ความสำคัญของการอนุรักษ์ พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติ ในสิ่งแวดล้อม | บทความโดย ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล ในบางครั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็อาจเกิดจากที่เราได้พากันไปปรับเปลี่ยนสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติไปเป็นอย่างอื่น เช่น การถมที่ในบางจุดเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย และสถานการณ์นี้ก็ไปทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำ พอจะมองภาพออกไหมคะ? และนอกจากตัวอย่างนี้แล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้เห็นมานั้น คือ พื้นที่ชุ่มน้ำในธรรมชาติลดน้อยลง ที่ไม่ว่าจะเกิดจากภาวะแล้งแห้ง หรือมนุษย์ไม่ได้อนุรักษ์ไว้ก็ตามแต่ค่ะ ที่ไม่ว่าจะด้วยต้นเหตุอะไรก็ตามแต่ล้วนทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมาแน่นอน ซึ่งถ้าจะพูดว่า ในบางครั้งก็เกิดจากที่เรามองไม่เห็นประโยชน์และความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำด้วย ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในบทความนี้เราจะมารู้กันว่า ความสำคัญของการคงไว้ซึ่งพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติ มีอะไรบ้าง ในแต่ละด้านมีข้อดีเกิดขึ้นยังไง ที่รับรองว่าเมื่ออ่านจบคุณผู้อ่านมองเห็นภาพใหญ่ของเรื่องนี้แน่นอนค่ะ และยังสามารถนำข้อมูลในนี้มาสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมให้กับตัวเองได้ด้วย ดังนั้นต้องอ่านให้จบและค่อยๆ ทำความเข้าใจ กับข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ค่ะ 1. เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ โดยทำหน้าที่คล้ายกับฟองน้ำขนาดใหญ่ที่ดูดซับน้ำไว้ในช่วงฤดูฝนและค่อยๆ ปล่อยออกมาในช่วงฤดูแล้ง กระบวนการนี้ช่วยควบคุมปริมาณน้ำ ลดปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน และบรรเทาปัญหาภัยแล้งในฤดูแล้ง นอกจากนี้พื้นที่ชุ่มน้ำยังช่วยเติมน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับชุมชนและระบบนิเวศ ดังนั้นการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำจึงเป็นการรักษาสมดุลของแหล่งน้ำธรรมชาติ และสร้างความมั่นคงด้านน้ำในระยะยาว 2. ช่วยกรองและบำบัดน้ำ หลายคนยังมองภาพไม่ออกว่า พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติมีศักยภาพในการกรองและบำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพมาก เพราะระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำประกอบด้วยพืชและจุลินทรีย์หลากหลายชนิดที่ทำงานร่วมกันเพื่อกำจัดสารปนเปื้อนในน้ำ พืชในพื้นที่ชุ่มน้ำจะดูดซับสารอาหารและสารพิษจากน้ำ ในขณะที่จุลินทรีย์จะย่อยสลายสารอินทรีย์และสารเคมีที่เป็นอันตราย จึงมีส่วนช่วยลดมลพิษในแหล่งน้ำ ทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น และส่งผลดีต่อสุขภาพของระบบนิเวศและมนุษย์ และถ้าจะพูดว่าการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นการรักษาระบบบำบัดน้ำเสียตามธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูงและยั่งยืนก็คงจะไม่ผิดค่ะ 3. เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืช พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติทุกแห่งสามารถเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของสัตว์และพืชหลากหลายชนิดได้ค่ะ เนื่องจากว่ามีความหลากหลายของระบบนิเวศมาก และสภาพแวดล้อมก็เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่างๆ โดยพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกน้ำนานาชนิด ซึ่งการหันมาอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติ จึงเป็นการรักษาสมดุลของระบบนิเวศและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพค่ะ 4. เป็นแหล่งผลิตอาหาร น้อยคนจะมีประสบการณ์และได้พบเห็นว่า พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีความสำคัญต่อมนุษย์และระบบนิเวศ แต่สำหรับผู้เขียนนั้นได้มีโอกาสเห็นภาพจริงมาแล้วค่ะว่า พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติสามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำนานาชนิด เช่น ปลา กุ้ง หอยและปู นอกจากนี้พื้นที่ชุ่มน้ำยังเป็นแหล่งผลิตพืชที่สามารถเกิดในน้ำ และสามารถนำมาเป็นอาหารได้ เช่น ผักบุ้ง เม็ดบัว ผักก้านจอง เป็นต้น ซึ่งตามธรรมชาตินั้นผักเหล่านี้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง เราจึงพบความหลากหลายของชนิดผักในพื้นที่ชุ่มน้ำค่ะ ดังนั้นการหันมาอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ จึงเป็นการรักษาแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญและสร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาวนะคะ 5. มีส่วนช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ บทบาทสำคัญอีกอย่างหนึ่งของพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติ คือ มีส่วนช่วยในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน จากที่พืชในพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น ต้นกก ต้นอ้อและหญ้า จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศในกระบวนการสังเคราะห์แสง และกักเก็บคาร์บอนไว้ในลำต้น ราก และดิน นอกจากนี้ดินในพื้นที่ชุ่มน้ำยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนขนาดใหญ่ เนื่องจากมีอินทรียวัตถุที่ย่อยสลายได้ช้า ซึ่งการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำจึงเป็นการรักษาระบบนิเวศที่ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ และมีส่วนช่วยในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนค่ะ 6. สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวและนันทนาการได้ ถ้ามีพื้นที่ชุ่มน้ำถือว่าเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งค่ะ เพราะว่าพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติเป็นแหล่งท่องเที่ยวและนันทนาการได้ และปัจจุบันก็กลายเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากมีความสวยงามตามธรรมชาติและกิจกรรมที่หลากหลาย นักท่องเที่ยวจึงสามารถเพลิดเพลินกับการชมทัศนียภาพที่งดงามของพื้นที่ชุ่มน้ำ ได้สัมผัสกับความหลากหลายทางชีวภาพ และทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การพายเรือ การดูนก การตกปลาและการเดินป่า ซึ่งที่นี่ก็สามารถใช้เป็นพื้นที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น นอนเล่น ใช้เป็นพื้นที่สำหรับอ่านหนังสือ พักผ่อน และสงบจิตสงบใจจากความวุ่นวายได้เป็นอย่างดีค่ะ โดยการท่องเที่ยวในพื้นที่ชุ่มน้ำไม่เพียงแต่สร้างความสุขและความผ่อนคลาย แต่ยังเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วยค่ะ 7. ใช้เพื่อการเรียนรู้และวิจัย จริงๆ ประเด็นนี้ต้องขอยกตัวอย่างจากที่ผู้เขียนได้เคยมีประสบการณ์มาเลยค่ะ โดยในช่วงที่ยังเป็นนักศึกษาปริญญาโทอยู่นั้น มีวิชาหนึ่งผู้เขียนและเพื่อนๆ ในห้องได้ออกนอกพื้นที่ โดยเราทุกคนได้ไปที่พื้นที่ชุ่มน้ำแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัย เพื่อไปดูว่าแหล่งน้ำนั้นมีผลกระทบอะไรบ้าง ด้วยการประเมินจากตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตในหน้าดินของแหล่งน้ำนั้น และอื่นๆ ที่กี่ยวข้องค่ะ และพอได้ข้อมูลแล้ว ก็นำมาวิเคราะห์เกี่ยวกับแหล่งน้ำนั้นค่ะ จากตัวอย่างนี้คุณผู้อ่านพอจะมองเห็นภาพหรือยังค่ะว่า พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และการวิจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศที่ซับซ้อน นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย หรือแม้แต่นักเรียนและนักศึกษา ก็สามารถศึกษาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่าสนใจได้ เช่น การไหลเวียนของน้ำ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างๆ กับแหล่งน้ำ นอกจากนี้พื้นที่ชุ่มน้ำยังเป็นแหล่งข้อมูลที่มีค่าสำหรับการศึกษาด้านนิเวศวิทยา การอนุรักษ์ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ 8. ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ถ้าจะพูดว่า พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติมีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศนั้น เป็นความจริงค่ะ ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะว่า พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมาติได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ช่วยควบคุมปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง จึงทำให้ระบบนิเวศมีความมั่นคงและยั่งยืน ตลอดจนพื้นที่ชุ่มน้ำยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชหลากหลายชนิด ซึ่งมีความสัมพันธ์กันในระบบนิเวศ ซึ่งการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำจึงเป็นการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและป้องกันการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ และจากที่เราก็ได้รู้มาแล้วว่า พื้นที่ชุ่มน้ำยังช่วยกรองและบำบัดน้ำเสีย ที่มีส่วนทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในนั้น ดังนั้นการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำจึงเป็นการรักษาสมดุลของระบบนิเวศและสร้างความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติค่ะ 9. ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่ง เช่น ป่าชายเลน มีบทบาทสำคัญในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่นและลมทะเลนะคะ เพราะพื้นที่ส่วนนี้มีระบบรากที่ซับซ้อนของพืชในพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงมีส่วนช่วยยึดเกาะดินและตะกอนค่ะ จากนั้นจึงทำให้ชายฝั่งมีความแข็งแรงและทนทานต่อการกัดเซาะ นอกจากนี้พื้นที่ชุ่มน้ำยังช่วยลดความเร็วของคลื่นและกระแสน้ำ ทำให้พลังงานที่เข้าปะทะชายฝั่งลดลง ดังนั้นการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งจึงเป็นการรักษากำแพงธรรมชาติ ที่ช่วยป้องกันชายฝั่งจากการกัดเซาะ และรักษาความสมบูรณ์ของชายฝั่งในระยะยาวค่ะ 10. เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ หลายคนยังไม่รู้ว่า พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติถือเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตและกักเก็บน้ำจืดที่สำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำยังเป็นแหล่งผลิตอาหาร เช่น ปลา กุ้ง หอย และพืชผักต่างๆ ที่สำคัญ ในขณะเดียวกันพื้นที่ชุ่มน้ำยังเป็นแหล่งของทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ เช่น ดิน แร่ธาตุ และพืชพรรณต่างๆ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการเกษตร อุตสาหกรรม และการดำรงชีวิตประจำวัน ดังนั้นการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำจึงเป็นการรักษาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมค่ะ ก็จบแล้วนะคะ กับ 10 ข้อดีของการหันมาคงไว้ซึ่งพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติ โดยถ้าจะให้เปรียบเทียบกับสมัยก่อนนั้น ตอนนี้ถือว่ามีพื้นที่ชุ่มน้ำน้อยมากค่ะ ที่ในบางครั้งก็อาจเกิดจากที่เรามองไม่เห็นประโยชน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงทำให้เราพากันถมดินหรือไปปรับเปลี่ยนพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นอย่างอื่นแทน แต่สำหรับที่นี่ผู้เขียนมีแหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่ด้วยกันถึง 4 จุดค่ะ ที่ไม่ใช่พื้นที่ชุ่มน้ำสาธารณะนะคะ ก็พบว่ามีข้อดีหลายอย่างมากๆ และหลายข้อก็เป็นไปตามที่ผู้เขียนได้พูดไว้ข้างต้นค่ะ จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนหันมาใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และตัวอย่างที่สามารถทำได้ก็คือ ถ้ามีพื้นที่ชุ่มน้ำควรเก็บรักษาไว้ตามแบบที่เป็นอยู่แล้วในธรรมชาติค่ะ และผู้เขียนหวังว่าเนื้อในบทความนี้จะสามารถเป็นแนวทางให้กับคุณผู้อ่านได้บ้าง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากชอบบทความแบบนี้อีก อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปกและภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียน ออกแบบภาพหน้าปกโดยผู้เขียนใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา: พยาบาลศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่คล้ายกันโดยผู้เขียน 10 ข้อดีของการใช้ชีวิตในชนบท อยู่บ้านนอกดีกว่าในเมืองอย่างไร 6 แมลงที่บ่งชี้คุณภาพอากาศ ก่อนที่จะมีฝนตก จอกผักกาด พืชน้ำเลี้ยงปลา จัดสวน ขายได้ และบำบัดน้ำเสีย เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !