รีเซต

นักลงทุนไทย-ต่างชาติ แห่ร่วมงานมหกรรมสตาร์ตอัพบีซีจี

นักลงทุนไทย-ต่างชาติ แห่ร่วมงานมหกรรมสตาร์ตอัพบีซีจี
มติชน
26 มีนาคม 2565 ( 00:20 )
54

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานมหกรรม “BCG Startup Investment Day” ณ ศูนย์ C asean จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พร้อมพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชนร่วม 20 หน่วยงาน ว่า ประเทศไทยต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาช่วยยกระดับประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งเป็นทุนเดิม ไม่ว่าจะเป็นเกษตร อาหาร การแพทย์และสุขภาพ การท่องเที่ยวและยานยนต์ ควบคู่กับการสร้างอุตสาหกรรม S-Curve ใหม่อย่างรถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยา ดิจิทัล โดยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนในประเทศไทย ตลอดจนการเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาดของภูมิภาค เพื่อพลิกโฉมไทยสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูง

รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้คิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับศักยภาพของธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และ Startup ไปจนถึงการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ผ่านบุคลากรที่มีศักยภาพ และการสร้างบุคลากรคนรุ่นใหม่ให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กล่าวว่า การจัดงานมหกรรม “BCG Startup Investment Day” ในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยมีกลุ่มสตาร์ตอัพ รวมถึงนักลงทุนไทยและต่างประเทศ เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน ผ่านทั้งช่องทางออนไลน์ และออนไซต์ โดยนักลงทุนที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ ให้ความสนใจสตาร์ตอัพไทยทั้ง 24 ราย ที่เข้าร่วมในกิจกรรม BCG Startup Pitching และคาดว่าจะเกิดความร่วมมือกันในลำดับต่อไป

บีโอไอพร้อมให้การส่งเสริมสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะในกลุ่ม BCG ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอให้การส่งเสริมเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วงต่อไป ผ่านมาตรการต่าง ๆ ภายใต้ พ.ร.บ. นี้ บีโอไอรับผิดชอบอยู่ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน และ พ.ร.บ. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 โดยตั้งเป้าหมายจะใช้เงินกองทุนเพิ่มขีดฯ สนับสนุนสตาร์ทอัพ จำนวน 30 ราย ในปี 2565

สำหรับหลักเกณฑ์การให้เงินสนับสนุนสตาร์ทอัพของบีโอไอ มีดังนี้ (1) ต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นมาไม่เกิน 5 ปี (2) ดำเนินกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำหนด (3) ต้องได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากหน่วยงานอื่นมาแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และ (4) ต้องเสนอแผนงาน โดยเฉพาะด้านบุคลากร ซึ่งบีโอไอจะสนับสนุนเงินเป็นค่าจ้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีและการบริหาร ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 50

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA ได้ตั้งเป้าให้เกิด Deep Tech Startup ขึ้นภายในประเทศไทย 100 ราย ภายในปี 2566 โดยในกลุ่ม BCG จะเน้นผลักดัน 3 ด้าน ได้แก่ เกษตร (Agtech) อาหาร (Foodtech) และ การแพทย์ (Medtech) เนื่องจากเป็นสาขาที่ประเทศไทยมีความโดดเด่น สามารถดึงดูดการลงทุนทางนวัตกรรมในระดับนานาชาติเป็นอย่างดี ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจและเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และมีคาดการณ์ว่าสาขาเศรษฐกิจนี้จะสามารถเพิ่มมูลค่าได้ถึง 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของ GDP ในอีก 5 ปีข้างหน้า