรียบเสมือนการเล่นฟุตบอล เอกชนต้องเป็นกองหน้ายิงประตู รัฐบาลต้องเป็นกองหลังคอยสนับสนุนส่งเสริมให้กองหน้าไปยิงประตู เพื่อนำเงินเข้าประเทศ หลักการนี้คือหลักการที่ถูกต้อง รัฐอย่าทำตัวเป็นพระเอกเพราะไม่เก่งเท่าเอกชน เอกชนรู้เชิงลึกและเป็นนักรบตัวจริง แต่นอกจากรัฐจะสนับสนุนแล้ว รัฐต้องอย่าไปสร้างกฎเกณฑ์กติกาที่เป็นอุปสรรค อย่าไปเตะตัดขาจนเอกชนไม่สามารถเลี้ยงลูกไปยิงประตูได้ ดังนั้น ต้องเร่งแก้อุปสรรค เพื่อให้เขาเป็นพระเอกยิงประตูนำเงินเข้าประเทศให้มากที่สุด

 

 

เมื่อผมเข้าไปรับผิดชอบเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) รัฐกับเอกชนจับมือร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมในการส่งออกจับมือกันแก้ปัญหาหน้างาน หรือแก้ไขปัญหาทุกอย่าง เพื่อให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็วตัวเลขส่งออกจะได้มากขึ้น ที่ผ่านมาเราจับมือกับเอกชนแก้ปัญหาเชิงรุกชัดเจน อาทิ ตู้คอนเทนเนอร์ขาด เพราะถ้าไม่มีตู้คอนเทนเนอร์เราจะใส่ถุงก๋วยเตี๋ยวส่งออกคงไม่ได้ ตู้คอนเทนเนอร์เป็นที่ต้องการของทั่วโลกและขาดแคลน แต่สุดท้ายเราใช้ทุกวิถีทาง จนทำให้ปัจจุบันตัวเลขรวมสมดุลแล้ว คือตู้นำเข้ากับความต้องการใช้เกินดุล ยังเหลือตู้อยู่ 120,000 ฟุต (ทีอียู) แต่บางช่วงติดขัดเพราะไม่ได้มาตามเวลา ในแต่ละเดือนอาจมีจำนวนตู้เข้ามาไม่เท่ากัน แต่ตัวเลขรวมถือว่าปัญหาน้อยลงแต่ต้องติดตามเฝ้าระวัง แต่ที่สำคัญได้มีการแก้ปัญหาตามคำแนะนำของภาคเอกชน โดยเปิดโอกาสให้เรือขนาด 300-400 เมตร เข้ามาเทียบท่า ทั้งที่ปกติไทยไม่ได้อนุญาตให้เรือขนาดดังกล่าวเข้ามา แต่จากการเปิดโอกาสดังกล่าว ทำให้มีการนำเข้าตู้เปล่ากับตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาใช้ได้และประสบความสำเร็จ พฤษภาคม-สิงหาคม เข้ามา 8 ลำ 36,054 ทีอียู ตุลาคม-ธันวาคม 2564 มีกำหนดการว่าจะเข้าใหม่ 7 ลำ น้ำตู้เข้ามาประมาณ 25,000 ทีอียู

 

 

รวมภายในปี 2564 ที่จับมือกับภาคเอกชนแก้ปัญหาจะมีเรือใหญ่เข้ามา 15 ลำ รวมนำตู้เข้ามา 61,054
ทีอียู แต่ปัญหาใหญ่อีกข้อ คือค่าระวางเรือ ที่เป็นปัญหาของทั่วโลก อาจจะเกินกำลังประเทศใดประเทศหนึ่งที่จะไปแก้โดยลำพัง เพราะเป็นปัญหาโลก ก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ส่งออกข้าว พบว่าหลายครั้งค่าระวางเรือแพงกว่าค่าข้าวที่ใส่ไปในตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ไทยแข่งขันไม่ได้ แต่แนวทางที่ได้กำหนดไว้สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ขอให้รวมตัวกันและซื้อพื้นที่เป็นล็อตใหญ่และกรมการค้าต่างประเทศจะช่วยเจรจาให้ แต่การรวมตัวของเอกชนนั้นไม่ง่าย หรือเอกชนรายใหญ่ผู้ค้าข้าวรวมตัวกันให้กรมการค้าต่างประเทศ เป็นหน่วยงานกลางเชิญสายเดินเรือมาเจรจาต่อรองแต่สุดท้ายติดปัญหา เพราะบางครั้งออเดอร์เป็นความลับเอกชนต้องแข่งขันกันเองจึงเป็นข้อจำกัดในการแก้ปัญหาภาพรวม เอกชนเสนอว่าถ้าค่าระวางเรือรัฐช่วย 100% ไม่ได้ ก็ช่วยค่าธรรมเนียมที่ท่าเรือ ที่ผ่านมาก็ช่วยได้บ้าง เหมือนหยดน้ำสามหยดลงในมหาสมุทรแม้จะมีแค่สามหยดแต่อย่างน้อยก็มีสามหยด

 

 

 

ตอนนี้ปัญหาใหม่ คือสเปซของเรือ มีของส่งแต่ไม่มีพื้นที่เรือให้ใช้เป็นปัญหาใหญ่ที่ยังแก้ไม่จบ ผมต้องจับมือกับเอกชนแก้ต่อไป ซึ่งสิ่งที่เอกชนเสนอทำท่าเรือแหลมฉบังเป็นฮับการขนถ่ายสินค้า เพราะทุกวันนี้เวลาเรือต่างประเทศเข้ามารับได้เฉพาะของไทยและไปต่อต่างประเทศ แต่ว่าจะเอาตู้เข้ามามากกว่านั้นและเอาตู้หรือของที่รับจ้างมาวางไว้ที่ท่าเรือในประเทศไทยและนำสินค้าเราขึ้นให้มีพื้นที่มากขึ้นทำไม่ได้ติดขัดกฎระเบียบเอาของมาวางไว้ไม่ได้ ไม่เหลือคลังสินค้าทัณฑ์บน หรือประเทศเมียนมา กัมพูชา และประเทศใกล้เคียง อยากเอาของมาขึ้นเรือที่แหลมฉบัง เรือใหญ่จะได้เข้ามาเพื่อรับของจะได้จูงใจให้เรือลำใหญ่พื้นที่เยอะเข้ามา หรือที่เรียกว่าถ่ายลำ แต่ทำไม่ได้เพราะติดขัดกฎระเบียบ ถ้าแก้กฎระเบียบให้ไทยเป็นฮับเปิดโอกาสให้เรือใหญ่เข้ามาเยอะ ต้องใช้เวลาแก้กฎระเบียบต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ผมรับเป็นการบ้านไว้แล้ว และจะมีการหารือร่วมกับเอกชนต่อไป

 

 

ส่วนอีกหนึ่งปัญหา คือเรื่องต้นทุนกระป๋องแพง เป็นอีกหนึ่งการบ้านที่ได้รับมาจากเอกชน เพื่อคลี่คลายปัญหาและทำให้การส่งออกเติบโตขึ้นอีก สาเหตุที่ทำให้ต้นทุนกระป๋องแพง เนื่องจากเหล็กนำเข้าราคาแพง ไทยเก็บภาษีทุ่มตลาด ที่มีการมาขายตัดราคาในประเทศไทยจึงต้องเก็บภาษีทุ่มตลาด เป็นไปตามกฎหมายป้องกันการทุ่มตลาด วิธีแก้คือลดภาษีลงเพื่อให้เข้ามาง่ายขึ้นมาขายในราคาถูกลง ต้นทุนกระป๋องที่ใช้ในการผลิตถูกลง และแข่งขันได้มากขึ้น

ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ รวมถึงจะมีการประชุมและเคาะ เพื่อช่วยให้ตัวเลขการส่งออกของเราดีขึ้น หากถามเหตุผลว่าทำไมต้องช่วยเหลืออุตสาหกรรมกระป๋อง การส่งออกอาหารกระป๋องของไทยคิดเป็นเกือบ 3% ของยอดส่งออกทั้งหมด ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ อาทิ การส่งออกรถยนต์ไปเวียดนาม

 


เมื่อก่อนจะต้องตรวจเยอะทั้งฝั่งไทยและฝั่งเวียดนามทุกล็อต เจรจากับรัฐมนตรีเวียดนามหลายปี สุดท้ายสำเร็จ โดยมีข้อตกลงพิเศษที่เรียกว่า ข้อตกลงยอมรับร่วม (เอ็มอาร์เอ) หรือการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมว่าตรวจครั้งเดียวตรวจด่านเดียว ไม่ต้องตรวจทุกล็อต ทำให้ผลจากการจับมือแก้ปัญหากับเอกชนได้ผล ตัวเลขเดือนพฤษภาคมหลังมีเอ็มอาร์เอ ตัวเลขส่งออกรถยนต์ไปเวียดนาม เติบโต 922% เป็นผลจากการทำงานหนักจับมือของกระทรวงพาณิชย์และทุกฝ่ายกับภาคเอกชน

 

 

ที่สำคัญอีกเรื่อง คือการตั้งทีมเซลส์แมนจังหวัด พาณิชย์จังหวัดมาเป็นตัวกลางเอกชนในจังหวัดมาร่วมมือกันแก้ปัญหาการตลาดในจังหวัด จับมือกัน และมีทีมเซลส์แมนประเทศ ทูตพาณิชย์เป็นแกนกลาง เอกชนจับมือกันเป็นทีมเซลส์แมนประเทศช่วยกันขายของกำหนดยุทธศาสตร์ และต่อไปทีมเซลล์แมนจังหวัดและทีมเซลล์แมนประเทศจับมือทำงานด้วยกัน เป็นนโยบายกระทรวงพาณิชย์ที่มีส่วนช่วยสำคัญในการทำให้การส่งออกตัวเลขค่อยๆ ดีขึ้น

 

 

ทางด้านแผนการส่งออกของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 200 กว่ากิจกรรมและครึ่งปีหลังอีกอย่างน้อย 130 กิจกรรม การส่งออกยังเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป บวกกับค่าเงินบาทอ่อนลงในช่วงนี้แม้จะปรับตัวขึ้นลง แต่ก็มีส่วนช่วยทำให้เราแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดโลกขณะเดียวกันเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว ช่วยขับเคลื่อนการส่งออกให้เป็นความหวังได้ยิ่งขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวทุกประเทศได้ประโยชน์ แต่ภาวะการแข่งขันยังเหลืออยู่และอาจจะต้องทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น

 

 

ส่ วนสิ่งที่ต้องติดตาม คือ ประเด็นที่หนึ่ง การกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษีจะทวีความรุนแรงเข้มข้นและมีรายการเพิ่มขึ้น มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีทั้งหมดนี้สร้างขึ้นมาจากประเทศพัฒนาแล้วเกือบทั้งสิ้น ตั้งแต่หลังสงครามเย็น สหรัฐเป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์กติกาโลกขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เป็นผู้ดำเนินการทำให้กฎเกณฑ์กติกามาเยอะ ทำให้จีดีพีของประเทศพัฒนาแล้วเมื่อเทียบกับทั้งโลกเป็นของประเทศพัฒนาแล้ว 80% เหลือประเทศกำลังพัฒนาแค่ 20% ต่อมาศักยภาพประเทศกำลังพัฒนาดีขึ้นขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศพัฒนาแล้วลดลงสุดท้ายจีดีพีเปลี่ยนจากประเทศพัฒนาแล้ว จาก 80% เหลือ 60% ประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มจาก 20% เป็น 40% ตรงนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วก็เลยต้องดิ้นสู้ จึงเป็นที่มาของการตั้งกติกาใหม่ที่ไม่ใช่กำแพงที่มิใช่ภาษีแต่เป็นการกีดกันทางการค้ารูปแบบหนึ่ง อาทิ ด้านแรงงานสิทธิมนุษยชน ด้านสุขอนามัย และด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และที่มาใหม่ต่อไปนี้สินค้าและประเทศไหนผลิตให้เกิดคาร์บอนโลกร้อนจะเก็บภาษีคาร์บอนโดยยุโรป
(อียู) ภายใน 2 ปีต่อจากนี้ จะเก็บภาษีคาร์บอนนำเข้าสินค้าไปยังอียูในสินค้า 5 รายการ 1.เหล็ก 2.อะลูมิเนียม 3.ซีเมนต์ 4.ไฟฟ้า และ 5.ปุ๋ย เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องเตรียม โดยกลุ่มที่มีลูกค้าอยู่อียู และเชื่อว่าการกระทำลักษณะนี้จะมีมาอีกแต่ยังคาดการณ์ไม่ได้

 

 

ประเด็นที่สอง เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการหยิบยกประเด็น ที่สหรัฐ อียู และออสเตรเลีย จับมือกันตั้งไตรภาคีเพื่อความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก มีนัยสำคัญ คือสหรัฐจะเข้าไปช่วยออสเตรเลียผลิตเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งออสเตรเลียสั่งซื้อจากฝรั่งเศสหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ กระทบฝรั่งเศส แต่ทันทีที่ประกาศไตรภาคีเรื่องนี้ประเทศจีนประกาศจะเข้าร่วมซีพีทีพีพี ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ต้องติดตาม เพราะจะช่วยฉายภาพให้เรามองเห็นตั้งแต่เทรดวอร์มาว่าโลกไม่ได้แบ่งค่ายเฉพาะทางการเมืองแล้ว แต่ยังเอาเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศมามัดติดกับการเมืองแล้วมาแบ่งค่ายกัน เรื่องนี้คือประเด็นใหญ่ที่ประเทศไทยและภาคเอกชนต้องจับมือติดตามวิเคราะห์กันอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้รับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ว่าไทยจะต้องอยู่ฝั่งไหน กำหนดท่าทีอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการเสนอในที่ประชุม ครม. ว่าอย่างน้อยที่สุดไทยต้องจับมือกับประเทศอาเซียนให้ใกล้ชิด เพราะลำพังไทยตัวเล็กเกินไป แต่ปัญหาคือประเทศอาเซียนด้วยกันก็เกิดการแข่งขันระหว่างประเทศอีก เพราะฉะนั้น ไทยจะต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศไทยอย่างไร ประเด็นนี้จึงเป็นการบ้านข้อใหญ่ในภาวะที่การเมืองมัดติดกับเศรษฐกิจการค้าโลกอย่างที่ประเทศมหาอำนาจเขาทำกัน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ กรอ.พาณิชย์จะต้องช่วยกันหาคำตอบต่อไป

 

 

ประเด็นที่สาม เอกชนกับรัฐบาลต้องศึกษาข้อตกลงกติกาการค้าโลกที่มีให้ใกล้ชิดลงลึกเรื่องเอฟทีเอ มินิเอฟทีเอ และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป และอาเซียนพลัสรวมถึงอื่นๆ เพื่อเตรียมการในการปรับตัวและแสวงหาแต้มต่อทางการค้า

 

 

ประเด็นที่สี่ เรื่องจีนสนใจจะเข้าร่วม ซีพีทีพีพี ผมเชื่อเรื่องนี้จะกระทบไทยเพราะถ้าจีนเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี ต้องปรับมาตรฐานทางด้านการผลิตการส่งออกหลายรายการเพื่อให้สอดคล้องกับกติกา จะกระทบไทยเพราะจีนเป็นตลาดอันดับหนึ่งของไทยในวันปัจจุบัน เมื่อจีนปรับมาตรฐานการส่งออก สินค้าไปจีนต้องภายใต้มาตรฐานใหม่ เป็นสิ่งที่ กรอ.พาณิชย์ทั้งกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะโลกมันไปเร็ว ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือสิ่งที่อยากเสนอ ไม่เพียงเพราะนำมาพูดในงานสัมมนาแต่อย่างน้อยกระทรวงพาณิชย์ทำงานบรรลุผลร่วมกับภาคเอกชน เราติดตามใกล้ชิดและเข้าใจจริงๆ จับมือกันแน่นในการคลี่คลาย การส่งออกจึงยังเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยได้ต่อไป