รัฐบาลตั้งเป้าพัฒนาสวัสดิการรักษาพยาบาลทั้ง 4 ระบบของไทยใกล้เคียงกับประเทศชั้นนำ

รัฐบาลตั้งเป้าพัฒนาสวัสดิการรักษาพยาบาลทั้ง 4 ระบบของไทยใกล้เคียงกับประเทศชั้นนำ ขณะที่ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงกว่า 3.6 แสนล้าน สูงขึ้นต่อเนื่องราว 11% คิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อหัวประมาณ 5 พันบาท จากผู้ใช้สิทธิรวม 65 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายจากข้าราชการและครอบครัวสูงสุด
#ทันหุ้น นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)เปิดเผยว่า คณะกรรมการระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานได้ประชุมวันนี้(12มี.ค.)และตั้งเป้าหมายให้ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของไทยทั้ง 4 ระบบ ใกล้เคียงกับประเทศชั้นนำ ที่ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ดี
เขากล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการชุดดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีและว่า วัตถุประสงค์ของคณะกรรมการชุดนี้ คือ จะดูระบบสุขภาพของประเทศไทย และค่าใช้จ่ายต่างๆ มีเป้าหมายเทียบเคียงในระดับสากล และดูว่า ขณะนี้เราอยู่จุดไหน และสามารถพัฒนามาตรฐานไปสู่ระดับสากลได้หรือไม่
ทั้งนี้ สถานะวันนี้ เรายังคงให้สิทธิอย่างเดิม แต่จะมีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานขึ้น อาจมีผลทำให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“เรามองไปถึงการเปรียบเทียบกับประเทศชั้นนำที่มีระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ดี แต่การจะไปตรงนั้นไม่จำเป็นต้องทำแบบเขาหรือค่าใช้จ่ายเหมือนเขา แต่เราจะทำอย่างไรให้ดีเท่าเขา โดยใช้กลไกที่เรามีหลายระบบขับเคลื่อนไป” นพ.จเด็จ กล่าว
ปัจจุบันระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศมีสี่ระบบใหญ่ คือ ระบบรักษาพยาบาลของกองทุนประกันสังคม, ระบบรักษาพยาบาลของ สปสช. หรือบัตรทอง 30 บาท ,ระบบสวัสดิการของข้าราชการและระบบรักษาพยาบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งรวมคนที่อยู่ในทั้งสี่ระบบ ราว 64 -65 ล้านคน โดยแต่ละระบบมีค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยต่อหัวไม่เท่ากัน โดย ประกันสังคมอยู่ที่ 4,900บาท/หัว,สปสช.อยู่ที่ 3,800บาท/หัว , ระบบรักษาพยาบาลของข้าราชการ 18,000 บาท/หัว และขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ที่ 12,000 บาท/หัว
สำหรับงบประมาณของ 4 ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศในปี 2567 อยู่ที่ 3.6 แสนล้านบาทคิดเป็นประมาณ 12-13% ของงบประมาณของรัฐบาล โดยมีอัตราการเติบฌโตของค่าใช้จ่ายอยู่ที่เฉลี่ยปีละ 11 %
“อัตราการเติบโตของค่าใช้จ่ายสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศที่เติบโตในระดับ 11 % สูงกว่าจีดีพีของประเทศที่อยู่ที่ 2 -2.2.5% ต่อปี ซึ่งถ้าการเติบโตของค่าใช้จ่ายยาสูงขนาดนี้ แต่จีดีพีเราโตต่ำขนาดนี้ เราจะทำอย่างไร ถ้าเราไม่สามารถเพิ่มจีดีพีของประเทศ ซึ่งถ้าอยู่ในภาพนี้ตลอดไป อาจจะต้องมาพิจารณาว่าจะไหวไหม” นพ.จเด็จ กล่าว
เขากล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ กำหนดกรอบในการทำงานใน 8 ด้าน แต่มีด้านที่เป็น Priority 2 ด้านคือเรื่องงบประมาณรายจ่ายในภาพรวมของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล และเรื่องค่าใช้จ่ายในการซื้อยาในแต่ละปี
ทั้งนี้ ในแต่ละปีไทยมีการนำเข้ายาเพื่อมาใช้ในระบบรักษาพยาบาลทั้งสี่ระบบ สูงถึงปีละ 2 แสนล้านบาทซึ่งอาจจำเป็นต้องหารือร่วมกันว่า การซื้อยาอาจซื้อยาที่เป็นชื่อสามัญ แทนชื่อทางการค้า ซึ่งจะได้ยาที่มีราคาถูกกว่า ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายยาราว 2 แสนล้านบาทดังกล่าว ครึ่งหนึ่งเป็นยาที่เป็นชื่อทางการค้า นอกจากนี้จะต้องมีการหารือกันถึงเรื่องการลงทุนผลิตยาเองในประเทศ รวมถึงกลไกในการซื้อร่วมกันระหว่างสี่ระบบเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในด้านราคา
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ ยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องการรวมระบบรักษาพยาบาลทั้งสี่ระบบเข้าด้วยกัน แต่จะพิจารณาว่าจะพัฒนาแต่ละระบบให้ดีขึ้นอย่างไร
ทั้งนี้ผลการหารือ จะต้องมีการเสนอให้ นายกรัฐมนตรี และครม.พิจารณาด้วย โดยคณะกรรมการจะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาสองชุด ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านวิชาการ และคณะอนุกรรมการด้านการขับเคลื่อน
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
