รีเซต

"ชัชชาติ" ลงพื้นที่หนองจอก ชี้แต่ละเขตแตกต่างกัน การทำกทม.ให้น่าอยู่ ต้องใส่ใจรายละเอียด

"ชัชชาติ" ลงพื้นที่หนองจอก ชี้แต่ละเขตแตกต่างกัน การทำกทม.ให้น่าอยู่ ต้องใส่ใจรายละเอียด
มติชน
30 มีนาคม 2565 ( 10:12 )
126

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) โพสต์ข้อความระบุว่า

 

“แผ่นดินทองหนองจอก”

เพราะพื้นที่แต่ละเขตใน 50 เขต ของกทม. ไม่เหมือนกัน ลักษณะจุดเด่นและปัญหาของแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกัน นโยบาย “ผู้ว่าฯ สัญจร” (1 ปี 50 เขต 4 ปี 1,000 ชุมชน) เพื่อรับฟังปัญหาจากคนในพื้นที่จึงมีความจำเป็น

 

เมื่อวานนี้ทีมเพื่อนชัชชาติลงพื้นที่เขตหนองจอก มีสิ่งที่น่าสนใจที่ผมอยากเอามาแบ่งปันให้พวกเรา ดังนี้ครับ

 

1. หนองจอกเป็นเขตที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ เติบโตรวดเร็วจากพื้นที่เกษตรกรรม จนปัจจุบันมีประชากรกว่า 190,000 คน และในอนาคตจะเป็นเขตที่มีแนวโน้มประชากรสูงที่สุดใน กทม. จากการขยายตัวของเมือง การก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรเพิ่มขึ้นมากมายตามโครงการสร้างพื้นฐานและระบบขนส่ง ส่งผลให้บริการสาธารณูปโภค-สาธารณูปการไม่ทั่วถึง กทม. มีความจำเป็นต้องขยายการให้บริการตามประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการระบายน้ำ ถนน การเก็บขยะ

 

2. ระบบสาธารณสุขโตไม่ทันเมือง มีเพียง รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ และศูนย์บริการสาธารณสุข 44 ลำผักชีหนองจอก เป็นศูนย์ฯหลัก 1 แห่ง จึงมีความจำเป็นต้องขยายการให้บริการเพื่อรองรับประชากรในเขตนี้ โดยเฉพาะในส่วนของศูนย์สาธารณสุขย่อย และจำนวนบุคลากรทางสาธารณสุขที่ยังขาดอยู่

 

3. เนื่องจากมีประชากรอาศัยในเขตนี้จำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะทำงานในเมือง แต่รถประจำทางกลับมีเพียง 3 สายคือ 131 525 526 ซึ่งมีจำนวนรถน้อยและประชาชนต้องใช้เวลารอนาน กทม. ควรพิจารณา ศึกษาและวางเส้นทางจัดเดินรถเมล์ราคาไม่แพง ให้คนเดินทางสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะระบบขนส่งรอง (Feeder) เพื่อเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้ามีนบุรีที่กำลังจะแล้วเสร็จในอนาคตอันใกล้

 

4. เขตหนองจอกมีศักยภาพเป็นแหล่งอาหารของ กทม. เนื่องจากยังมีพื้นที่สีเขียวสำหรับเกษตรกรรมจำนวนมาก (แผ่นดินทองหนองจอก) กทม. ควรผลักดันให้เกิดตลาดสินค้าเกษตรและเกษตรอินทรีย์ เราสามารถสนับสนุนให้เกิดการผลิตและบริโภคสินค้าที่ทำผลิตใน กทม. (MIB: Made In Bangkok) ลดค่าใช้จ่ายการขนส่ง ลดการปล่อยมลพิษ และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้คน กทม. ได้ ผมได้คุยกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่กำลังพัฒนาแอปพลิเคชันตลาดออนไลน์ให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าเกษตรแบบขายปลีกได้โดยตรงผ่านแพลตฟอร์มเพื่อเป็นการพาผู้ซื้อพบกับผู้ผลิตและลดค่าใช้จ่ายของตัวกลาง

 

5. มีจำนวนคลองหลักและคลองซอยทั้งหมดรวมแล้วกว่า 104 สาย มากที่สุดใน กทม. ควรให้มีการขุดลอกและกำจัดวัชพืชเปิดทางน้ำไหล ทำแก้มลิงธรรมชาติไว้ใช้ในหน้าแล้งและการสัญจรทางน้ำ ให้ชุมชนช่วยกันดูแลความสะอาดของคลองและหน้าบ้าน มีสารวัตรคลอง เป็นอาสาสมัครช่วยดูแลคลองด้วย

 

แต่ละเขตมีข้อดี จุดเด่น และปัญหาที่ต้องแก้ไขแตกต่างกันออกไป การที่เราจะทำกรุงเทพฯ ให้ “น่าอยู่” สำหรับ “ทุกคน” เราจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการใส่ใจในรายละเอียด ดูแลเส้นเลือดฝอยที่หมายถึงชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง