แพทย์ประเมินไทยมีความเสี่ยงโควิด-19 เกิดการระบาดซ้ำซากได้

วันนี้ (11ก.พ.64) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่าสถานการณ์ทั่วโลก 11 กุมภาพันธ์ 2564
ล่าสุดรัสเซียติดเชื้อไปเกิน 4 ล้านคนแล้ว เป็นประเทศที่ 4 ในขณะที่อาร์เจนตินาทะลุสองล้านคนเป็นประเทศที่ 12
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 453,234 คน รวมแล้วตอนนี้ 107,782,010 คน ตายเพิ่มอีก 14,723 คน ยอดตายรวม 2,361,753 คน
อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 112,294 คน รวม 27,879,445 คน ตายเพิ่มอีก 3,915 คน ยอดตายรวม 482,447 คน
อินเดีย ติดเพิ่ม 12,531 คน รวม 10,870,831 คน
บราซิล ติดเพิ่ม 59,602 คน รวม 9,659,167 คน
รัสเซีย ติดเพิ่ม 14,494 คน รวม 4,012,710 คน
สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 13,013 คน รวม 3,985,161 คน กำลังจะแตะสี่ล้านเช่นกัน
อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลายหมื่นต่อวัน
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อิสราเอล อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่องแบบทรงตัว
เกาหลีใต้ และไทย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ฮ่องกง เวียดนาม เมียนมาร์ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่กัมพูชา และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
เมื่อคืนนี้ทาง US CDC เผยแพร่ผลการวิจัยทางห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับการใส่หน้ากาก และให้คำแนะนำแก่ประชาชน มีสาระสำคัญคือ
หนึ่ง ควรเลือกใส่หน้ากากที่มีการเสริมลวดบริเวณจมูก เพื่อให้เกาะจมูกได้ดีไม่หลุด
สอง ใส่หน้ากากให้ฟิต แนบสนิทกับใบหน้า พยายามอย่าให้มีช่องว่างระหว่างใบหน้ากับหน้ากาก
สาม หน้ากากที่ใช้นั้น หากเป็นหน้ากากผ้าควรมีหลายชั้น
สี่ มีการวิจัยเพิ่มเติมพบว่า หากใส่หน้ากากอนามัยไว้ด้านในโดยเก็บขอบให้เรียบร้อย แล้วใส่หน้ากากผ้าทับอยู่ด้านนอกอีกชั้น จะช่วยป้องกันฝอยละอองขนาดใหญ่และเล็กได้มากถึง 92.5%
แต่การใส่หน้ากากอนามัยซ้อนกันสองชั้นนั้น"ไม่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น"
ตอนนี้ในบางรัฐของอเมริกา ก็มีการประกาศบังคับให้ใส่หน้ากากเวลาออกนอกบ้านแล้ว เช่น วอชิงตันดีซี ถือเป็นมาตรการเสริมจากแคมเปญรณรงค์ช่วยกันใส่หน้ากาก 100 วันหลังจากประธานาธิบดีไบเดนเข้ารับตำแหน่ง
ความเคลื่อนไหวของประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจคือ เยอรมันขยายเวลาล็อคดาวน์ไปอีกเดือนเพื่อหวังสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ในขณะที่สหราชอาณาจักรนั้นออกมาให้คำเตือนแก่ประชาชนแล้วว่า การเดินทางไปต่างประเทศเพื่อท่องเที่ยวนั้นคงเป็นไปไม่ได้แน่นอนตลอดปีนี้ ส่วนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเองนั้นก็ไม่แนะนำให้ทำการจองใดๆ เช่นกัน ตราบใดที่ยังไม่สามารถฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนได้อย่างครอบคลุม และยังไม่มีข้อมูลที่จะสามารถยืนยันถึงความปลอดภัยจากการเดินทางท่องเที่ยวได้
ทั้งอเมริกา และประเทศต่างๆ ในยุโรปต่างเน้นมาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมโรคระบาดให้ได้ พร้อมไปกับระดมจัดซื้อจัดหาวัคซีน เร่งฉีด เพิ่มการเข้าถึงบริการในหลากหลายช่องทาง
วิเคราะห์สถานการณ์ของไทย...
หนึ่ง "การป้องกัน"
ในระดับนโยบายและมาตรการ ประเมินแล้วไม่ได้เข้มงวดเช่นต่างประเทศ
ในระดับปฏิบัติ เราเห็นประชาชนที่มีพฤติกรรมป้องกันที่หลากหลาย บางส่วนเคร่งครัดด้วยตัวเอง บางส่วนการ์ดตก และเริ่มมีกิจกรรมในการดำรงชีวิตประจำวันที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อติดเชื้อ ทั้งเรื่องกินดื่มในร้าน ท่องเที่ยว ชุมนุม และอื่นๆ
สอง "การตรวจ"
ตัวเลขที่มีนั้น เห็นชัดเจนว่า ตรวจน้อยกว่าหลายต่อหลายประเทศ และมีศักยภาพในการตรวจคัดกรองต่อวันที่จำกัด และการเข้าถึงบริการนั้นยังไม่ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่
สาม "การดูแลรักษา"
คน เงิน ของ เตียง หยูกยา มีศักยภาพถึงระดับหนึ่ง แต่เห็นชัดเจนว่าหากเกิดการระบาดหนัก จะไม่สามารถรองรับอย่างเพียงพอได้
สี่ "วัคซีน"
แม้ไม่ใช่ลำดับต้นๆ ของโลกที่จะได้รับวัคซีน
วัคซีนที่คาดจะมี คือ Sinovac และ Astrazeneca ด้วยข้อจำกัดด้านเงื่อนเวลาที่ดำเนินการ เกณฑ์การพิจารณาต่อรอง งบประมาณ โครงสร้างพื้นฐานของระบบสาธารณสุข และการขนส่ง
จำนวนวัคซีน 63 ล้านโดสที่จัดซื้อจัดหาในปีนี้ ทยอยมาในอีกหลายต่อหลายเดือน และต้องใช้เวลาในการฉีดนาน หากใช้เฉพาะระบบบริการภาครัฐ
กลไกการจัดซื้อจัดหาและแจกจ่ายอาศัยกลไกภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งท้าทายต่อเรื่องเวลา และประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
หากดูทั้งสี่ด้านข้างต้น จะพบว่า ไม่ว่าจะวิเคราะห์มุมใด ก็ประเมินว่าเราคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดซ้ำซากได้ หากไม่ป้องกันการติดเชื้อแพร่เชื้อให้เคร่งครัด
ยิ่งหากจะไปดำเนินนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความเสี่ยงย่อมเป็นทวีคูณ ทั้งจากการแพร่ในประเทศกันเอง และจากการนำเชื้อเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะเป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่แพร่ง่ายและรุนแรงกว่าเดิม แม้คนเดินทางเข้ามานั้นอาจได้รับวัคซีนมาแล้ว ก็ไม่ปลอดภัย เนื่องจากวัคซีนที่มีอยู่นั้น คนที่ได้รับก็ยังมีโอกาสติดเชื้ออยู่โดยไม่มีอาการและเป็นพาหะที่นำมาแพร่ให้ผู้อื่นได้
ดังนั้น หากโครงสร้างทางสังคม ตั้งแต่การใช้ชีวิตของคนในประเทศ รูปแบบการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมและบริการ ไม่ได้ปรับเปลี่ยนให้เคร่งครัดเข้มงวดเพียงพอ โอกาสระบาดหนักก็มีสูง และหากระบาดแล้ว ระบบการตรวจคัดกรองยังมีศักยภาพที่จำกัด ก็จะตัดวงจรระบาดได้ยาก ส่งผลต่อระบบการดูแลรักษาที่จะไม่สามารถรองรับได้ในระยะยาว
จึงควรขันน็อตเรื่องต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น
ประชาชนทุกคนคงต้องช่วยกันป้องกันตัวอย่างเต็มที่
ด้วยรักต่อทุกคน
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE