รีเซต

ไทยผนึกญี่ปุ่น เร่งฟื้น ‘การค้า-ลงทุน’ หลังโควิด - นักลงทุนโอดแรงงานไทยแพง-ขาดแคลนบุคลากร

ไทยผนึกญี่ปุ่น เร่งฟื้น ‘การค้า-ลงทุน’ หลังโควิด - นักลงทุนโอดแรงงานไทยแพง-ขาดแคลนบุคลากร
ข่าวสด
9 พฤษภาคม 2565 ( 16:22 )
42
ไทยผนึกญี่ปุ่น เร่งฟื้น ‘การค้า-ลงทุน’ หลังโควิด - นักลงทุนโอดแรงงานไทยแพง-ขาดแคลนบุคลากร

ข่าววันนี้ นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ กล่าวระหว่างการเปิดงานสัมมนาเชิงนโยบาย “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้ามิติใหม่ ไทย-ญี่ปุ่น” (High-Level Policy Dialogue Forum on Thailand - Japan's New Dimension of Economic Cooperation) ในโอกาสฉลองครบรอบ 135 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น ว่า งานสัมมนาครั้งนี้ มีผู้ร่วมเสวนาทั้งจากภาครัฐและเอกชนของไทยและญี่ปุ่นเข้า ร่วมนำเสนอแนวทางการสร้างความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในรูปแบบใหม่หลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ การส่งเสริมผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ข้อริเริ่มการลงทุนเอเชีย-ญี่ปุ่นสำหรับอนาคต

 

นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะประโยชน์จากการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคจากความตกลง RCEP และเสนอแนวทางการกระชับความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในรูปแบบใหม่ โดยปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่งของไทยมายาวนาน ปัจจุบันมีกว่า 6,000 บริษัท

 

ในปี 2564 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 60,670.63 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 11.26% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่นอันดับ 3 มูลค่า 24,985.35 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล

 

 

ส่วนไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นอันดับ 2 มีมูลค่า 35,685.28 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญจากญี่ปุ่น อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) กล่าวว่า เอกชนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนใน ไทยมากที่สุดครองส่วนแบ่ง 37.36% โดยมีการร่วมลงทุนกับอุตสากรรมของไทยซึ่งเป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจำนวน 45 กลุ่ม ซึ่งมีสัดส่วน 50% ของจีดีพีของไทย โดย 5 อุตสาหกรรมหลักที่ญี่ป่นลงทุน ได้แก่ ยานยนต์ 10.9% เหล็กและผลิตภัณฑ์ 8.3% เครื่องจักร 7.65% เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ 6.6%

 

หลังจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย และภาวะสงครามในปัจจุบันมองว่าญี่ปุ่นจะมีการลงทุนมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะการลงทุนในไทยซึ่งไม่ใช่ ประเทศคู่ขัดแย้งของสงคราม แต่จะต้องเร่งหามาตรการความร่วมมือเพื่อรักษา supply chain ของนักลงทุน ให้ยังอยู่ในไทยให้มีการวัตถุดิบท้องถิ่นในไทยให้มากที่สุด

 

นอกจากนี้ ต้องหาทางให้ญี่ปุ่นถ่ายทอดคเทคโนโลยีให้กับบริษัทไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี, ขอให้เปิดโอกาสให้คนไทยเป็นผู้บริหารในบริษัทของญี่ปุ่นมากขึ้น รวมทั้งเร่งส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวระหว่างกันด้วย

 

 

นายทาเคโอะ คาโตะ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) กล่าวว่า แม้ว่าไทยจะเจอกับปัญหา โควิด แต่จำนวนสมาชิกของหอการค้าญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยก็มีจำนวนลดลงเล็กน้อย โดยจากผลความสำรวจความคิดเห็นนักธุรกิจญี่ปุ่นพบว่าปัญหาที่เป็นอุปสรรค คือ ราคาวัตถุดิบและต้นทุนค่าขนส่ง ที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก

 

ส่วนปัญหาการลงทุนในไทยนั้นเรื่องสำคัญคือ ปัญหาค่าแรงงานมีราคาแพง รวมทั้งการเก็บภาษีแรงงาน ซึ่งขณะนี้ หอการค้าญี่ปุ่นฯ ได้นำเสนอปัญหาเพื่อให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ไข

 

ทั้งนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นและไทยจะร่วมกับผลักดัน BCG ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลหลักในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting 2022: MRT) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 19-22 พ.ค. นี้ และนักลงทุนญี่ปุ่นยังสนใจลงทุนในธุรกิจ Health Care หรืออุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ ล่าสุด หอการค้าญี่ปุ่นได้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาดูแลเร่อง BCG และอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ แล้ว

 

นายชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า การจะดึงเงินเม็ดเงินลงทุนญี่ปุ่นเข้าไทยเพิ่มจะต้องส่งเสริมให้มีความร่วมมือแบบหุ้นส่วน และต้องเจาะเป็นรายพื้นที่ให้มากขึ้น

 

ทั้งนี้ ยอมรับว่าการลงทุนในไทยยังมีจุดอ่อน ที่ผ่านมานักลงทุนญี่ปุ่นบ่นว่าการลงทุนในไทยยังมีปัญหา เพราะยังไม่มีบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถสำหรับอุตสาหกรรมใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุน ซึ่งไทยต้องเร่งพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาและไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาพรวม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง