รีเซต

ยาเสพติด : เปิดโปงขบวนการ “นักขนโคเคน” ที่ท่าเรือรอตเตอร์ดัม

ยาเสพติด : เปิดโปงขบวนการ “นักขนโคเคน” ที่ท่าเรือรอตเตอร์ดัม
ข่าวสด
27 พฤศจิกายน 2564 ( 22:13 )
103
ยาเสพติด : เปิดโปงขบวนการ “นักขนโคเคน” ที่ท่าเรือรอตเตอร์ดัม

 

ขณะที่ปริมาณโคเคนที่ถูกลักลอบนำเข้ามายังท่าเรือเมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวนชายหนุ่มที่แก๊งอาชญากรรมว่าจ้างให้ช่วยขนยาเสพติดจากเรือสินค้าที่มาจากประเทศแถบลาตินอเมริกามีเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

บีบีซีได้ติดตามเส้นทางของ "นักขนโคเคน"เหล่านี้ เพื่อเปิดโปงการทำงานของพวกเขา รวมถึงเผยให้เห็นถึงอันตรายของงานนี้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานยาเสพติดในยุโรป

 

ภาพจากกล้องซีซีทีวีที่ท่าเรือรอตเตอร์ดัมเผยให้เห็นเยาวชนหลายสิบคนวิ่งเป็นแถวราวกับทหารไปยังตู้ขนสินค้าตู้หนึ่ง

 

แม้จะมีการขนถ่ายสินค้าออกจากเรือบรรทุกผลไม้เมืองร้อนจากโคลอมเบียแล้ว แต่ตู้คอนเทนเนอร์ความยาว 12 เมตร ซึ่งดูเหมือนกับตู้ขนสินค้าอื่นอีกมากมายที่นี่ ยังคงมีของบางอย่างอยู่ภายใน นั่นคือ โคเคนน้ำหนัก 80 กิโลกรัม ที่ถูกซุกซ่อนอยู่ภายในตู้แช่ และมีมูลค่าประมาณ 4 ล้านยูโร (ราว 148 ล้านบาท)

 

งานของนักขนโคเคนเหล่านี้ คือการลักลอบขนยาเสพติดที่มากับตู้คอนเทนเนอร์ออกไปจากท่าเรือ ซึ่งหลังจากนั้นยาจะถูกส่งไปขายต่อในกรุงอัมสเตอร์ดัม กรุงเบอร์ลิน และกรุงลอนดอน

 

"ท่าเรือคือขุมทอง! มันช่างงดงาม" ชายหนุ่มคนหนึ่งที่สวมหน้ากากปิดบังใบหน้าบอกกับ แดนนี โกเซน ผู้สื่อข่าว VPRO เครือข่ายโทรทัศน์ของของเนเธอร์แลนด์

 

"ผมทำเงินได้มากมาย และได้อยู่ใกล้บ้าน...แถมยังมีงานให้ทำตลอดด้วย"

คนหนุ่มเหล่านี้ถูกว่าจ้างโดยเครือข่ายอาชญากรรมที่ทรงอิทธิพลหลายกลุ่ม

 

ชายหนุ่มรายนี้อธิบายต่อว่า "แต่ละงานจะแตกต่างกันไป...นายจ้างคนหนึ่งอาจพูดว่า 'พวกคุณจะได้ค่าจ้างเท่านี้ แล้วเอาไปแบ่งกันเอง' ส่วนนายจ้างอีกคนอาจพูดว่า 'พวกคุณจะได้ยาบางส่วนเพื่อเอาไปขายเอง'"

 

BBC
อันเดร คราเมอร์ เล่าว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีกลุ่มนักขนโคเคนเพิ่มขึ้นมาก

นักขนโคเคนเหล่านี้จะทำเงินได้ประมาณ 2,000 ยูโร (ราว 74,000 บาท) ต่อโคเคน 1 กิโลกรัมที่พวกเขาลักลอบขนออกจากท่าเรือ และธุรกิจนี้กำลังเฟื่องฟูอย่างมาก

อันเดร คราเมอร์ เจ้าของบริษัทผู้จัดการตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือรอตเตอร์ดัม กล่าวถึงปัญหานี้ว่า "เราเริ่มทราบเรื่องนี้เมื่อราว 2 ปีก่อน"

"ตอนนั้นมี [นักขนโคเคน] เพียง 1 หรือ 2 คน และมักเกิดขึ้นเพียงปีละ 1 หรือ 2 ครั้ง แต่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มนักขนโคเคนเริ่มใหญ่ขึ้นเป็น 10-12 คน และเข้ามาก่อเหตุสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง

 

งานอันตราย

การที่มีโคเคนถูกลักลอบนำเข้ามาในเนเธอร์แลนด์มากขึ้น ก็ทำให้วิธีการทำงานของนักขนยาเสพติดเหล่านี้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

บางครั้งพวกเขาไม่ได้ขนยาเสพติดออกจากท่าเรือ แต่ใช้วิธีการขนย้ายยาไปไว้ที่ตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งกลุ่มอาชญากรได้ทำเครื่องหมายไว้โดยได้รับความช่วยเหลือจากพนักงานท่าเรือ ก่อนที่จะมีการขนย้ายตู้สินค้าดังกล่าวขึ้นรถบรรทุกออกจากท่าเรือ

ในบางครั้ง นักขนโคเคนเหล่านี้จะเฝ้ารอรับยาเสพติดภายในพื้นที่ท่าเรือ

นายคราเมอร์เล่าว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ พวกเขาได้ค้นพบว่ากลุ่มคนร้ายใช้ตู้คอนเทนเนอร์ดัดแปลงเป็นที่พัก เพื่อรอรับยาเสพติดที่ท่าเรือ "กลุ่มนักขนโคเคนอาจแอบอยู่ในนั้นนานหลายวัน และทำธุระส่วนตัวอยู่ข้างใน...เราพบฟูกนอน ขวดน้ำ และซองบรรจุอาหาร..."

 

BBC
กลุ่มคนร้ายใช้ตู้คอนเทนเนอร์ดัดแปลงเป็นที่พัก เพื่อรอรับยาเสพติดที่ท่าเรือ

แต่การกระทำแบบนี้อาจเป็นเรื่องอันตรายมาก

เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ชายหนุ่ม 9 คน ติดอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ หลังจากประตูตู้ที่พวกเขาซ่อนตัวอยู่เปิดออกไม่ได้ เพราะถูกตู้คอนเทนเนอร์อื่นบังเอาไว้

ยาน เยนเซ หัวหน้าตำรวจประจำท่าเรือรอตเตอร์ดัม อธิบายว่า การอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ที่มีสินค้าชีวภาพ เช่น ผลไม้ หรือไม้ ซึ่งยังคงดูดก๊าซออกซิเจนอยู่นั้น ก็จะทำให้ปริมาณออกซิเจนในตู้ลดลง และเป็นอันตรายต่อคนที่อยู่ข้างใน

 

BBC
ยาน เยนเซ บอกว่า การแอบอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์อาจมีอันตรายถึงชีวิต

ตามปกติแล้ว กลุ่มนักขนโคเคนจะเปิดตู้ออกมาเอาสินค้าได้เองจากด้านในตู้ แต่เมื่อพวกเขาไม่สามารถออกมาได้ จึงโทรแจ้งเหตุฉุกเฉินเพื่อขอความช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ต้องเผชิญความยากลำบากในการค้นหาตู้คอนเทนเนอร์ที่พวกเขาซ่อนตัวอยู่ เนื่องจากนักขนโคเคนไม่สามารถบอกตำแหน่งตู้ที่พวกเขาอยู่ได้อย่างแน่ชัด และบริเวณนั้นก็เต็มไปด้วยตู้คอนเทนเนอร์ถึง 100,000 ตู้

หลังจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยใช้เวลาค้นหากว่า 4 ชั่วโมง ก็สามารถช่วยเหลือพวกเขาออกมาได้ โดยชายบางคนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากอาการที่ระบบทางเดินหายใจ

แม้งานนี้จะเต็มไปด้วยอันตราย แต่รายได้ที่ล่อใจ ก็ทำให้ชายหนุ่มหลายคนยังทำมันต่อไป

 

Getty Images
ท่าเรือรอตเตอร์ดัม กลายเป็นประตูลักลอบขนยาเสพติดสู่ยุโรป

เมื่อปี 2014 ทางการเมืองรอตเตอร์ดัมสามารถยึดโคเคนที่นำเข้าจากต่างประเทศได้กว่า 5,000 กิโลกรัม ที่ท่าเรือแห่งนี้ แต่ในปี 2020 ปริมาณดังกล่าวพุ่งเป็น 41,000 กิโลกรัม

หัวหน้าตำรวจประจำท่าเรือรอตเตอร์ดัม กล่าวว่า ปีนี้เราประเมินว่าจะเพิ่มเป็น 60,000 กิโลกรัม...เราสร้างสถิติใหม่ทุกปี ซึ่งผมไม่ได้ภูมิใจเลย มันเป็นเรื่องดีที่เรายึดโคเคนเหล่านี้มาได้ แต่มันก็มีปริมาณเพิ่มในทุกปี"

ยาเสพติดที่ทางการจับและยึดได้ที่ท่าเรือแห่งนี้ ยังคงถือเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยของการลักลอบนำเข้าประเทศ

เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา มีนักขนโคเคน 110 คนถูกจับกุมได้ในเขตท่าเรือภายในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์เศษ แต่หากพวกเขาไม่ถูกจับได้โดยที่มียาเสพติดอยู่ในครอบครอง บทลงโทษเดียวที่พวกเขาจะได้รับคือโทษปรับฐานบุกรุก ที่มีราคาไม่ถึง 100 ยูโร (ราว 3,800 บาท) นี่จึงทำให้นักขนยาเสพติดบางคนพกเงินสดติดตัวเพื่อจ่ายค่าปรับในที่เกิดเหตุ กรณีที่พวกเขาถูกจับได้

"เราจะพูดว่า 'พวกเรามาเดินเล่น...พวกเรามีความหลงใหลในตู้คอนเทนเนอร์' นักขนโคเคนที่ปกปิดใบหน้ารายหนึ่งเล่า

"ผมมีอะไรติดตัวไหมล่ะ ยาเสพติดหรือเครื่องมือ ก็เปล่าเลย ผมไม่มีอะไรเลย"

 

Getty Images
ทางการพบว่า "นักขนโคเคน" บางคนมีอายุเพียง 14-15 ปี

ท่าเรือรอตเตอร์ดัม ซึ่งเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปถือเป็นจุดสำคัญในการลับลอบนำเข้ายาเสพติดขององค์กรอาชญากรรม แต่งานของพวกเขาไม่อาจจะสำเร็จลุล่วงไปได้หากไม่มีการทุจริตของเจ้าหน้าที่ภายในท่าเรือ

นักขนโคเคนคนหนึ่งเล่าว่า "ถ้าคุณมาที่นี่พรุ่งนี้เช้า ผมรับประกันได้เลยว่าคุณจะหาบัตรผ่านเข้ามาได้ คุณแค่บอกพนักงานที่นี่ว่า 'ผมขอยืมบัตรผ่านของคุณไปจนถึงพรุ่งนี้ แล้วคุณจะได้ค่าตอบแทน 500 ยูโร'

แต่หากคนในท่าเรือปฏิเสธให้ความร่วมมือ อาชญากรเหล่านี้ก็จะใช้วิธีการข่มขู่บีบบังคับ

"มันเป็นเรื่องยากที่จะทำงานของพวกเราโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากคนใน เช่น เจ้าหน้าที่ศุลกากร...คุณอาจมีตู้คอนเทนเนอร์ที่จะต้องได้รับการตรวจสอบ แต่คนของคุณจะช่วยถอดมันออกจากรายการตู้ที่จะต้องตรวจ"

นายคราเมอร์ เล่าว่า ลูกจ้างของเขาต่างเผชิญแรงกัดดัน เพราะตกเป็นเป้าหมายขององค์กรอาชญากรรม ทั้งการถูกติดตามไปที่บ้าน หรือการข่มขู่จะทำร้ายครอบครัว เพื่อบังคับให้ยอมร่วมมือกับขบวนการค้ายาเสพติดพวกนี้ ส่งผลให้พนักงานบางคนลาออก เพราะหวั่นเกรงอันตราย

ฮิวโก ฮิลเลียนนา หัวหน้าอัยการเมืองรอตเตอร์ดัม เป็นอีกคนที่คุ้นเคยกับปัญหานี้เป็นอย่างดี

"เหตุอาชญากรรมในเมืองนี้หลายคดีเกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติดที่ท่าเรือ...เรามีเหตุยิงกันแทบทุกวัน...เมื่อ 10 ปีก่อนไม่เคยมีเหตุแบบนี้ตามท้องถนน แต่ปัจจุบันความรุนแรงได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ"

ผลพวงจากปัญหาการค้าโคเคนที่รอตเตอร์ดัม ยังส่งผลกระทบไปทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงเหตุลอบสังหารนายปีเตอร์ อาร์ ดี วรีส ผู้สื่อข่าวชื่อดังของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งคนร้ายลงมือก่อเหตุอย่างอุกอาจช่วงกลางวันแสก ๆ ในกรุงอัมสเตอร์ดัม เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา

 

BBC
นาเดีย บาร์คีอัว พยายามให้ความช่วยเหลือเยาวชนไม่ให้หลงผิดเข้าสู่เส้นทาง "นักขนโคเคน"

นาเดีย บาร์คีอัว ผู้ก่อตั้ง YOUZ องค์กรช่วยเหลือเยาวชน กล่าวว่า "องค์กรอาชญากรรมมีระบบจัดการที่ดีมาก พวกเขามีซีอีโอ, ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ พนักงาน และคนจัดหาพนักงานใหม่"

YOUZ ทำโครงการช่วยเหลือเยาวชนแถบฝั่งใต้ของเมืองรอตเตอร์ดัม ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตเสื่อมโทรมที่สุดของเนเธอร์แลนด์ และเป็นบ้านของนักขนโคเคนจำนวนมาก โดยกว่า 1 ใน 4 ของประชากรในแถบนี้เป็นคนอายุต่ำกว่า 23 ปี และกว่าครึ่งมาจากครอบครัวผู้อพยพ

ที่ผ่านมา YOUZ ทำงานร่วมกับโรงเรียน สโมสรต่าง ๆ และศูนย์ชุมชนเพื่อช่วยให้คนหนุ่มสาวห่างไกลจากอาชญากรรม

น.ส. บาร์คีอัว เล่าถึงเรื่องนี้ว่า "เราต้องแสดงให้พวกเขาเห็นว่า การหารายได้ด้วยวิธีการปกตินั้น ปลอดภัยกว่าการทำผิดกฎหมาย และพวกเขามีโอกาสในเมืองแห่งนี้เสมอ"

ทว่าในปัจจุบันมีเด็กหนุ่มที่ก้าวเข้าสู่เส้นทางของนักขนโคเคนที่ท่าเรือเมืองรอตเตอร์ดัมเพิ่มขึ้น

"เรามีวัยรุ่นชายอายุ 14-15 ปี ทำงานนี้ และมันน่ากังวลมาก" นายฮิลเลียนนา หัวหน้าอัยการเมืองรอตเตอร์ดัม ระบุ "พวกเขาอายุน้อยลงทุกที"

 

Getty Images
โคเคนที่ถูกลักลอบนำเข้ามายังรอตเตอร์ดัมจะถูกส่งขายต่อในเมืองหลวงใหญ่ ๆ ของยุโรป เช่น อัมสเตอร์ดัม เบอร์ลิน และลอนดอน

นายฮิลเลียนนา หวังว่า การแก้ไขกฎหมายที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2022 จะเป็นเครื่องมือในการป้องปรามไม่ให้ผู้คนหันเข้าสู่เส้นทางการเป็นนักขนโคเคน เพราะมีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นสำหรับผู้ลักลอบเข้าเขตท่าเรือโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งโทษปรับ และโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี

ทว่าเมื่อเทียบกับรายได้ก้อนโตที่คนกลุ่มนี้ทำได้ กฎหมายดังกล่าวอาจไม่สร้างความเกรงกลัวให้พวกเขาเท่าใดนัก

นายคราเมอร์ เจ้าของบริษัทผู้จัดการตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือรอตเตอร์ดัม แสดงความเห็นว่า "พูดตรง ๆ ผมไม่คิดว่าคุณจะสามารถหยุดยั้งการนำเข้ายาเสพติดมาที่ท่าเรือรอตเตอร์ดัมได้"

นอกจากนี้ เขายังเป็นห่วงว่า การใช้บทลงโทษที่รุนแรงขึ้น อาจกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงที่ท่าเรือ

นายคราเมอร์ บอกว่า ทุกวันนี้ นักขนโคเคนจะจากไปอย่างเงียบ ๆ แต่สถานการณ์จะเลวร้ายลงเมื่อพวกเขาต้องใช้ทุกวิถีทาง เช่น อาวุธ หรือมีด เพื่อให้ขนยาเสพติดออกไปจากท่าเรือ

สำหรับเด็กหนุ่มบางคน การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดขึ้นอาจทำให้พวกเขาต้องคิดทบทวน แต่เงินล่อใจก้อนโตอาจทำให้พวกเขายอมเสี่ยง และพวกเขารู้ดีว่าตนเองเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญของวงจรธุรกิจค้าโคเคนในยุโรป และธุรกิจนี้ก็คงจะไม่ยุติลงในอนาคตอันใกล้

................

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว