ในสถานการณ์ Covid-19 ที่กำลังแพร่ระบาดทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อทุกสาขาอาชีพ ทุกหน่วยงาน มากน้อยต่างกันไป ตามแต่หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ พ่อค้าแม่ค้าไม่สามารถขายของได้ ทั้งที่เกิดจากความกลัวโรคระบาด Covid-19 ปัญหาเศรษฐกิจ ประชาชนตกงาน จนทำให้กำลังซื้อสินค้าลดลง รวมไปทั้งการสั่งปิดสถานประกอบการ ห้างร้านต่าง ๆ จนส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทุกสาขาอาชีพตามที่ได้กล่าวถึง รวมไปถึง อาชีพครู ที่หากมองเผิน ๆ ก็ดูเหมือนไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากมาย โดยเฉพาะคนที่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการแล้ว ยิ่งแทบไม่มีผลกระทบต่อเงินเดือนของครูเลยด้วยซ้ำไป แต่ผลกระทบจากเหตุการณ์โรคระบาด Covid-19 ทั้ง 2 ระลอก ที่มีต่อครู คือ การปรับตัวด้านการสอนนั่นเอง เริ่มจากเมื่อมกราคม 2563 ที่มีการพบผู้ป่วยรายแรกในประเทศไทย ที่ตรวจพบเชื้อ Covid-19 โดยเป็นรายแรกที่อยู่นอกประเทศจีน และยังพบผู้ติดเชื้อมาอีกประปราย และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงเวลานั้น ในสถานศึกษาจึงได้รับคำสั่งให้ปิดสถานศึกษา เนื่องจากกลัวจะเกิดการระบาดในกลุ่มนักเรียน จนทำให้ต้องจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ และการระบาดในรอบปี 2564 ก็เช่นเดียวกัน และการเรียนออนไลน์ มันก็ไม่ได้ง่ายเลย สำหรับบริบทของคนไทย และทำให้การเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ เกิดปัญหาและความยากลำบากทั้งต่อครูและนักเรียนอย่างมากมาย ปัญหาของการสอนออนไลน์อย่างแรก คือ ความขาดแคลนอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียน ซึ่งต้องยอมรับว่า นี่คือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์เป็นอย่างมาก และควรได้รับการแก้ไขอย่างที่สุด บางครอบครัวที่แค่หาเช้ากินค่ำในสถานการณ์ปกติยังยากลำบากแล้ว มิหนำซ้ำยังมาเจอสถานการณ์โรคระบาด Covid-19 เข้าไปอีก คงไม่ต้องพูดถึงอุปกรณ์หรือเทคโนโลยี ที่จะช่วยให้เขาเข้าสู่ระบบการเรียนออนไลน์หรอก ลำพังแค่เลี้ยงชีพ ก็แทบจะไม่ไหวแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่ผู้เขียนกำลังจะกล่าวถึงนี้ คือ ปัญหาครูที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ และยังไม่สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหตุที่ต้องพูดถึงปัญหานี้ เนื่องจาก ผู้เขียนเองเป็นครู และอยากสะท้อนปัญหาที่ ทั้งพบเจอด้วยตนเอง และได้รับฟังจากเพื่อนร่วมสายอาชีพ ก่อนอื่นขอแยกครูออกเป็น 3 ระดับ ระดับที่ 1 คือ ครูยุคเก่า ที่สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เพียงเล็กน้อย เช่น ส่งข้อความทาง line ได้ โพสต์รูปทางเฟสได้ แต่ยังไม่สามารถใช้งานในฟังก์ชันที่ซับซ้อนกว่านี้ได้ ระดับที่ 2 คือ ครูยุคกลาง ที่สามารถใช้งานอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่ซับซ้อนขึ้นมาได้ แต่ยังไม่ถนัด แต่พร้อมเปิดใจเรียนรู้ และทำตาม ระดับที่ 3 คือ ครูยุคใหม่ ที่เป็นผู้นำเทคโนโลยี สามารถใช้งานที่ซับซ้อนและหลากหลายวิธีการมากที่สุด พร้อมใช้งานเสมอ เหตุที่ต้องแบ่ง เนื่องจากอยากอธิบายให้เห็นถึงปัญหาของครูแต่ละยุคให้ชัดเจน เริ่มจาก ครูยุคเก่า ที่ส่วนใหญ่ก็อายุมากแล้ว ในการทำงานไม่ได้มีการใช้เทคโนโลยีมากนัก สอนโดยใช้หนังสือเรียน ใบงาน และกระดาน เป็นหลัก จึงถือเป็นกลุ่มที่ยากที่สุด เมื่อต้องปรับตัวในการสอนออนไลน์ แต่จากเพื่อนร่วมสายอาชีพในที่ทำงานของผู้เขียนเอง ร้อยละ 90 ของครูยุคนี้ มีความมุ่งมั่น ตั้งใจต่อการเรียนรู้มาก แต่อาจต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และฝึกฝนมากเช่นกัน ลำดับต่อมาเป็นครูยุคกลาง ที่หากต้องสอนออนไลน์ ก็สามารถทำได้ แต่อาจไม่มีสื่อการเรียนรู้หรือเทคโนโลยี ที่นักเรียนต้องร้อง Wow ! และผู้เขียน ก็คงจัดตัวเองไว้ในกลุ่มนี้เช่นกัน และเช่นเดิมคือ หากมีเวลาได้เรียนรู้เพิ่มเติม ครูกลุ่มนี้ก็สามารถจัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน และสุดท้าย คือ ครูยุคใหม่ ที่เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยี มีการเรียนรู้ที่รวดเร็ว และพร้อมใช้งานเทคโนโลยีทุกเมื่อ สามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ได้เป็นอย่างดี มีลูกเล่นหลากหลาย เข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้เรียนมากที่สุด เพราะช่วงวัยใกล้เคียงนักเรียนมากที่สุด และความยากของการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์โรคระบาด Covid-19 อีกข้อที่อยากให้ทุกท่านเข้าใจ คือ การลดภาระงานที่แท้จริง ควรเกิดขึ้นได้แล้วในตอนนี้ ครูควรลดภาระงานให้นักเรียน ผู้บริหารควรลดภาระงานให้ครู และเบื้องบนเองก็เช่นกัน ไว้ใจและปล่อยให้ครูได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเพื่อให้สามารถจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจแก่นักเรียน ปล่อยให้นักเรียนได้มีเวลาช่วยเหลือภาระที่บ้าน และมีเวลาผ่อนคลายของเขาบ้าง คงเป็นเรื่องที่ดี ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความเครียดเช่นนี้ เครดิตภาพ ภาพที่ 1 : TheUjalala / pixabay ภาพที่ 2 mramirferdi / pixabay ภาพที่ 3 sasint / pixabay ภาพที่ 4 sasint / pixabay ภาพที่ 5 sasint / pixabay ภาพที่ 6 kreatikar / pixabay ภาพที่ 7 Tumisu / pixabay ภาพที่ 8 kreatikar / pixabay เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !