รีเซต

เปิดข้อมูลโอมิครอน-เดลต้า ติดเชื้อเท่ากัน แต่ตายต่างกัน 10 เท่า

เปิดข้อมูลโอมิครอน-เดลต้า ติดเชื้อเท่ากัน แต่ตายต่างกัน 10 เท่า
มติชน
24 กุมภาพันธ์ 2565 ( 16:27 )
67
เปิดข้อมูลโอมิครอน-เดลต้า ติดเชื้อเท่ากัน แต่ตายต่างกัน 10 เท่า

ข่าววันนี้ 24 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลกติดเชื้อสะสมแล้วกว่า 430 ล้านราย วันนี้รายใหม่ 1.8 ล้านราย เสียชีวิตสะสมเกือบ 6 ล้านคน ซึ่งสัปดาห์เดียวมีผู้ติดเชื้อไปแล้ว 11 ล้านราย เสียชีวิตกว่า 6.4 หมื่นคน อย่างไรก็ตาม เกือบทั่วโลกติดสายพันธุ์โอมิครอน จึงทำให้การติดเชื้อแพร่เชื้อรวดเร็ว แต่ผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยหนักไม่มากเท่าเดลต้า ซึ่งปัจจัยหนึ่งมาจากการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น และมาตรการการป้องกันโรคของแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน ซึ่งจากนี้ต้องติดตามอาการผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตเป็นสำคัญ

 

 

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สำหรับการเสียชีวิตของไทยและต่างประเทศแตกต่างกันอย่างไรนั้น เปรียบเทียบประเทศที่มีประชากรใกล้เคียงไทย โดยเปรียบเทียบอัตราป่วยและเสียชีวิตต่อประชากรล้านคน ข้อมูลสะสมตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงตอนนี้ อย่างของไทยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยมีตัวเลขเสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 324 คนต่อล้านคน ขณะที่ เวียดนามเสียชีวิตสะสมที่ 402 คนต่อล้านคน มาเลเซีย 981 คนต่อล้านคน เยอรมนี 1,453 คนต่อล้านคน แอฟริกาใต้ 1,633 คนต่อล้านคน เป็นต้น หากเทียบสัดส่วนนี้ ถือว่ามาตรการป้องกันโรค มาตรการการฉีดวัคซีน การป้องกันตัวเองของทุกคน การรักษาพยาบาลก็มีส่วนช่วยให้อัตราการเสียชีวิตของไทยน้อยกว่าหลายประเทศ

 

“ขณะนี้จะเห็นช่วงขาขึ้นของโอมิครอนในไทยและรอบๆบ้านเรา ขณะนี้กลยุทธ์ที่จะมาดูสถานการณ์ร่วมกันจะเน้นหนักไปที่ผู้ป่วยอาการหนัก และเสียชีวิต โดยผู้ป่วยอาการหนักจะมีตั้งแต่ปอดอักเสบ และใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่จะช่วยติดตามสถานการณ์ระยะต่อไปนี้ให้มากขึ้น เนื่องจากเราฉีดวัคซีนไปมากกว่า 130 ล้านโดสแล้ว โดยหลักการการป้องกันการป่วยหนักจะสามารถทำได้ ส่วนการติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งหลายประเทศก็พบ ก็ต้องมาดูว่าตัวโอมิครอนมีการแพร่เชื้อเร็วอยู่แล้ว แต่อาการไม่มาก จนกระทั่งอาจไปเจอกลุ่มเสี่ยง มีโรคร่วมก็อาจทำให้อาการรุนแรง และเสียชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจจะเป็นประเด็นสำคัญหลังจากนี้ไป” นพ.จักรรัฐ กล่าว

 

นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า วันนี้ไทยมีรายงานผู้ป่วยปอดอักเสบอยู่ที่ 905 ราย เมื่อ 14 วันที่ผ่านมา อยู่ที่ 569 ราย ซึ่ง 2 สัปดาห์เพิ่มขึ้น 2 เท่า ใส่ท่อช่วยหายใจก็เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า ดังนั้น 14 วันที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยปอดอักเสบ และใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จนกระทั่งไปเจอกลุ่มเสี่ยง ติดเชื้อมีอาการหนักได้ ส่วนการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 เท่าสอดคล้องกับปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ส่วนผู้ป่วยอาการหนักนั้นมีเปอร์เซ็นต์ไม่มาก ประมาณร้อยละ 10-20 สำหรับคนอาการน้อยหรือไม่มีอาการแต่เข้ามาอยู่ใน รพ.นั้นมีถึง ร้อยละ 55.7 หากกลุ่มนี้สามารถทำ HI ได้ก็ดีมาก ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับอัตราการเสียชีวิตในยอดการติดเชื้อรายใหม่ใกล้เคียงกัน จากเชื้อเดลต้า 1,800 ราย ส่วนโอมิครอน 188 ราย ห่างกัน 10 เท่า แต่ทั้งนี้ หากเราปล่อยให้จำนวนผู้ติดเชื้อสูงกว่านี้อย่างรวดเร็วถึง 10 เท่า ก็เสี่ยงที่จะมีคนป่วยหนักและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 5-10 เท่าเช่นกัน จึงต้องคงมาตรการเข้มไว้

 

“สำหรับการคาดการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อต้องเท่าไร อย่างไร การคาดประมาณการณ์นั้นยาก เพราะเรามีคนติดเชื้อไม่มีอาการจำนวนมากในชุมชน ทั้งที่ตรวจหรือไม่ตรวจ ATK เพราะมีการผ่อนคลายสถานการณ์มากขึ้น ทำให้มีการแพร่ระบาดคลัสเตอร์ ดังนั้น เพื่อไม่ให้สถานการณ์รุนแรง รวดเร็วเกินไป ในช่วงนี้จึงต้องคงระดับการเตือนภัยโควิดไว้ที่ระดับ 4 เอาไว้ทั้งประเทศ โดยย้ำว่า ขอให้งดไปสถานที่เสี่ยง ที่แออัด งดการเดินทางในระบบขนส่งที่มีความแออัด เป็นต้น” นพ.จักรรัฐ กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการประเมินสถานการณ์ว่าต้องวิตกหรือต้องเตือนภัยโควิด-19 สูงขึ้นอีกพิจารณาจากอะไร นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า หลังจากนี้ต้องโฟกัสผู้ป่วยปอดอักเสบหรือกลุ่มอาการหนักนอน รพ.เป็นหลัก เพราะการดูจำนวนผู้ติดเชื้ออาจไม่ได้ทั้งหมด เนื่องจากตอนนี้มีไม่แสดงอาการจำนวนมาก และเราไม่ทราบว่าผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ ไม่ทราบว่าติดเชื้อมาก่อนหรือเพิ่งติดเชื้อ จึงบอกสถานการณ์จากจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ได้ ต้องพิจารณาจากผู้ป่วยอาการหนักที่อยู่ รพ. อย่างปอดอักเสบตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 900 ราย ซึ่งตอนระบาดหนักมีอยู่ราว 5.6 พันราย ขณะนั้นเตียงรองรับ 3-4 พันเตียง แต่ตอนนี้ไม่ถึง ซึ่งเราก็ต้องติดตามต่อไปทุก 14 วัน เพื่อประเมินสถานการณ์ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง