รีเซต

‘ชัยธวัช’เปิดกลยุทธ์ ก.ก. สู้เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.-ส.ก.

‘ชัยธวัช’เปิดกลยุทธ์ ก.ก. สู้เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.-ส.ก.
มติชน
15 เมษายน 2565 ( 09:11 )
55

หมายเหตุนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) รวมทั้งการเลือกตั้งทั่วไป ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมและการเลือกตั้งสนาม กทม.ของพรรค ก.ก.

 

⦁วางยุทธศาสตร์สู้ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก. ของพรรค ก.ก.อย่างไร
อันดับแรกเป้าหมายเราคือการต้องการชนะ ผู้ว่าฯกทม.และต้องการชนะ ส.ก. ให้มากที่สุดโดยยุทธศาสตร์จะมี 2 ส่วน คือ 1.การตรึงคะแนนเสียงเดิมตั้งแต่สมัยอดีตพรรคอนาคตใหม่ จนถึงพรรค ก.ก. ให้มากที่สุด เพราะโหวตเตอร์ที่ลงคะแนนเลือกผู้ว่าฯกทม. กับโหวตเตอร์เลือก ส.ส. อาจจะคิดไม่เหมือนกัน จึงต้องขยายฐานเสียงโหวตเตอร์ของผู้ว่าฯกทม. ออกนอกฐานของพรรคเดิมได้ด้วย

 

⦁พรรค ก.ก.แบ่งกลุ่มโหวตเตอร์ออกเป็นกี่กลุ่ม
เราคิดอยู่บนกรอบของ 1.โหวตเตอร์เดิมของอดีตพรรคอนาคตใหม่ จนมาถึงพรรค ก.ก.ในวันนี้ ที่มีอายุน้อย หรือต่ำกว่า 40 ปี และนิวโหวตเตอร์ หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก ซึ่งมีประมาณ 7.5 แสนคน และ 2.โหวตเตอร์นอกฐานเสียง ที่มีอายุค่อนข้างสูง และอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมือง เนื่องจากครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก. ซึ่งเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ดังนั้นโหวตเตอร์หลักของพรรค ก.ก. อาจจะไม่ได้มีเอกภาพ ยุทธศาสตร์จึงเป็นการตรึงฐานเสียงเดิมให้ได้มากที่สุด และต้องหาวิธีขยายฐานเสียงจากโหวตเตอร์ที่ไม่ได้เป็นฐานเสียงของพรรค ในการเมืองระดับชาติ คนกลุ่มนี้อาจจะไม่ใช่ฐานเสียงของอดีตพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรค ก.ก. แต่ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. อาจจะเลือกผู้สมัครของพรรค ก.ก. ก็ได้

 

เชื่อว่านโยบาย และสไตล์การทำงานของนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.บวกกับผู้สมัคร ส.ก.ของพรรค ที่ลงพื้นที่ทำงานล่วงหน้าถึง 2 ปี จะสามารถเพิ่มคะแนนเสียงในชุมชน ในสมัยการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562แทบไม่ได้เสียงจากคนกลุ่มนี้เลย

 

⦁มีการวิเคราะห์กันว่ากลุ่มนิวโหวตเตอร์จะเป็นตัวแปรชี้ขาดผลแพ้-ชนะ เนื่องจากทำให้ครอบครัว และคนรอบข้างคล้อยตามด้วย


ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้วในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ทำให้อดีตพรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนจากนิวโหวตเตอร์ และคะแนนจากพ่อแม่ปู่ย่าตายายมาด้วย คะแนนของนิวโหวตเตอร์คงไม่ถึงขั้นทำให้เกิดผลชี้ขาด แต่ถือว่ามีนัยสำคัญ เพราะครั้งนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. มีจำนวน 4.3 ล้านคน คนวัยกลางคนและผู้สูงอายุยังมีสัดส่วนสำคัญมากอยู่ ดังนั้นการชี้ขาดผลการเลือกตั้งสำหรับพรรค ก.ก. คือการตรึงฐานเสียงหลักให้ได้มากที่สุดและขยายฐานเสียงที่ได้มาน้อยในการเลือกตั้งระดับชาติเมื่อปี 2562 ได้หรือไม่

 

⦁พรรค ก.ก.จะมีวิธีสื่อสารกับกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ยุคเบบี้บูมเมอร์ ที่เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนฐานเสียงมาก อย่างไร
การหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียและสื่อกระแสหลักโดยเฉพาะทีวีมีส่วนสำคัญมากในการเลือกตั้งสมัยปัจจุบัน โดยการทำงานของนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. และทีม ส.ก.ของพรรค ก.ก. จะเห็นว่าให้ความสำคัญกับการทำงานภาคปฏิบัติที่เข้าไปสัมผัสกับพี่น้องประชาชนให้ได้กว้างที่สุด เพราะเชื่อว่าถ้าคนได้สัมผัสตัวและสิ่งที่นายวิโรจน์พูด จะสามารถซื้อใจได้ จากการลงพื้นที่ พบว่ากลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ให้การตอบรับนายวิโรจน์ค่อนข้างดีเพราะคนกลุ่มนี้ไม่ชอบการทำงานฉาบฉวย แต่ชอบการทำงานจริงจังและเป็นรูปธรรม เมื่อเห็นการทำงานในสภาตลอด 3 ปี จากที่ตอนแรกอาจดูเป็นเรื่องของกระแสและผิวเผิน แต่วันนี้สามารถพิสูจน์การทำงานอย่างจริงจัง และได้รับการยอมรับว่าทำงานได้มีคุณภาพ จนคนกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ให้การยอมรับมากขึ้น เมื่อบวกกับสไตล์ของนายวิโรจน์ที่พูดจาจริงจัง ชัดเจน และมุ่งมั่น สามารถทำให้คนที่ไม่ชอบพรรค ก.ก. ชื่นชอบในตัวนายวิโรจน์ได้ ทำให้ขยายฐานเสียงออกไปได้กว้างขึ้น

 

⦁มียุทธศาสตร์ดึงคะแนนจากกลุ่มผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯกทม. อย่างไร
ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. คนอื่น ก็คงจะหมายมั่นปั้นมือเพื่อดึงคะแนนคนกลุ่มนี้ คาดว่าหลังเทศกาลสงกรานต์คน กทม.จะหันมาให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งมากขึ้น ระหว่างนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่จะใช้นโยบาย นำเสนอวิธีการทำงานและวิธีคิดของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. และผู้สมัคร ส.ก. ของพรรค ต้องผสมผสานระหว่างแคมเปญ On-Air และ On-Ground สิ่งที่จะนำไปสู่ชัยชนะ ไม่ใช่มาจากเสียงของโหวตเตอร์ที่ยังไม่ตัดสินใจ แต่โหวตเตอร์ที่ตัดสินใจไปแล้วมีโอกาสที่จะเปลี่ยนใจด้วย เพราะก่อนหน้านี้ อาจจะรับรู้ข้อมูลบนพื้นฐานของการรับรู้ที่ยังจำกัดอยู่ สังเกตง่ายๆ หลังจากที่เปิดตัวนายวิโรจน์ มาได้สักระยะหนึ่ง คนที่เคยตัดสินใจไปแล้วก็เปลี่ยนใจมาเลือกนายวิโรจน์จำนวนมาก นายวิโรจน์จึงยังมีโอกาสที่จะไล่ตามแคนดิเดตที่ได้อันดับดีกว่า สำหรับการทำแบบสำรวจภายในของพรรค ก.ก. นายวิโรจน์ ยังเกาะกลุ่มอันดับ 2-3 อยู่ ดังนั้นเวลาที่เหลือต่อจากนี้อีกประมาณ 1 เดือน นายวิโรจน์ยังมีโอกาสไล่กวดได้ เพราะเชื่อในศักยภาพที่จะแข่งขันชิงชัย และมีโอกาสคว้าชัยชนะจาก ส.ก. ได้ถึงครึ่งหนึ่งจาก 50 เขต

 

⦁การตัดสินใจของคน กทม. ถูกนิยามว่า สนามหักปากกาเซียน เพราะต่อให้ได้คะแนนจากโพลสูงแค่ไหนก็อาจจะหักโค้งในช่วงสุดท้าย
แน่นอน ผมจึงบอกว่านายวิโรจน์ยังมีโอกาส เพราะ 7-10 วันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง อาจจะเกิดการเปลี่ยนใจขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะคน กทม. เท่านั้น แต่การเลือกตั้งระดับชาติก็เปลี่ยนและพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือได้เช่นกัน กรณีเกิดเหตุการณ์สำคัญบางอย่างขึ้น หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถจุดแคมเปญที่สามารถพลิกความคิดของคนได้

 

⦁ผลเลือกตั้งและคะแนนในการเลือกตั้งสนาม กทม. จะมีผลชี้วัดต่อการเมืองในสนามใหญ่ ของพรรค ก.ก.อย่างไร
ผมคิดว่าสามารถนำผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก. มาใช้วิเคราะห์การเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าได้พอสมควร แต่คงไม่ได้สะท้อนทั้งหมด โดยเฉพาะคะแนนผู้ว่าฯกทม. เพราะวิธีคิดของคนลงคะแนนในสนามการเลือกตั้งท้องถิ่นจะไม่เหมือนกับการเมืองระดับชาติเสียทีเดียว สำหรับการจัดการเลือกตั้ง ส.ก. ที่ผ่านมาจะจัดแยกจากผู้ว่าฯกทม. ทำให้คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ก.น้อย และ ส.ก.ที่ชนะเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ได้จากคะแนนชุมชนเมือง แต่คราวนี้จัดเลือกตั้งทั้ง 2 อย่างพร้อมกัน ก็อยากจะรู้เหมือนกันว่าหากมีคนมาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก ผลของการเลือกตั้ง ส.ก.จะเป็นอย่างไรและสามารถสะท้อนการเมืองระดับชาติขนาดไหน

 

⦁ประเมินการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้อย่างไร มีความเหมือนหรือแตกต่างจากในอดีตหรือไม่
ผมคิดว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้มีความพิเศษ เพราะเป็นการเลือกตั้งหลังจากคน กทม.ถูกปล้นอำนาจไปและห่างจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. มา 8 ปีแล้ว ทั้งยังมีผู้ว่าฯกทม.ที่ถูกแต่งตั้งมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มาอยู่ในตำแหน่งถึง 5 ปี ได้ทำให้คน กทม.อยู่ภายใต้รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากคณะรัฐประหาร และผู้ว่าฯกทม.ที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากคณะรัฐประหาร ผลงานจากการบริหารประเทศและการบริหาร กทม.ได้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมาก

 

นอกจากนี้ เมื่อเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ครั้งนี้เสร็จ ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ จะยังอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหารด้วย ดังนั้น ผมคิดว่าผู้ว่าฯกทม.ในสถานการณ์เช่นนี้จะต้องมีความชัดเจนในเจตจำนงที่จะไม่สยบยอมต่อรัฐบาลคณะรัฐประหาร ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถบริหาร กทม. โดยนำประโยชน์ของคน กทม.เป็นตัวตั้งได้ ยกตัวอย่างปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่คาราคาซังอยู่ว่าจะต่อสัญญาสัมปทานตอนนี้เลยหรือไม่ และผู้ว่าฯกทม.ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ก็สยบยอมไม่หือไม่อือ เมื่อรัฐบาลบอกว่าจะขยายสัญญาสัมปทาน ผู้ว่าฯกทม. กลับไม่พูดอะไรเลย และไม่เคยเปิดเผยเงื่อนไขสัญญาให้คน กทม.รับรู้ ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่จึงต้องเข้ามาจัดการปัญหาของคน กทม.ภายใต้สถานการณ์พิเศษเช่นนี้ ต้องการผู้ว่าฯกทม.ที่กล้าจะปกป้องผลประโยชน์ของคน กทม.กล้าที่จะนำสัญญาและเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับบริษัทบีทีเอสมาเปิดให้คน กทม.ได้รับรู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป

 

⦁การตัดสินใจส่งนายวิโรจน์ ที่เป็น ส.ส.เพื่อมาลงแข่งขัน จะเป็นจุดได้เปรียบ หรือเสียเปรียบหรือไม่
ผมคิดว่าการส่งนายวิโรจน์เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของพรรค ก.ก. เพราะนายวิโรจน์เป็นผู้ที่ทำงานกับเรามาตั้งแต่สมัยอดีตพรรคอนาคตใหม่ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญทางการทำงานในสภาและในพื้นที่ กทม. ทำให้รับรู้ฝีมือการทำงานของนายวิโรจน์เป็นอย่างดี จึงเชื่อในความมุ่งมั่นของนายวิโรจน์ ประกอบกับนายวิโรจน์เติบโตจากครอบครัวที่ธรรมดาค่อนไปทางระดับล่างด้วยซ้ำ ก่อนจะค่อยๆ เติบโตขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับกลางจึงเข้าใจสภาพปากกัดตีนถีบและการดิ้นรนของคน กทม. และเข้าใจชีวิตของคนทั่วไปที่มีรายได้ไม่สูง เมื่อผนวกกับการเป็นคนที่มุ่งมั่นและกัดไม่ปล่อย จึงถือเป็นลักษณะเด่นของนายวิโรจน์

 

ส่วนข้อเสียเดียวที่ให้นายวิโรจน์มาชิงผู้ว่าฯกทม. คือคนจำนวนมากบ่นว่าเสียดายเพราะอยากให้นายวิโรจน์เป็น ส.ส. อยู่ในสภามากกว่า แต่ผมอยากทำความเข้าใจกับคนที่คิดแบบนี้ว่าหากไม่ได้เห็นนายวิโรจน์ เป็นผู้ว่าฯกทม. จะเสียดายยิ่งกว่า ลองจินตนาการดูว่าถ้านายวิโรจน์ได้เป็นผู้ว่าฯกทม.จะมันขนาดไหน และ กทม.จะเปลี่ยนไปขนาดไหน

 

⦁การมีผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. กว่า 31 คน และมีตัวเด่นหลายคน จะทำให้ยากที่นายวิโรจน์จะชนะเลือกตั้งหรือไม่
ผมไม่ได้คิดว่าการที่มีผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. หลายคนมีความโดดเด่นจะทำให้แพ้ ชนะยากขึ้น แต่อาจจะไปกระทบกับสัดส่วนคะแนน ที่ผู้สมัครแต่ละคนได้รับ ก่อนหน้านี้มาตรฐานของผู้ชนะเลือกตั้งจะต้องได้คะแนนเกิน 1 ล้านคะแนน แต่คราวนี้ไม่แน่ใจว่าคะแนนจะแตกไปมากขนาดไหน

 

โดยนายวิโรจน์ตั้งเป้าว่า อย่าไปคิดว่าได้ 8 แสนคะแนนแล้วจะได้เป็นผู้ว่าฯกทม. แต่ให้คิดว่าต้องได้เกิน 1 ล้านคะแนนไปก่อน

 

⦁ทุกการเลือกตั้งผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. มักจะหาเสียงสารพัดนโยบาย ทั้งแก้รถติด แก้น้ำท่วม และลดค่าครองชีพ แต่พอได้เป็นแล้วก็ทำไม่ได้ จึงทำให้คน กทม.ไม่โฟกัสที่นโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.
ผมยังเชื่อว่าคน กทม.ยังให้ความสำคัญกับนโยบาย แต่ปัญหาสำคัญของผู้ว่าฯกทม.ในอดีต คือการบอกว่ามีอำนาจจำกัด เป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่ง แต่ความจริงอีกส่วนหนึ่งคือการมีผู้ว่าฯกทม.ที่ทลายข้อจำกัดเหล่านั้นมีเจตจำนงว่า กล้าที่จะใช้สถานะของตัวเองแบบกัดไม่ปล่อย เพื่อผลประโยชน์ของคน กทม.หรือไม่ เช่น ปัญหาการจัดการขยะที่มีกลุ่มผลประโยชน์มีความเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล ผู้ว่าฯกทม.จะกล้าที่จะเข้าไปจัดการหรือไม่ ยอมรับว่าผู้ว่าฯกทม.มีอำนาจจำกัด แต่ผู้ว่าฯกทม.คนนั้นจะกล้าลุยหรือไม่ ส่วนการจัดการผังเมืองที่มีความเกี่ยวพันกับกลุ่มทุนใหญ่ ผู้ว่าฯกทม.จะกล้ายืนหยัดในผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่หรือไม่

 

ส่วนปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่มีถูกทับซ้อนจากอำนาจรัฐบาลกลาง และระบบราชการ รวมถึงรัฐวิสาหกิจ เป็นเรื่องที่ผู้ว่าฯกทม. และพรรคการเมืองจะต้องช่วยกันผลักดัน โดยพรรค ก.ก. จะผลักดันการปลดล็อกท้องถิ่นในระดับชาติ ผ่านการแก้รัฐธรรมนูญ และการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับคน กทม.มากกว่านี้ เพราะปัจจุบัน กทม.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้เลือก “ผู้ว่าฯ” เอง แต่มีอำนาจในหลายมิติที่ด้อยและล้าหลังกว่า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือนายกเทศบาลด้วยซ้ำ

 

⦁เตรียมใจรับมือกับระบบราชการไว้หรือไม่
เตรียมรับมือในเรื่องนี้แน่นอน โดยระบบราชการไทย เป็นปัญหาก้อนใหญ่ของประเทศ ไม่ใช่เฉพาะใน กทม.อย่างเดียว ต้องแยกออกเป็น “ระบบ” กับ “ตัวบุคคล” กรณีตัวบุคคลเช่นผู้อำนวยการเขต แทบจะไม่มีอะไรยึดโยง และต้องรับผิดชอบประชาชนที่อยู่ในเขตตัวเองเลย ยกตัวอย่าง กรณีการเกิดปัญหาชนิดเดียวกันขึ้น หากเกิดในจังหวัดสมุทรปราการ จะมีท้องถิ่นมาจัดการปัญหาและตอบสนองได้รวดเร็วกว่าพื้นที่ของเขต กทม. เพราะมีกลไกเทอะทะและล้าหลัง

 

อย่างไรก็ตาม ใน กทม.ถือว่ามีข้าราชการน้ำดีจำนวนมาก ถ้าผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก.สามารถทำให้ระบบการบริหาร กทม.ไร้ซึ่งระบบเส้นสาย เพื่อให้ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งเปลี่ยนมาเป็นระบบที่เปิดให้คนดีมีความสามารถได้เติบโตอย่างมีเหตุผล ก็จะทำให้ข้าราชการที่อยู่ในระบบมีกำลังใจในการทำงานเพื่อคน กทม.มากขึ้น

 

ผมคิดว่า ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. มีวิสัยทัศน์และองค์ความรู้ ที่จะใช้จัดการปัญหาเมืองและแก้ปัญหา กทม.ให้ดีตามทันกันหมด แม้จะมีนโยบายที่โดดเด่นไม่เหมือนกันก็ตาม มีความรู้ไม่แพ้กันเพราะแต่ละกลุ่มมีผู้เชี่ยวชาญร่วมทำงานด้วยจำนวนมาก ดังนั้นคำถามจึงอยู่ที่ผู้ว่าฯกทม. แบบไหนต่างหากที่จะสามารถนำเอาความรู้และวิสัยทัศน์ที่มีอยู่มาทำให้เกิดขึ้นได้จริงๆ ยังเชื่อว่า ผู้ว่าฯกทม.ที่มีความมั่นคงชัดเจนและมีเจตจำนงที่แน่วแน่เท่านั้น จึงจะบริหาร กทม. โดยนำผลประโยชน์ของคน กทม.เป็นตัวตั้งได้ ผมเชื่อว่าคนนั้นคือ นายวิโรจน์ เพราะมีความเข้าใจหัวอกของคน กทม.ส่วนใหญ่เป็นอย่างดีและมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ ที่อยากเปลี่ยนการบริหาร กทม.ไม่ให้เป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป ถ้านายวิโรจน์ได้มีโอกาสได้รับความไว้วางใจจากคน กทม. กทม.จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะจะเกิดมาตรฐานการทำงานแบบใหม่ที่โปร่งใสตรวจสอบได้ และทุกการตัดสินใจยืนอยู่บนผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

 

งบประมาณของ กทม.จะถูกแบ่ง 5% เพื่อนำไปให้คน กทม.ออกแบบเอง โดยนำไปให้ชุมชนและเขต ว่าจะใช้งบไปกับเรื่องใดบ้าง งานบริการขั้นพื้นฐานของ กทม.ที่นับวันจะด้อยกว่าหน่วยงานท้องถิ่นของต่างจังหวัด จะต้องถูกฟื้นฟู ทั้งสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เช่น สาธารณสุข การศึกษา และวัคซีนโควิด-19 ฟรี สำหรับผู้สูงอายุเพื่อลดอัตราอาการป่วยรุนแรงจะต้องนำกลับมาใหม่ อีก 1 เดือนหลังจากนี้ คน กทม.จะมีข้อมูลเพื่อใช้ตัดสินใจว่าใครเป็นผู้ว่าฯกทม.ที่ดีที่สุดในสถานการณ์แบบนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง