รีเซต

อธิบดีกรมปศุสัตว์ แจ้งเตือนปชช. พบไข้หวัดนกสายพันธุ์ H10N3 ติดเชื้อสู่คน ที่จีนรายแรก

อธิบดีกรมปศุสัตว์ แจ้งเตือนปชช. พบไข้หวัดนกสายพันธุ์ H10N3 ติดเชื้อสู่คน ที่จีนรายแรก
มติชน
1 มิถุนายน 2564 ( 21:17 )
66
อธิบดีกรมปศุสัตว์ แจ้งเตือนปชช. พบไข้หวัดนกสายพันธุ์ H10N3 ติดเชื้อสู่คน ที่จีนรายแรก

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากรายงานของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) พบไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์H10N3 แพร่ติดมนุษย์ครั้งแรกในประเทศจีน โดยเป็นชายอายุ 41 ปีซึ่งมีประวัติเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 28 เมษายน โดยมีอาการไข้และอาการผิดปกติอื่นๆ เขาได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์H10N3 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรง (low pathogenic avian influenza) ซึ่งจีนมีการตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกหลากหลายสายพันธุ์ในประเทศอยู่เป็นระยะและมีสายพันธุ์ H7N9 ทำให้มนุษย์เสียชีวิตจำนวนมากเมื่อปี 2016-2017 ถึง 300 ราย

 

 

ส่วนประเทศไทยปัจจุบันไม่พบการติดเชื้อไข้หวัดนกทั้งในคนและสัตว์แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพอากาศทำให้สัตว์ปีกปรับตัวได้ยาก อาจส่งผลต่อสุขภาพสัตว์ปีก ทำให้สัตว์ปีกอ่อนแอ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีคำสั่งการให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและปศุสัตว์อำเภอทั่วประเทศเข้มงวดในการดำเนินมาตรการ เฝ้าระวังและป้องกันโรคในพื้นที่ สั่งให้เจ้าหน้าที่ ปศุสัตว์เข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรทุกราย และรายงานสถานการณ์สัตว์ปีกทุกวัน

 

 

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า การป้องกันที่ดีถือเป็นหัวใจของความสำเร็จที่ทำให้ไทยปลอดจากไข้หวัดนกมาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ทั้งในคนและสัตว์จากการที่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกทั่วประเทศจัดการระบบความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเคร่งครัด การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในโรงเรือนและบริเวณโดยรอบ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มเข้มงวดเรื่องระบบความปลอดภัยภายในฟาร์ม ควบคุมการเข้า-ออกฟาร์ม ให้ฉีดพ่นยานพาหนะทุกคัน

 

 

เมื่อได้รับแจ้งหรือพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ หรือมีอาการต้องสงสัยเหมือนนิยามโรคไข้หวัดนก เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ก็ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินมาตรการควบคุมโรคทันที รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตลอดจนหน่วยงานระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

 

 

“ที่สำคัญ กรมปศุสัตว์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการเฝ้าระวังโรคสัตว์ตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด และขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ อย่านำสัตว์ปีกไปจำหน่ายจ่ายแจก หรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อจะได้เร่งดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

 

 

หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร. 063-225-6888 หรือแจ้งผ่าน Application: DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง