ระบบบำบัดน้ำเสียโรงพยาบาล แบบติดกับที่ (Onsite treatment) คืออะไรระบบบำบัดน้ำเสีย คือ หน่วยๆ หนึ่งที่ทำหน้าที่บำบัดน้ำเสียให้มีคุณภาพดีขึ้น น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้ว เรียกว่า น้ำทิ้ง โดยน้ำทิ้งคือน้ำที่มีคุณภาพดีพอและเหมาะสมสำหรับปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ ในประเทศไทยการบำบัดน้ำเสียสามารถพบเห็นได้ตั้งแต่โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม อาคารสำนักงานต่างๆ ไปจนถึงโรงพยาบาล ซึ่งการออกแบบหน่วยบำบัดน้ำเสียในแต่ละสถานที่มีความจำเพาะเจาะจงเพราะเกี่ยวข้องกับงบประมาณที่ใช้ พื้นที่ในการออกแบบระบบบำบัดน้ำเสีย ปริมาณน้ำเสียที่ต้องบำบัดและอื่นๆ อีกหลายประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาในการออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียค่ะโรงพยาบาลเป็นอีกสถานที่ๆ มีการเกิดขึ้นของน้ำเสียทุกวัน โดยคาดการณ์ปริมาณการเกิดของน้ำเสียโรงพยาบาลจะใช้จำนวนเตียงมาเป็นตัวเลขในการคำนวณ เช่น โรงพยาบาลขนาด 30 เตียง คาดการณ์ปริมาณการเกิดของน้ำเสียประมาณ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluters Pay Principle: PPP) ทำให้โรงพยาบาลมีความจำเป็นต้องทำการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเราจึงพบว่าโรงพยาบาลในประเทศไทยมีระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ระบบบำบัดน้ำเสียโรงพยาบาลมีหลายชนิด แต่ชนิดที่สามารถพบได้มากในโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก คือ ระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ คือ หน่วยบำบัดน้ำเสียที่ทำหน้าที่บำบัดน้ำเสียเฉพาะจุดให้มีคุณภาพดีขึ้น โดยหน่วยบำบัดเฉพาะจุดนี้ถูกก่อสร้างไว้จำนวนหลายจุดในพื้นที่ของโรงพยาบาลหนึ่งแห่ง เช่น หน่วยบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของตึกผู้ป่วยนอก หน่วยบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของตึกผู้ป่วยใน หน่วยบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของตึกทันตกรรม เป็นต้น โดยมีระบบรวบรวมน้ำเสียแบบแยกทำหน้าที่รวบรวมน้ำเสียที่เกิดขึ้นภายในอาคารต่างๆ ของโรงพยาบาลเข้าสู่หน่วยบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ในจุดนั้นๆ ระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาล โดยส่วนใหญ่อาศัยหลักการย่อยสลายสารอินทรีย์แบบใช้อากาศเป็นหลัก เพื่อเปลี่ยนรูปของสารอินทรีย์ที่ปะปนมากับน้ำเสียโดยการทำงานของจุลินทรีย์แบบใช้อากาศ จุดสังเกต คือ ทุกๆ ระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่จะมีเครื่องเติมอากาศ (Aerator) ติดตั้งไว้ในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ของระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่นั้นๆ และเครื่องเติมอากาศเฉพาะที่นี้จะถูกเชื่อมต่อเข้ากับตู้ควบคุมการทำงานด้วยระบบไฟฟ้า และตั้งเวลาให้เครื่องเติมอากาศทำงานเป็นรอบด้วยอุปกรณ์ตั้งเวลา (Timer) โดยระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลมีรูปแบบการบำบัดน้ำเสีย ที่เรียกว่า การเลี้ยงตะกอน (Activated sludge; AS)การรู้ว่าระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลทำงานยังไง มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการทำงานของผู้ที่ดูแลและควบคุมระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลค่ะ เพราะจากที่ผู้เขียนมีประสบการณ์มานั้น พบว่า ผู้ดูแลระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลรู้ว่ามีระบบบำบัดน้ำเสีย แต่ไม่เข้าใจกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาล จากสถานการณ์นี้เพียงสถานการณ์เดียวทำให้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลโดยส่วนใหญ่ทำงานด้อยประสิทธิภาพลงจนทำให้คุณภาพน้ำทิ้งของโรงพยาบาลไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ดังนั้นความรู้ความเข้าใจเป็นกุญแจสำคัญต่อการควบคุมดูแลระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลค่ะ การควบคุมและดูแลระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียชนิดไหนที่ไม่ต้องดูแลหรือควบคุมค่ะ แล้วก็ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลที่ไหนด้วยที่ยืนมองดูเฉยๆ แล้วเดี๋ยวระบบก็จะทำงานได้ตามปกติของมันเอง เพราะระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลอาศัยการทำงานของจุลินทรีย์ ดังนั้นการที่ระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงต้องมีการลงมือทำบางสิ่งบางอย่าง ดังนี้ค่ะ1. ตรวจวัดค่าออกซิเจนละลายน้ำ (Dissolved Oxygen; DO) สามารถตรวจสอบได้ทั้งจากการใช้ชุดทดสอบหาดีโอในภาคสนามและดีโอมิเตอร์ (DO meter) ก็ได้ โดยจะต้องควบคุมให้มีค่าดีโอมากกว่า 2 มิลลิกรัมต่อลิตร (mg/L) ทำการตรวจโดยเก็บตัวอย่างในส่วนของการเติมอากาศมาวัดค่ะ เพราะจุลินทรีย์ในระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลต้องการอากาศ ถ้าควบคุมให้ในหน่วยเติมอากาศมีอากาศที่เพียงพอระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลก็สามารถทำงานได้ตามปกติ ในบางครั้งผู้ดูแลจะพบว่าเติมอากาศไปแล้วแต่ก็ยังพบว่า ค่าดีโอต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าเครื่องเติมอากาศด้อยประสิทธิภาพในการให้อากาศลงและหรือของเสียในน้ำเสียมีปริมาณความเข้มข้นมากกว่าความสามารถของระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาล ส่วนการเติมอากาศเพื่อทำให้ในหน่วยเติมอากาศมีค่าดีโอสูงเกินความจำเป็นจะทำให้โรงพยาบาลมีภาระเรื่องค่าไฟฟ้า 2. ต้องตรวจสอบค่าความเป็นกรดและด่าง (pH) สมัยนี้เครื่องวัดค่าพีเอชสามารถหาซื้อได้ง่ายและมีราคาถูกมากแล้วค่ะ ผู้แลระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลไม่ควรเพิกเฉยที่จะตรวจสอบค่าพีเอช เพราะเป็นค่าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงานของจุลินทรีย์ในระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาล อย่างที่ได้เกริ่นมาก่อนหน้านี้ค่ะว่า ระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาล เป็นระบบเลี้ยงตะกอน ตะกอนที่ว่านี้คือตะกอนของแบคทีเรีย ค่าพีเอชที่ใกล้เคียงกับ 7 ช่วยส่งเสริมให้แบคทีเรียยังมีชีวิตอยู่ได้จากนั้นจึงจะสามารถบำบัดน้ำเสียในระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลได้3. ต้องตรวจสอบปริมาณตะกอนแบคทีเรียในระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลค่ะ เวลาที่เราพูดคำว่า ตะกอน คำนี้หมายถึงสิ่งที่มีน้ำหนักและสามารถตกตะกอนนอนก้อนได้ด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก ตะกอนแบคทีเรีย คือ ตะกอนของกลุ่มแบคทีเรียที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและสามารถตกตะกอนได้ จากที่เรารู้ๆ กันมาว่า แบคทีเรียเพียงหนึ่งเซลล์นั้นเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่จะมองเห็นได้ก็ต่อเมื่อนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ค่ะ ในระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลสามารถมีตะกอนแบคทีเรียเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะแตกต่างจากแบคทีเรียในสถานการณ์อื่นที่เราเคยรู้ๆ มา ตะกอนแบคทีเรียในระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลสามารถตรวจสอบได้ด้วยกรวยก้นแหลม เรียกว่า กรวยอิมฮอฟฟ์ (Imhoff cone) ที่มีขนาดความจุ 1,000 มิลลิลิตร (mL) ปริมาณของตะกอนแบคทีเรียที่ต้องวัดได้จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับปริมาณของเสียที่เข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาล จึงจะสามารถพูดได้ว่าระบบบำบัดน้ำเสียทำงานตามปกติ การที่ระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลไม่มีตะกอนแบคทีเรียแต่คุณภาพน้ำทิ้งผ่านเกณฑ์ แล้วทำไมโรงพยาบาลจึงไม่ผ่านการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม หลักๆ เป็นเพราะตะกอนแบคทีเรียคือหลักฐานอย่างแรกที่ยืนยันว่าระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลทำงานได้ตามปกติค่ะ4. สูบตะกอนของเสียในส่วนของถังตกตะกอนในระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาล ตะกอนในส่วนของถังตกตะกอนนี้จะเป็นตะกอนที่สะสมและส่วนหนึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถย่อยสลายได้อีกแล้ว เช่น กรวด หิน ดิน ทราย ขยะที่ปะปนมากับน้ำเสีย เมื่อระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลทำงานไประยะหนึ่งตะกอนเหล่านี้จะค่อยๆ สะสมอยู่ นอกจากจะทำให้เสียพื้นที่ของหน่วยบำบัดแล้ว ในบางครั้งตะกอนเหล่านี้ยังส่งผลต่อการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาล ดังนั้นจึงควรมีแผนการบำรุงรักษาหน่วยนี้ด้วยการสูบตะกอนออกไปกำจัดเป็นระยะๆ เช่น สูบตะกอนทุกๆ 6 เดือนในทุกจุดของระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาล แนะนำว่าควรใช้บริการของรถสูบสิ่งปฏิกูลในพื้นที่ค่ะ5. ดูแลหน่วยฆ่าเชื้อโรคก่อนปล่อยน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อม ในทุกหน่วยของระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลจะพบว่ามีการเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำทิ้งก่อนเสมอ อาจเป็นจุดเดียวที่รวมกันหรือแยกเป็นจุดๆ ก็ได้ หน่วยเติมคลอรีนเป็นหน่วยสุดท้ายที่ต้องมีในระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาล เพราะอย่าลืมว่าน้ำเสียโรงพยาบาลนอกจากจะมีสารอินทรีย์ปะปนมากับน้ำเสียแล้ว น้ำเสียโรงพยาบาลคือน้ำเสียที่มีเชื้อโรคมากที่สุด ถ้าจะพูดว่าโรงพยาบาลคือที่ๆ สะอาดที่สุดก็คงจะไม่ผิดค่ะ แต่ในขณะเดียวกันในด้านสิ่งแวดล้อมในงานบำบัดน้ำเสียเราจะมองว่าโรงพยาบาลเป็นที่ๆ สกปรกที่สุดค่ะ ดังนั้นผู้ดูแลระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลจะต้องเตรียมคลอรีนให้พร้อมต่อการใช้งานเสมอ หากเป็นคลอรีนแบบผงต้องละลายเอาเฉพาะน้ำใสๆ มาใช้ในถังและหยดทำลายเชื้อโรคในน้ำทิ้งค่ะ และต้องกำจัดผงปูนคลอรีนให้เหมาะสม เนื่องจากคลอรีนในสิ่งแวดล้อมเป็นสารก่อมะเร็ง จึงไม่ควรเทผงปูนคลอรีนในสิ่งแวดล้อมแบบไม่จำกัดพื้นที่เด็ดขาด จากนั้นต้องทำการวัดคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำทิ้ง โดยจะต้องมีค่าเท่ากับ 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร 6. ตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งที่ออกจากระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาล ปกตินั้นน้ำทิ้งโรงพยาบาลมีเกณฑ์มาตรฐานเฉพาะที่ต้องตรวจสอบ ดังนั้นการตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งว่าผ่านเกณฑ์ไหมเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมคุณภาพน้ำทิ้งไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่ะ ควรเก็บตัวอย่างน้ำที่ผ่านการเติมคลอรีนแล้วเพราะหากเก็บตัวอย่างน้ำผิดจุดก็จะทำให้ได้ค่าที่ไม่เป็นความจริง และข้อมูลที่ผิดจะไม่สามารถนำมาประเมินการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการค่ะจากประสบการณ์ของผู้เขียนมองว่าระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลมีทั้งข้อดีและข้อเสียค่ะ สำหรับข้อดีที่ชัดเจนมากที่สุดคือหากระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลในจุดใดจุดหนึ่งด้อยประสิทธิภาพลงเพียงจุดเดียว สถานการณ์นี้จะไม่ส่งผลต่อระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลจุดอื่นเพราะไม่ได้เชื่อมต่อกัน แต่การดูแลระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลจำนวนมากทำให้มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น เพราะต้องตรวจสอบคุณภาพตัวอย่างน้ำหลายจุด ผู้ดูแลและควบคุมระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลต้องตรวจสอบประสิทธิภาพของหน่วยบำบัดหลายจุดจึงทำให้เสียเวลามากนี่คือข้อเสียค่ะ อีกทั้งระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะอยู่ใต้ดินทำให้การควบคุมดูแลต่างๆ ทำได้ค่อนข้างลำบาก จึงกลายเป็นจุดอ่อนของระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลที่จะล้มเหลวได้ง่ายโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ระบบมีความอ่อนไหวง่ายอย่างไรก็ตามในตอนหลังมาระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลหลายๆ แห่งได้ถูกดัดแปลงให้เป็นระบบอื่นแต่ยังใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลเป็นหน่วยบำบัดร่วมด้วย และโรงพยาบาลบางแห่งหากผู้ออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียมองว่าระยะทางในการวางท่อเพื่อรวบรวมระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลเข้าด้วยกันมีความยากลำบากหรือระดับความลาดเอียง (Slope) ส่งผลต่อการวางแนวท่อหรือระดับของระบบบำบัดน้ำเสียที่ถูกดัดแปลงใหม่ ก็มีความเป็นไปได้ว่าระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ของโรงพยาบาลเดิมนี้จะถูกยกเลิกการใช้งานหรือดัดแปลงเป็นหน่วยอื่นในส่วนประกอบของระบบบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาลค่ะเครดิตภาพประกอบบทความโดย: ผู้เขียนออกแบบภาพหน้าปกใน Canvaถ่ายภาพโดยผู้เขียนบทความอื่นที่น่าสนใจ❇️การย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียแบบใช้อากาศ คืออะไร ✅6 หลักการบำบัดน้ำเสียขุมชน น้ำเสียโรงพยาบาล มีอะไรบ้าง✳️ระบบรวบรวมน้ำเสียชุมชน สาเหตุที่ทำให้เกิดการอุดตันในท่อรวบรวมน้ำเสีย✨️7-11 Community ห้องลับเมาท์มอยของกินของใช้ในเซเว่น อะไรดีอะไรใหม่ ต้องรู้ ต้องคุย ต้องแชร์