การติดต่อสื่อสารในอดีต แค่เพียงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่มีให้เลือก และไม่สะดวกเหมือนในปัจจุบัน การติดต่อที่เร็วและสะดวกที่สุดคือโทรศัพท์ แต่ก็มีเฉพาะโทรศัพท์ไม่เคลื่อนที่ ใช้ในบริษัท ห้างร้าน และตามบ้านคนมีฐานะเท่านั้น การขอใช้โทรศัพท์ก็แสนยากลำบาก ต้องจองล่วงหน้าเป็นปี ต้องระบุเหตุผลในการขอใช้โทรศัพท์ด้วย กว่าจะได้รับการจัดสรร อาจรอเป็นปี ๆ คนทั่วไปสามารถใช้ได้เฉพาะโทรศัพท์สารธารณะที่มีติดตั้งตามถนน สถานที่บางแห่ง ซึ่งคนรุ่นปัจจุบันอาจไม่เชื่อว่าเคยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจริง เพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมายิ่งถ้าพูดถึงจดหมายที่คนในยุคเดียวกับข้างต้น ใช้ติดต่อกัน คนในยุคนี้อาจไม่เคยรู้ ไม่เคยใช้ด้วยซ้ำ แต่ก็เป็นความน่ารัก น่าเอ็นดูที่คนในยุคนั้นช่างมีความอดทนในการรอคอย ซึ่งผู้เขียนเองก็เคยผ่านเหตุการณ์นั้นมาแล้ว การติดต่อกับเพื่อนหรือญาติที่อยู่ห่างไกล นิยมใช้การเขียนจดหมายในโรงเรียนมีการสอนวิธีเขียนจดหมายให้ถูกต้อง โดยสอนการเขียนจดหมายที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ปกติแล้วจะขึ้นต้นด้วยวันที่ ย่อหน้าแรกจะเป็นที่อยู่ของผู้เขียนหรือผู้ส่งจดหมาย ย่อหน้าที่ 2 เรียน ผู้รับ แล้วค่อยเขียนเนื้อเรื่องในย่อหน้าที่ 3 ซึ่งอาจมีเนื้อเรื่องหลายย่อหน้าได้ ความยาวตามชอบใจ ลงท้ายด้วยการขอแสดงความนับถือ ความจริงใจ และอื่น ๆ แล้วจึงเซ็นชื่อผู้เขียนหรือผู้ส่ง เสร็จแล้ว พับให้สวยงาม ใส่ซองจดหมาย จ่าหน้าซองผู้ส่ง และผู้รับ เหมือนการส่งของในปัจจุบัน ติดแสตมป์ให้เรียบร้อย ราคาตามระยะทางที่เราจะส่งไป แล้วนำส่งที่ตู้ไปรษณีย์สีแดงที่จะตั้งอยู่ตามริมถนนเป็นระยะ ซึ่งในปัจจุบัน หายากมากถ้าผู้รับได้รับจดหมายแล้ว (ประมาณ 3-4 วัน) ในกรุงเทพฯ หรือเป็นสัปดาห์ในต่างจังหวัด ถ้าส่งไปต่างประเทศก็เป็นเดือน ผู้รับตอบกลับ ก็ทำเช่นเดียวกับเรา และเราจะได้จดหมายตอบกลับโดยบุรุษไปรษณีย์นำส่งให้ถึงบ้าน ถ้าลงทะเบียน เราก็ต้องเซ็นชื่อในสมุดของบุรุษไปรษณีย์นั้น เขียนถึงตรงนี้ ทำให้นึกถึงเพลง Mr. Postman ของ The Carpenters ที่ผู้ร้องรำพันรอคอยการมาถึงของบุรุษไปรษณีย์ ไม่ใช่เป็นแฟนของบุรุษไปรษณีย์ แต่รอคอยจดหมายจากบุรุษไปรษณีย์ที่จะนำจดหมายของคนรักมาส่งในสมัยเรียน (ประมาณ 50 กว่าปีที่แล้ว) ครูโรงเรียนจะให้เราเขียนจดหมายถึงตัวเอง เมื่อได้รับแล้วนำส่งให้ครูดูว่าเราทำสำเร็จแล้ว และครูก็จะแนะนำให้นักเรียนหาเพื่อนในต่างแดนเพื่อฝึกภาษาอังกฤษ โดยพวกเรานักเรียนจะไปที่ไปรษณีย์กลาง ซึ่งไม่ไกลจากโรงเรียน ที่นั่นจะมีแผนกหา Pen Friend โดยพนักงานจะเอาสมุดบันทึกที่ระบุชื่อเพื่อน อายุ เพศ ประเทศ ที่เขาลงทะเบียนไว้กับไปรษณีย์ว่าต้องการเพื่อนในประเทศไทย มาให้เราเลือก จริง ๆ แล้วเราอยากได้เพื่อนในยุโรป หรืออเมริกาที่ภาษาดี แต่ไม่ค่อยมีในบัญชี และพนักงานก็แนะนำว่า ถ้าเลือกเพื่อนในยุโรป หรืออเมริกา กว่าเขาจะตอบกลับมาเราก็เป็นเดือน แถมค่าแสตมป์ก็แพงมาก พวกเราจึงเลือกเพื่อนในแถบเอเซีย ผู้เขียนได้เลือกเพื่อนในศรีลังกา ชื่อ Tsushita เป็นหญิงอายุห่างจากผู้เขียนเล็กน้อย เราเขียนจดหมายโต้ตอบกันอยู่ระยะหนึ่งประมาณ 2-3 ปี ตื่นเต้น สนุกสนานตามประสาเด็กในสมัยนั้น แล้ว Tsushita ก็หายไปเฉย ๆ ไม่ตอบกลับมาอีก ไม่รู้จะไปตามหาได้อย่างไรการเขียนจดหมายเป็นสิ่งสวยงาม classic กระดาษที่ใช้เขียนและซองจดหมายจะเข้าชุดกันสวยงาม เป็นของสะสมได้ ฝึกให้รอคอยเป็น น่าเสียดายที่ไม่เป็นที่นิยมแล้วตามยุคสมัย และกำลังเลือนหายไป การส่งจดหมายในปัจจุบันพบเห็นแต่จดหมายทางการที่จำเป็นต้องมีเอกสารเป็นหลักฐานเท่านั้น ส่วนตู้ไปรษณีย์สีแดง ปัจจุบันเห็นกลายเป็นของชำร่วย ซื้อเป็นของที่ระลึกส่งกัน ให้จดจำว่าเราเคยมีตู้ใส่จดหมายสีแดงด้วยจดหมายจึงดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งตำนานที่จะเลือนหายไป และถูกทดแทนโดยเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างน่าเสียดาย ภาพทั้งหมดโดย ผู้เขียนภาพปกตกแต่งโดย Canvaส่องที่เที่ยว พิกัดลับห้ามพลาด มุมถ่ายรูปสวยที่ทรูไอดีคอมมูนิตี้