สวัสดีนักอ่านทุก ๆ ท่าน วันนี้มาพบกับบทความของ Noonmednai กันอีกแล้ว บทความดี ๆ มีสาระ เกี่ยวกับความรู้ในวิชาภาษาไทย ผู้ใหญ่อ่านได้ เด็กอ่านดี วันนี้ขอเสนอเรื่อง “อักษรนำ” สำหรับเรื่องนี้ต้องใช้ความรู้เรื่อง "ไตรยางศ์" (อักษรสามหมู่) ด้วย หากใครลืมแล้ว รีบเข้าไปศึกษาก่อนเลยจ้าอักษรนำคืออะไร อักษรนำ ก็คือ คำที่มีพยัญชนะต้นสองตัวอยู่ในสระและตัวสะกดเดียวกัน โดยอักษรนำบางคำก็ออกเสียงเฉพาะพยัญชนะต้นตัวที่สองเพียงตัวเดียว เป็นหนึ่งพยางค์ เช่น หนู หมาก อยู่ อยาก บางคำก็ออกเสียงพยัญชนะต้นทั้งสองตัว เป็น 2 พยางค์ โดยพยางค์แรกออกเสียงร่วมกับสระอะแบบครึ่งเสียง เช่น กนก (กะ-หนก) แถลง (ถะ-แหลง) ไสว (สะ-ไหว)อักษรนำมีลักษณะอย่างไรบ้าง 1. อักษรกลางหรืออักษรสูงนำอักษรต่ำเดี่ยว คือ พยัญชนะต้นตัวแรกเป็นอักษรกลางหรืออักษรสูง ส่วนพยัญชนะต้นตัวที่สองเป็นอักษรต่ำเดี่ยว เช่นคำว่า จมูก ตลาด จรัส กนก สง่า แขนง ถลึง ฯลฯ เวลาอ่านออกเสียงคำข้างต้น พยางค์แรกจะประสมกับสระอะ แต่จะออกเสียงอะเพียงครึ่งเสียง ส่วนพยางค์ที่สองเมื่อประสมสระและตัวสะกดแล้ว จะต้องออกเสียงวรรณยุกต์ให้เป็นเสียงเดียวกับพยางค์แรกหรือเสียงเดียวกับพยัญชนะต้นตัวแรก ถ้าจำแบบง่าย ๆ ก็คือ พยางค์แรกออกเสียงอะเพียงครึ่งเสียง พยางค์ที่สองออกเสียงเหมือนมี ห นำ ดังภาพ 2. คำที่มี ห นำ เช่น หงาย หยิบ หญิง หนอน หรู หลาย หมาก แหวน ฯลฯ คำข้างต้นเวลาอ่านออกเสียง จะออกเสียงเฉพาะพยัญชนะต้นตัวที่สอง แต่จะต้องออกเสียงวรรณยุกต์ให้เหมือนกับตัว ห ที่ประสมสระและตัวสะกดแล้ว ดังภาพ 3. คำที่มี อ นำ ย มีอยู่ 4 คำเท่านั้น คือ อย่า อยู่ อย่าง อยาก เวลาออกเสียงจะออกเสียงเฉพาะพยัญชนะต้นตัวที่สอง (ตัว ย ) และจะออกเสียงเหมือนมี ห นำ ดังภาพ 4. อักษรสูงนำอักษรกลาง เช่น แสดง เสด็จ เผอิญ เผด็จ ฯลฯ ลักษณะนี้พยางค์แรกออกเสียงอะเพียงครึ่งเสียง พยางค์ที่สองออกเสียงวรรณยุกต์ตามปกติ 5. อักษรสูงนำอักษรต่ำคู่ เช่น ผไท เผชิญ ฯลฯ ลักษณะนี้พยางค์แรกออกเสียงอะเพียงครึ่งเสียง พยางค์ที่สองออกเสียงวรรณยุกต์ตามปกติ 6. อักษรสูงนำอักษรสูง เช่น สถาน สถานี สถาปนิก เสถียร ผสาน ผสม ฯลฯ ลักษณะนี้พยางค์แรกออกเสียงอะเพียงครึ่งเสียง พยางค์ที่สองออกเสียงวรรณยุกต์ตามปกติ 7. อักษรต่ำนำอักษรต่ำเดี่ยว เช่น เชลย โพยม ฯลฯ ลักษณะนี้พยางค์แรกออกเสียงอะเพียงครึ่งเสียง พยางค์ที่สองออกเสียงวรรณยุกต์ตามปกติอักษรนำแตกต่างจากอักษรควบนะจ๊ะ 1. อักษรนำและอักษรควบแท้ มีพยัญชนะต้นสองตัวเหมือนกัน แต่อักษรควบแท้จะออกเสียงกล้ำกันสนิทเป็นหนึ่งพยางค์ และพยัญชนะต้นตัวที่สองจะเป็น ร,ล,ว เท่านั้น ดูตัวอย่างเปรียบเทียบกันค่ะ ถนน อ่านว่า ถะ - หนน (อักษรนำ) ผลาญ อ่านว่า ผลาน (อักษรควบแท้ ) 2. อักษรนำที่เป็น ห นำ และ อ นำ ย กับ อักษรควบไม่แท้ จะแตกต่างกัน คือ ถ้าเป็น คำที่มี ห นำ กับ อ นำ ย จะออกเสียงเฉพาะพยัญชนะต้นตัวที่สอง แต่ถ้าเป็นคำควบไม่แท้จะออกเสียงเฉพาะพยัญชนะต้นตัวแรกหรือออกเสียงเป็นอย่างอื่นไปเลย ดูตัวอย่างเปรียบเทียบกันค่ะ หนาม อ่านว่า หนาม (อักษรนำ ออกเสียงเฉพาะพยัญชนะต้นตัวที่สอง) อย่า อ่านว่า หย่า (อักษรนำ ออกเสียงเฉพาะพยัญชนะต้นตัวที่สอง) สร้าง อ่านว่า ส้าง (อักษรควบไม่แท้ ออกเสียงเฉพาะพยัญชนะต้นตัวแรก) ทราย อ่านว่า ซาย (อักษรควบไม่แท้ ออกเสียงพยัญชนะต้นเป็นอย่างอื่น คือ ออกเสียง ทร เป็น ซ) สำหรับลักษณะของอักษรนำที่เป็นอักษรกลางนำอักษรกลางนั้นไม่มีใช้นะคะ และลักษณะของอักษรนำที่เรามักพบบ่อย ๆ ก็คืออักษรสูงหรืออักษรกลางนำอักษรต่ำเดี่ยว คำที่มี ห นำ และ คำที่มี อ นำ ย ค่ะ - ภาพหน้าปกออกแบบโดยผู้เขียน ขอบคุณภาพของ Alex Andrews จาก pexels - ภาพประกอบที่ 1 ออกแบบโดยผู้เขียน ขอบคุณภาพของ Kidaha จาก pixabay - ภาพประกอบที่ 2,3 ออกแบบโดยผู้เขียน ขอบคุณภาพของ Kidaha จาก pixabay - ภาพประกอบที่ 4,5 ออกแบบโดยผู้เขียน ขอบคุณภาพของ Kidaha จาก pixabayอัปเดตความรู้ใหม่ๆอีกมากมาย โหลดเลยที่ App TrueID ฟรี !