การทำงานของปรัชญานั้นสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรก็ได้ วิทยาศาสตร์ ศาสนานิติศาสตร์ อาหาร ดนตรี หรือการเกษตร ก็ได้เพราะสิ่งเหล่านี้มีก็ต้นกำเนิดจากวิถีชีวิตที่กระทำซ้ำเป็น “ความคิด” ซึ่งเป็นเรื่องที่ปรัชญาสนใจและทำงานกับมันโดยตรง เสรีภาพทำให้มนุษย์มีความคิด “เป็นเหตุเป็นผล” บนกฎศีลธรรมสากล หมายถึง“เหตุผลบริสุทธิ์เชิงปฏิบัติ” (a pure practical reason) อันมาจากความอิสระจากอารมณ์ อิทธิพลของเงื่อนไขทางศาสนา สังคม วัฒนธรรม และหลักการของเหตุผล นี่เองที่รู้ว่าอะไรคือความถูกต้อง และความถูกต้องคือ “หน้าที่“ หรือทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อความถูกต้องไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์อื่นใด “การวางเงื่อนไข” ก็คล้ายกับคนที่ใช้เพื่อนมนุษย์เป็นเครื่องมือ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของพวกเขาเอง คิดแทนคนอื่นๆ ว่าเมื่อพวกเขาได้ทำสิ่งนั้น สิ่งนี้แล้วเขาจะมีความสุข เป็นคนดี ฯลฯ เป็นต้น ล้วนแต่เป็นการไม่เคารพความเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพและเหตุผลในตนเอง ของคนอื่นทั้งสิ้น “เหตุผล” ในที่นี้จึงหมายถึง การมีเจตนาทำสิ่งที่ถูกต้องเพราะเห็นว่ามันถูกต้องโดยไม่ขึ้นกับเงื่อนไขว่าผลลัพธ์จะเป็นบวกหรือลบเป็นความสุขหรือความเจ็บปวด พอใจหรือไม่พอใจ ฯลฯ เพราะ “สิ่งที่ถูกต้องมันถูกต้องในตัวมันเอง” จะกลายเป็นศีลธรรมสากลในที่นี้จะขอเชื่อมสัมพันธ์กับเกษตรกรรมเนื้อหาจึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ว่า “อะไร” และ“อย่างไร” เท่านั้น จะต้องมีเนื้อหาของคำว่า“ควร” หรือ “ไม่ควร” อันเป็นการประเมินค่าว่าสังคมยึดถือความเชื่ออย่างไร ปฏิบัติอย่างไร การถามคำถามว่า “เกษตรกรรมคืออะไร” จะเป็นการมุ่งแสวงหาความจริงเกี่ยวกับสิ่งนั้นอย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งปรัชญาเรียกพื้นที่นี้ของตัวว่า “Metaphysic” ปรัชญายังตั้งคำถามเกี่ยวกับเกษตรในพื้นที่อื่นๆ ได้เช่น เราทำการเกษตรอย่างไร (ปัญหาทางญานวิทยา) เกษตรทัศนศิลป์มีจริงหรือไม่อย่างไร (สุนทรียศาสตร์เกษตร) เราควรทำนิเวศน์เกษตรหรือไม่(จริยศาสตร์เกษตร) และเราควรแบ่งปันสรรพยากรเพื่อการเกษตรอย่างไร (ปรัชญาสังคมกับเกษตร) รวมทั้งเกษตรกับศาสนา หรือการเกษตรในมุมมองอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่อธิบายต่างกัน กฏเกณฑ์ด้านเกษตร ถ้าพูดจากแง่มุมทางศาสนาคือความต้องการ “ความบริสุทธิ์” ของกายใจ แต่หากมองจากมุมประวัติศาสตร์ คือความพยายามสร้าง “อัตลักษณ์” ของตน แต่เมื่อนำสังคมเข้าไปสัมพันธ์กับการเกษตรมากๆ ขึ้น พบว่ามีเส้นบางๆ คั่นกลางอยู่ระหว่าง คำว่า “สินค้า” หรือ “อาหาร” ที่เป็นเช่นนั้นเพราะปัจจุบันการเกษตรมุ่งเน้นเรื่อง “เศรษฐกิจ”การไม่พบนิยามที่สมบูรณ์แบบก็ไม่ใช่ปัญหาในปรัชญา เมื่อทุกนิยามยังคงตั้งคำถามและมีช่องโหว่ได้ หน้าที่ของเรามีเพียงปรับปรุงมันให้ดีขึ้นเรื่อยๆ และตั้งคำถามต่อไปอีกอย่างไม่หยุด ความไม่สมบูรณ์แบบของความคิดต่างๆ เป็นเรื่องปกติ บางเรื่องตั้งคำถามกันมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณหลายพันปีแล้ว จนบางครั้งก็เลิกถามจะเพราะขี้เกียจหรือเทรนด์เปลี่ยนก็ตามแต่ แม้ว่าการเกษตรจะเป็นเรื่องที่มีหลักวิชาการทางวิทยาศาสตร์มากมาย อันเป็นการทำความเข้าใจเรื่องธรรมชาติหรือโลกภายนอก แต่การเกษตรกับปรัชญาเป็นการหาเหตุผลทางสังคมและคุณค่า เพื่อให้เข้าใจว่าการเกษตรวิถีนั้นอยู่ส่วนใดของวิชาการในปัจจุบัน กับวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งนี้การเกษตรก็ยังเป็นเรื่อง “ปัจจัจตัง” กล่าวคือ ผู้ที่ลงมือปฎิบัติจริงเท่านั้นถึงจะรู้ อันเป็นความรู้เฉพาะตัว สุดท้ายนี้ “ปรัชญากับเกษตร” ในสถานการณ์ปัจจุบันควรมุ่งความสนใจไปยังการดำรงอยู่ของธรรมชาติกับมนุษย์ ในฐานะที่ “มนุษย์” เรามีความละเอียดอ่อนทางอารมณ์ ผ่านภาษาและวรรณคดี ศิลปะและการกิน เรารักเป็นและเห็นคนอื่นว่าเป็นมนุษย์อย่างเรา เราคงไม่อยากได้แค่การเกษตรที่เป็นเพียงการผลิตที่ไม่มีหัวใจเพื่อสร้างอาหารแค่เพื่อตนเองแต่ทำลายสิ่งแวดล้อม จนหลงลืมคนอื่นที่จะต้องอาศัยอยู่ต่อหลังจากชีวิตเรา ดังนั้น เพื่อยกระดับศีลธรรมสากลด้านเกษตรกรรม การทำการการเกษตรต้องดำเนินการเพื่อทุกชีวิตอย่างมีคุณค่า และเป็นเหตุเป็นผลต่อสิ่งแวดล้อมรอบหน้าจะเล่าต่อถึงนิยามที่สามารถสัมพันธ์กันระหว่างปรัชญากับการเกษตร ทั้งนี้ยังเป็นแนวคิดที่ยังต้องพัฒนาต่อไปอีก ซึ่งถ้าเรายังไม่พยายามตั้งคำถามแล้วเมื่อไหร่ถึงจะได้เจอคำตอบ ภาพถ่ายในบทความนี้เป็นของผู้เขียน 7-11 Community ห้องลับเมาท์มอยของกินของใช้ในเซเว่น อะไรดีอะไรใหม่ ต้องรู้ ต้องคุย ต้องแชร์