อินเดีย : ทำไมคนหนุ่มสาวยังสนับสนุนนายกฯ โมดี แม้อัตราว่างงานในประเทศสูงสุดในรอบ 45 ปี
อินเดีย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรอายุน้อยมากที่สุดในโลก โดยมีคนยุคสหัสวรรษ หรือคนที่เกิดระหว่างปี 1981-1996 กว่า 400 ล้านคน วิวาน มาร์วาฮา นักเขียน ได้สำรวจว่า เยาวชนอินเดียต้องการอะไรจากนักการเมืองของพวกเขา
ในเดือน เม.ย. และ พ.ค. 2019 ขณะที่ผมค้นคว้าหนังสือเกี่ยวกับความปรารถนาด้านเศรษฐกิจ, มุมมองทางสังคม, และทัศนคติทางการเมืองของคนอินเดียยุคสหัสวรรษ ผมได้ไปพักตามเมืองเล็ก ๆ ทางตอนเหนือและตอนใต้ของอินเดีย พูดคุยกับชาวอินเดียรุ่นใหม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังเกิดขึ้น
จัตุรัสกลางเมืองทุกแห่ง ผมได้พบกับคนหนุ่มสาวจำนวนมาก ทุกคนดูเหมือนว่า ว่างงานและไม่ได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันของอินเดีย กำลังเผชิญปัญหา ประเทศกำลังเผชิญกับอัตราการว่างงานสูงสุดในรอบ 45 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่มากกว่าคนกลุ่มอื่น คนรุ่นใหม่ของอินเดียถือเป็น กำลังแรงงานของหนึ่งประเทศ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
เศรษฐกิจอินเดียอ่อนแอและซบเซาทุกแห่งที่ผมไป คนยุคสหัสวรรษหรือมิลเลนเนียลหลายคนที่ผมได้สัมภาษณ์ รวมถึงคนที่อายุ 30 ต้น ๆ ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ พึ่งพาครอบครัวสำหรับค่าใช้จ่ายพื้นฐานในชีวิตประจำวัน
คนส่วนใหญ่ที่เลือกนายโมดีและพรรคภราติยะ ชนะตะ (Bharatiya Janata Party--BJP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของเขาในปี 2014 เพราะคล้อยตามกับคำสัญญาว่า จะมีการพัฒนาขนานใหญ่ และการจ้างงานใหม่หลายร้อยล้านคนสำหรับคนรุ่นใหม่ของอินเดียที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น
แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างมองผิดพลาด เมื่อนายโมดีและพรรคบีเจพีชนะเลือกตั้งได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง โดยได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ที่มากกว่าในปี 2014 เสียอีก และข้อมูลหลังการเลือกตั้งยืนยันว่า คนอายุ 18-35 ปี ราว 40 % เลือกพรรคบีเจพี
ในหลายประเทศ เรื่องนี้อาจจะดูไม่สมเหตุสมผลนัก ทำไมผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งรุ่นใหม่ไม่มีความก้าวหน้า ไม่เห็นว่าความไว้วางใจของพวกเขาถูกทำลาย และไม่เห็นว่า รัฐบาลนี้ทำให้ประเทศล้าหลังไปนานหลายปี แต่พวกเขากลับเลือกนายกรัฐมนตรีคนเดิมกลับมาดำรงตำแหน่ง
คำตอบต่อคำถามนี้ยังเป็นการท้าทายต่อความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อการเลือกตั้งอินเดียด้วย เพราะอินเดียมีประวัติอันยาวนานในการไม่เลือกนักการเมืองที่อยู่ในตำแหน่งให้กลับมารับตำแหน่งต่อ
แต่การที่คนยุคสหัสวรรษมีความสำคัญ การเมืองอินเดียได้ผ่านการปรับเปลี่ยนพื้นฐานใหม่ ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนที่เป็นคนรุ่นใหม่ต้องการผู้นำที่พูดและมีท่าทางเหมือนกับพวกเขา
เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ที่อินเดียถูกปกครองโดยนักวิชาการที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตกและพูดภาษาอังกฤษ ซึ่งแทบไม่มีส่วนร่วมกับประชากรกลุ่มใหญ่ในประเทศที่พูดภาษาท้องถิ่น
แม้ว่าสมาชิกรัฐสภาทั้งจากส่วนกลางและระดับรัฐมาจากกลุ่มคนรากหญ้า แต่คนที่มีอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมในรัฐบาลอินเดียไม่ได้มาจากคนกลุ่มนี้
ชาวอินเดียรุ่นใหม่ที่มีความทะเยอทะยานในปัจจุบันกำลังมองหาบุคคลที่เป็นแบบอย่างที่พวกเขาเชื่อว่า จะปกป้องพวกเขาได้ และคนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็ชื่นชอบนักการเมืองที่มีเรื่องราวและประสบการณ์เหมือนกับพวกเขา โดยเฉพาะภาษาเป็นประเด็นที่อ่อนไหว
ภาษาอังกฤษไม่ได้ใช้เฉพาะในหมู่คนอินเดียชนชั้นนำและคนอินเดียชนชั้นกลางที่ต้องการจะยกระดับฐานะทางสังคม
แต่การเลือกตั้งปี 2019 ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งเลือกนักการเมืองที่พูดภาษาฮินดี ขณะที่ฝ่ายค้านรัฐสภาอินเดีย ซึ่งนำโดยคนจากตระกูลเนห์รู-คานธี ที่พูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก เกือบเอาตัวไม่รอดในรัฐต่าง ๆ ที่มีคนส่วนใหญ่พูดภาษาฮินดี
จากการที่ผมพูดคุยกับชาวอินเดียยุคสหัสวรรษ พวกเขาพูดถึงการกล่าวสุนทรพจน์ของนายโมดีต่อผู้ฟังในนครนิวยอร์ก, กรุงลอนดอน และนครซิดนีย์ และความภาคภูมิใจของพวกเขา พวกเขามีความคิดที่ว่า "ถ้าเขาทำได้ เราก็ทำได้"
ในช่วงเศรษฐกิจที่ผันผวนและไม่มั่นคง คนอินเดียยุคมิลเลเนียลมองหาผู้นำที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงขึ้น และนายโมดีและนโยบายของพรรคเขาเข้าใจความต้องการนี้จนทำผลงานออกมาได้ดี
ไม่นานหลังจากเหตุระเบิดพุลวามาปี 2019 ในแคชเมียร์ และการโจมตีทางอากาศในเมืองบาลาคอตในปากีสถานในเวลาต่อมา ผู้นำบีเจพีทุกคนต่างพูดถึง "ยาม" ทางทวิตเตอร์ เป็นการส่งสัญญาณว่า พวกเขารับปากต่อชาวอินเดียว่าจะปกป้องพวกเขาจากศัตรูทุกคน ทั้งต่างชาติและในประเทศ
สำหรับคนจำนวนมากในอินเดียที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ทำให้พวกเขามั่นใจว่า BJP สนับสนุนพวกเขา รับปากพวกเขาในเรื่องผลประโยชน์ บริการสาธารณะ และโครงการสวัสดิการต่าง ๆ
ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่ก่อนจะประกาศวันเลือกตั้งไม่นาน ทางพรรคประกาศว่า จะเพิ่มโควต้าเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐและตำแหน่งงานของรัฐบาล 10% ให้กับกลุ่มชนชั้นวรรณะทั่วไปที่มีฐานะย่ำแย่เศรษฐกิจ ทำให้สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 60%
ขณะที่อินเดียไม่ได้สร้างงานให้แก่คนรุ่นใหม่มากพอ จึงจำเป็นต้องทำให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนมั่นใจว่า พวกเขาจะได้ทำงานในภาครัฐ ซึ่งเป็นการว่าจ้างตลอดชีวิต เป็นการปกป้องผู้ที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังนาน หลังจากที่เศรษฐกิจขยายตัวขึ้นแต่การจ้างงานกลับไม่เพิ่มขึ้นตามมานานหลายปี
ชาวอินเดียหลายร้อยล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนในช่วงหลายสิบปีหลังจากมีการปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1991 คนรุ่นต่อไปของอินเดีย หรือคนยุคมิลเลนเนียล ต้องการมากกว่าแค่การอยู่รอด พวกเขาต้องการออกไปสู่โลกกว้าง
แม้ว่ารัฐบาลของนายโมดีไม่ได้ทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น หรือทำตามสัญญาที่ให้ไว้ในด้านเศรษฐกิจได้ แต่นายโมดีพูดภาษาเดียวกับคนุร่นใหม่เหล่านี้ เสนอที่จะสร้างรถไฟหัวกระสุนให้กับพวกเขา, สร้างเมืองระดับโลก และประเทศที่จะเจิดจรัสบนเวทีโลก
ชุดที่นายโมดีสวมใส่เองก็แสดงออกถึงความทะเยอทะยาน เขาเลิกสวมเสื้อคลุมพื้นเมืองสีขาวที่กลายเป็นเครื่องแบบของนักการเมืองชาย แต่ได้หันมาใส่เสื้อผ้าที่มีสีสันและราคาแพง ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ทางสังคมของเขาเองเท่านั้น แต่เป็นของประเทศด้วย
ตรงข้ามกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ คนอินเดียรุ่นใหม่ยังคงสนับสนุนนายโมดีเพราะเขาคือภาพตัวแทนของประเทศในทางการเมืองและวัฒนธรรม
นักการเมืองระดับชาติคนใดที่หวังว่าจะต่อกรกับความนิยมอย่างสูงของนายโมดี จะต้องมาจากชนชั้นรากหญ้า และพูดภาษาเดียวกันกับประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลที่ไม่สามารถทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ได้
วิวาน มาร์วาฮา เป็นผู้เขียนเรื่องหนังสือเรื่อง "What Millennials Want" (อาจแปลเป็นไทยได้ว่า สิ่งที่คนยุคสหัสวรรษต้องการ)