รีเซต

ยานยนต์ : ฮีโน่‘ไฮบริด’พลัง‘ดีเซล-ไฟฟ้า’ สุดยอดรถโดยสารฝีมือคนไทย

ยานยนต์ : ฮีโน่‘ไฮบริด’พลัง‘ดีเซล-ไฟฟ้า’ สุดยอดรถโดยสารฝีมือคนไทย
มติชน
13 เมษายน 2563 ( 12:12 )
298
3

 

นับเป็นการพัฒนาก้าวไปอีกขั้นของวงการอุตสาหกรรมรถโดยสารของไทย เมื่อระดับผู้นำวงการรถยนต์ขนาดใหญ่อย่าง บริษัท ฮีโน่มอเตอร์สเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จับมือกับพันธมิตรชั้นนำของวงการ ผลิตรถโดยสารเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานในเมืองไทยอย่างแท้จริง

 

เพราะกว่าจะประสบความสำเร็จ มีการทำวิจัยอย่างละเอียด เพื่อตอบโจทย์การใช้งานทั้งในแง่ของผู้โดยสารและผู้ประกอบการได้อย่างตรงจุดที่สุด นั่นคือความร่วมมือ ในการผลิตรถโดยสาร ระบบดีเซลและไฟฟ้า ใช้พลังงานได้ 2 ระบบ หรือ ที่เรียกกันว่าเทคโนโลยีไฮบริด

 

ฮีโน่ ไฮบริด รุ่นนี้ มีจุดเด่นคือ เป็นรถโดยสารปรับอากาศ ชานต่ำ ไม่มีบันได (Non step bus) ความยาว 12 เมตร ห้องโดยสารกว้างขวาง สามารถปรับจำนวนที่นั่งได้ตามการใช้งาน

 

 

เครื่องยนต์เป็นระบบดีเซล รุ่นใหม่ ความจุ 5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 260 แรงม้า จับคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ขนาดเหมาะสม เก็บไฟฟ้าเพียงพอกับการใช้งาน มีความปลอดภัย ทนทาน เหมาะกับการใช้งานในภูมิภาคร้อนอย่างประเทศไทย

 

มาพร้อมกับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อมระบบเปลี่ยนเกียร์ได้ด้วยมือ ตอบโจทย์การใช้งานสต๊อป แอนด์ โก (Stop & Go) เพื่อก้าวสู่ สมาร์ท ซิตี้ (Smart City) ในการให้บริการในเมืองได้อย่างสะดวกและทันสมัย

 

ระบบไฮบริดจะนำพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาใช้ในการออกตัว และเมื่อลดความเร็วเพื่อจอดรับผู้โดยสาร ระบบจะประจุไฟฟ้ากลับเข้าแบตเตอรี่ได้โดยอัตโนมัติ จึงสามารถประจุไฟฟ้าได้เองขณะใช้งาน ไม่จำเป็นต้องลงทุนสถานีประจุไฟฟ้า เหมือนรถไฟฟ้า

 

ด้วยเทคโนโลยีเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก พร้อมระบบไฮบริด ระบบออกตัวด้วยไฟฟ้า ที่ความเร็ว 0-20 กม./ชม. มีระบบดับเครื่องยนต์ชั่วคราว (Idle stop) และระบบปรับอากาศแบบไฟฟ้า ทำให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงดีขึ้น

 

ผลจากการทดสอบร่วมกับ ขสมก. และไจก้า (JICA) พบว่าประหยัดเชื้อเพลิง 40-50% แต่ต้องขึ้นกับสภาพจราจรและพฤติกรรมคนขับด้วย และมลพิษทางไอเสียคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ลดลง 40% เมื่อเปรียบเทียบกับระบบดีเซลทั่วไป

 

 

มีคำถามตามมาว่า แล้วทำไมถึงไม่ใช้ระบบไฟฟ้าอย่างเดียวไปเลย คำตอบคือมีข้อจำกัดในการจัดหาสถานีชาร์จไฟ โดยเฉพาะรถโดยสารที่เน้นการใช้งานหนัก ระบบไฟฟ้า 100% จึงยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของผู้ประกอบการ

 

นอกจากนี้รถไฮบริดใช้พลังงานไฟฟ้ากับน้ำมันดีเซล B20 ได้ ถือได้ว่าไม่ค่อยมีใครทำได้เท่าไหร่นัก โดยเฉพาะการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ ถ้าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เพราะระบบดีเซลกับไฟฟ้าค่อนข้างซับซ้อน ที่สำคัญ สามารถสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนปาล์มและลดฝุ่น PM2.5 ได้อีกต่างหาก เนื่องจากผสมน้ำมันที่มีปริมาณกำมะถันต่ำ (ไม่เกิน 10ppm) ทำให้การเผาไหม้ของเครื่องยนต์สมบูรณ์

 

เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเกณฑ์มลพิษของยูเอ็น เรกูเลชั่น (UN Regulation) พบว่า ค่ามลพิษทางไอเสียของระบบไฮบริดทั้งหมดเทียบเท่าได้กับมาตรฐาน ยูโร4 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่า PM ต่ำเทียบเท่าได้กับมาตรฐาน ยูโร5 เลยทีเดียว

 

รถโดยสารระบบไฮบริดรุ่นนี้ผลิตและประกอบขึ้นในประเทศไทย โดยนำเข้าเฉพาะเครื่องยนต์และชิ้นส่วนสำคัญของระบบไฮบริดจากประเทศญี่ปุ่น แต่เฟรม แชสซีส์ ช่วงล่าง และตัวถังรถโดยสาร ประกอบโดยผู้ประกอบการไทย นับว่าเป็นครั้งแรกของการผลิตรถโดยสารระบบไฮบริดนอกประเทศญี่ปุ่น

 

 

รถโดยสารระบบไฮบริด เจาะกลุ่มเป้าหมาย รถขนส่งผู้โดยสารในเมือง ทั้งในกรุงเทพฯและจังหวัดใหญ่ และใช้รับส่งผู้โดยสารในสนามบิน พร้อมจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการทั้งในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ

 

รถโดยสารระบบไฮบริดรุ่นนี้ มีการออกแบบในลักษณะ ยูนิเวอร์ซัล ดีไซน์ (universal design) หรือออกแบบเป็นมาตรฐานใช้ได้ทั่วโลก โดยคำนึงถึงคนพิการและผู้สูงอายุสามารถใช้บริการได้อย่างสะดวกและปลอดภัยด้วย

 

เพราะมีระบบ ปรับความสูงของรถเมื่อจอด ทางลาดแบบพับเก็บได้ เพื่อให้ผู้โดยสารเดินทางด้วยวีลแชร์ขึ้น-ลงได้สะดวก พื้นที่สำหรับผู้โดยสารเดินทางด้วยวีลแชร์ รองรับได้สูงสุด 2 ที่ พร้อมที่ล็อกล้อ กริ่งสัญญาณหยุดรถสำหรับผู้พิการ พร้อมไฟกะพริบเหนือประตูเมื่อกดกริ่งสัญญาณ

 

เรียกได้ว่าความร่วมมือระหว่างฮีโน่และพันธมิตรครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการไทย สามารถผลิตรถโดยสารคุณภาพมาตรฐานสากลได้อย่างโดดเด่น และยังให้ความคุ้มค่ากับผู้ประกอบการรถโดยสาร ในเรื่องของต้นทุนการเดินรถและการบำรุงรักษาที่ต่ำ แถมยังช่วยลดมลพิษทางอากาศได้อีกต่างหาก

 

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่เขตการเดินรถที่ 1 อู่บางเขน ได้มีการส่งมอบรถโดยสารปรับอากาศชานต่ำฮีโน่ ระบบดีเซลและไฟฟ้า ระหว่างนายชาญณรงค์ หงษ์ทอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ฮีโน่มอเตอร์สเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับนายวิโรจน์ แหวนทองคำ ผู้อำนวยการเขตการเดินรถที่ 1 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

 

นายชาญณรงค์เล่าให้ฟังถึงที่มาของรถโดยสารปรับอากาศชานต่ำฮีโน่ ระบบดีเซลและไฟฟ้า ว่า ได้มีการศึกษาและวิจัยมาหลายปี เริ่มจากในอดีตทางรัฐบาลมีดำริเกี่ยวกับการใช้เชื้อเพลิงทางเลือก มีการส่งรัฐมนตรีได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อศึกษาเทคโนโลยี จากนั้นฮีโน่ก็ได้นำรถไฮบริดต้นแบบมาทดลองในประเทศไทยเป็นเวลาประมาณ 1 ปี ผลปรากฏว่าประหยัดเชื้อเพลิงกว่าเอ็นจีวีและดีเซลเป็นอย่างมาก จึงได้เริ่มต้นการศึกษาโครงการทำรถไฮบริดในประเทศไทย ฮีโน่ได้ร่วมมือกับบริษัท เชิดชัยคอร์ปอเรชั่น จำกัด ศึกษาและวิจัยการทำรถต้นแบบเพื่อพัฒนาให้เหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทย

 

“สำหรับรถต้นแบบที่ฮีโน่ทำมีจำนวน 8 คัน ในวันนี้เป็นคันที่ 2 ที่นำมามอบให้ ขสมก. คันแรกได้มอบให้ผ่านความร่วมมือขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น หรือไจก้า (JICA) สำหรับคันนี้ มีประสิทธิภาพดีกว่า มีการพัฒนาเรื่องตัวถังและเทคโนโลยีต่างๆ ดีกว่าคันเดิม เป็นรถประกอบด้วยฝีมือคนไทยเกือบทั้งคัน โดยเฉพาะในส่วนแชสซีส์และเครื่องยนต์


ประกอบโดยฮีโน่ จากนั้นก็นำไปประกอบตัวถังด้วยความร่วมมือกับอู่เชิดชัยภายใต้การบริหารงานโดยคุณสุรวุฒิ เชิดชัย มีวิสัยทัศน์เรื่องการพัฒนาและการลงทุน” นายชาญณรงค์กล่าว

 

นายชาญณรงค์ยังบอกอีกว่า ฮีโน่ร่วมมือกับบริษัทเชิดชัยเป็นเวลาประมาณ 2 ปี ฮีโน่ส่งวิศวกรจากญี่ปุ่นมาประจำที่โรงงานอู่เชิดชัยเพื่อศึกษาและวิจัยร่วมกัน หากโครงการนี้ได้รับการตอบรับจากภาครัฐบาล สนับสนุนโครงการที่ผลิตโดยฝีมือคนไทยและมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องการประหยัดน้ำมันหรือการลดมลพิษ PM2.5 น่าจะเป็นความร่วมมือกับบริษัทเชิดชัยไปอีกยาวนาน

 

“ฮีโน่มีกำลังการผลิตรถรุ่นนี้เดือนละ 50 คัน พร้อมจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศไทยในราคาประมาณ 8 ล้านบาท แต่หากมีความต้องการมากขึ้น อาจจะพิจารณาราคาให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการในประเทศไทยได้” นายชาญณรงค์กล่าวทิ้งท้าย

 

ถือเป็นมิติใหม่แห่งการพัฒนารถโดยสารในประเทศไทยเลยทีเดียว